เจาะตลาด CLMVT จุดกำเนิดแบรนด์อาเซียนผงาดโลก
Share:

Main Idea
- สถานการณ์ส่งออกไทยไปยัง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ยังมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง โดยในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.33 แสนล้านบาท
- กลุ่มสินค้าที่ต้องการใน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันและเชื้อเพลิง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งถือว่ายังมีมูลค่าการส่งออกและเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง
- CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ยังเป็นพื้นที่ดาวเด่นและน่าสนใจของนักลงทุนทั่วโลก ด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์และทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งปัจจัยในด้านคมนาคมขนส่ง แรงงาน และการปรับตัวของประชากรที่ก้าวไปสู่สังคมเมืองที่เอื้อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเภท

กลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ยังเป็นพื้นที่ดาวเด่นและน่าสนใจของนักลงทุนทั่วโลก ด้วยทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์และทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของภูมิภาค รวมทั้งปัจจัยในด้านคมนาคมขนส่ง แรงงาน และการปรับตัวของประชากรที่ก้าวไปสู่สังคมเมืองที่เอื้อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเภท นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ ภูมิภาคดังกล่าวยังจะกลายเป็นช่องทางการค้าที่มีความสำคัญ รวมทั้งเป็นภูมิภาคที่ประเทศมหาอำนาจจะเริ่มเข้ามาสร้างความสัมพันธ์และโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

วิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บอกว่า นี่เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยควรใช้ความได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางสร้างบทบาทต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในด้านการเงิน การเป็นแหล่งรวมเทคโนโลยี การกระจายสินค้า รวมทั้งการกำหนดนโยบาย มาตรการ และสิทธิประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2562 (มกราคม – มิถุนายน) การส่งออกของประเทศไทยไปยัง CLMVT ยังคงเติบโตใกล้เคียงกับปี 2560 และปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 4.33 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2561 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 4.36 แสนล้านบาท และปี 2560 มีมูลค่า 4.11 แสนล้านบาท โดยประเทศที่มูลค่าการส่งออกของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องได้แก่ เวียดนาม โดย 6 เดือนแรกของปี 2560 , 2561 และ 2562 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.8 , 1.85 และ 1.93 แสนล้านบาทตามลำดับ และกัมพูชา มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 8.6 หมื่นล้านบาท 1.07 แสนล้านบาท และ 1.09 แสนล้านบาทตามลำดับ
โดยกลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการใน กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันและเชื้อเพลิง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งถือว่ายังมีมูลค่าการส่งออกและเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง

วิทยากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตระหนักถึงความสำคัญในการผลักดันโอกาสทางการค้า เพื่อให้ไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกันมีบทบาทในเวทีการค้าโลก จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานด้านการค้าระหว่างประเทศ ภายใต้แนวคิด “Stronger Together” หรือเติบโตไปด้วยกัน เพื่อรับมือผลกระทบจากสงครามการค้าในรูปแบบต่างๆ ที่มีต่อ CLMVT และอาเซียนที่กำลังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง โดยแนวคิดนี้จะช่วยให้ไทยและประเทศสมาชิกสามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอื้อโอกาสและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างก้าวหน้าและยั่งยืน
ทั้งนี้ ล่าสุดกรมได้ผนึกกำลังร่วมกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(TPSO) ร่วมกันผลักดันให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนกลยุทธ์ แนวคิด และประสบการณ์ รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ผู้นำทางเศรษฐกิจ จากทั้งภาครัฐและเอกชนภายใต้ โครงการ CLMVT Executive Program on New Economy ซึ่งที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้สร้างครือข่าย และโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศ CLMV มาแล้วมากมาย โดยเฉพาะการสะท้อนถึงปัญหา อุปสรรค และนโยบายการแก้ไขที่จะช่วยให้ก้าวทันกับบริบทของการค้าโลก
ด้าน นันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กล่าวว่า
CLMVT และ ASEAN ถือเป็น Emerging Market ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีบทบาทสำคัญในตลาดโลก การสร้างเครือข่ายมิตรภาพระหว่างกัน จะพัฒนาเป็นเครือข่ายธุรกิจที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์การทำงานกันซึ่งกันและกัน เหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับ ASEAN ได้อย่างแท้จริง

เขากล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญของ Branding เนื่องจากในกลุ่มอาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน ซึ่งเป็นฐานและเป็นผู้บริโภคที่น่าสนใจ แม้ว่าเราจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าชั้นนำ แต่ยังขาดอัตลักษณ์บนเวทีการค้าโลก การสร้าง ASEAN Branding ที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โครงการนี้จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการสร้างแบรนด์และกลยุทธ์การตลาดทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก มาร่วมทำ Workshop เรื่องการสร้างแบรนด์ มีสัมมนา Cross-Border Digital Trade Conference นำเสนอการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Site Visit เยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมหัวเหว่ย(HUAWEI) ซึ่งแสดงถึงศักยภาพเทคโนโลยี IOT ที่ช่วยยกระดับการศึกษา และการพัฒนา The Smart City เป็นตัวอย่างและกรณีศึกษาในการนำเทคโนโลยีมายกระดับคุณภาพชีวิต และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันอีกด้วย
ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการบริหารสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายในกลุ่มประเทศ CLMVT และขยายสู่กลุ่มอาเซียน ทำให้เป็นการสร้างตัวตนให้กับผู้ประกอบการไทยบนเวทีโลกได้ ในขณะที่ปัจจุบันการค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความท้าทายมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องช่วยกันสร้างความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนให้แข็งแกร่งไปพร้อมกันจากพื้นฐานของเครือข่ายมิตรภาพและความจริงใจ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
Topics:
Share:
Related Articles
รับกระแสคนแห่เลี้ยงสัตว์ช่วงโควิด Ben & Jerry’s สบช่องเปิดตัวไอศกรีมสำหรับสุนัข
สร้างความฮือฮาให้กับวงการสัตว์เลี้ยงเมื่อแบรนด์ไอศกรีม Ben & Jerry’s เปิดตัว ”Doggie Desserts“ ไอศกรีมสำหรับสุนัข หลังจากการระบาดของโควิดทำให้จำ..
LOLI Beauty คิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ให้สินค้าออร์แกนิก กำจัดบับเบิลพลาสติกในกระบวนการขนส่ง
LOLI Beauty แบรนด์เครื่องสำอางออร์แกนิกที่วางขาย Amazon พัฒนาถุงย่อยสลายได้หลายชั้นที่ “ดัก” อากาศเอาไว้ระหว่างชั้นผลิตด้วยข้าวโพดและแป้ง ที่สุดท้าย..
ไอเดียล้ำ Lanour Beauty เปลี่ยนธุรกิจธรรมดาอย่างร้านทำเล็บ ให้ไฮเทคด้วย “Smart Nail”
Lanour Beauty Lounge ร้านเสริมสวยในนครดูไบ เปิดให้บริการทรีตเมนต์ทำเล็บที่ไฮเทคที่สุดในชื่อบริการ Smart Nail ติดตั้งไมโครชิปที่มีเทคโนโลยีการสื่อสาร..