ไหมซ่า ปั่นง่าย ขายคล่อง
เรื่อง: enayble
ภาพ : ปิยชาติ ไตรถาวร, พิทักษ์พงศ์ เพริดพริ้ง
สินค้าเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย แปลกใหม่ ไร้คู่แข่ง วัตถุดิบสามารถเก็บไว้ได้นาน กำไรสูง เพราะต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาอันสั้น” หากประโยคด้านบนไม่ใช่เพียงโฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นคุณสมบัติจริงๆ ของแฟรนไชส์สายไหม ขนมหวานที่ทำจากน้ำตาล ซึ่งคนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี คนที่กำลังมองหาแฟรนไชส์ไว้ลงทุนอย่างคุณจะยอมทุ่มเงินหลักหมื่นเพื่อพิสูจน์กันไหม?
ระหว่างที่คุณยังชั่งใจ ไม่รู้จะตอบยังไงดี แฟรนไชซีคนแรกๆ ของ ‘ไหมซ่า’ อย่าง ชนกนันท์ หินแก้ว กำลังนับเงินที่ได้จากการขายซึ่งกำลังจะถึงจุดคุ้มทุนเร็วๆ นี้แล้ว เพราะหลังจากเริ่มปั่นสายไหมขายที่เซ็นทรัลพระราม 2 ได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ แม่ค้าคนนี้ก็มองเห็นกำไร และช่องทางการขายได้อย่างชัดเจน
“หลังจากที่เริ่มขายก็ได้ผลตอบรับที่ดีจากทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ เพราะเขาติดใจรสชาติเปรี้ยวซ่าที่ไม่ซ้ำใคร และมีให้เลือกหลากหลายทั้งสตรอเบอร์รี่ โคล่า มะขาม น้ำผึ้งผสมมะนาว แอปเปิ้ล เมนทอล-มิ้นต์ และแบล็กเคอร์แรนต์ ซึ่งก็ได้ไปออกตามงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานสังสรรค์ตามโรงแรม งานวันเด็ก ฯลฯ เป็นรายได้ที่เพิ่มเข้ามาโดยที่บางส่วนก็ได้เจ้าของแฟรนไชส์เป็นคนช่วยแนะนำด้วย หากสาขานี้อยู่ตัวก็มองว่าจะเปิดอีกสาขาหนึ่ง”
ชนกนันท์ที่ผันตัวเองจากธุรกิจแฟรนไชส์เฉาก๊วยนมสดธัญพืชมาปั่นไหมซ่า บอกเล่าถึงผลตอบรับที่เกินคาดกว่าธุรกิจครั้งก่อนที่เธอยอมแพ้กับความเหน็ดเหนื่อยในการเตรียมวัตถุดิบซึ่งเน่าเสียง่าย และไม่ได้กำไรเลยตลอดระยะเวลา 3 เดือน
จนวันหนึ่งเธอได้มาพบกับแฟรนไชส์ไหมซ่าของ สุรสิทธิ์ เจนสวัสดิ์พงศ์ ในเว็บไซต์ จึงตัดสินใจลองเริ่มต้นอีกครั้ง แล้วก็สมหวังจริงๆ
สุรสิทธิ์ เจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์คนนี้ชอบรับประทานสายไหมเป็นชีวิตจิตใจ จนวันหนึ่งได้ชิมสายไหมของร้านที่บอกว่าสามารถทำเป็นรสชาติต่างๆ ได้ แต่พอรับประทานแล้วก็ยังหวานเหมือนเดิม ไม่มีรสชาติอย่างที่บอก เลยกลายเป็นเป็นจุดเริ่มต้นความคิดที่ว่า ‘สายไหมควรมีรสชาติ และกลิ่นจริงๆ’
ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาเขาก็พยายามศึกษา หาสูตร และค่อยๆ พัฒนาจนได้รสชาติตามที่ต้องการ ซึ่งโจทย์สำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ปั่นออกมาแล้วยังมีกลิ่น และรสชาติแบบที่ต้องการได้ คำตอบก็คือ วัตถุดิบต้องมีคุณภาพดีมากๆ และลำดับต่อมาคือการปรุงนั่นเอง
“เราคิดรสชาติเอง ปรุงเอง ลองผิดลองถูกอยู่ประมาณ 30-40 รสชาติ แล้วค่อยๆ ตัดทิ้ง พอได้สูตรที่แน่นอนก็เริ่มเปิดขาย สัก 6–7 เดือนก็มีคนแนะนำให้เปิดสาขา แต่เราไม่มีบุคลากร จึงนึกถึงการขายแฟรนไชส์ว่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะคนที่สนใจลงทุนก็จะมีรายได้ และสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้เอง โดยที่เราจะทำหน้าที่ส่งวัตถุดิบให้เขา และมีรายได้จากการขายแฟรนไชส์เป็นเปอร์เซ็นต์นิดหน่อย จึงศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเครื่องทำสายไหม หาแหล่งซื้ออะไหล่ และทำการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเว็บไซต์” .
สุรสิทธิ์เล่าว่า หลังจากลงประกาศผ่านอินเทอร์เน็ตได้เพียง 6 เดือน มีผู้สนใจจากทั่วทุกภาคของประเทศไทยจับจองเป็นแฟรนไชซีไหมซ่าถึง 22 สาขา ซึ่งเหตุผลสำคัญของกระแสตอบรับที่มาแรงเกินคาดนี้ก็หนีไม่พ้นเรื่องของรายได้ที่มาแบบเกินคุ้ม
“สินค้าของเรามีกำไรสูงมาก เพราะมันเป็นน้ำตาลกับลมเท่านั้น และเราขายวัตถุดิบให้แฟรนไชซีในราคาต่ำ เพราะคิดว่าหากสมาชิกของเราอยู่ได้ยั่งยืน ผมก็อยู่ได้ยั่งยืนเหมือนกัน สำหรับการปั่นสายไหมนั้นไม่ยาก แต่สิ่งที่ต้องใส่ใจคือ วิธีการดูแล และทำความสะอาดเครื่อง ซึ่งเราจะสอนให้ทุกขั้นตอน ระยะเวลาเพียง 3 เดือนก็น่าจะคืนทุนแล้ว อย่างช้าสุดก็ 6 เดือน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทำเลด้วย หากได้ที่ที่มีคนพลุกพล่านก็จะยิ่งคืนทุนได้เร็ว เพราะสายไหมนั้นขายได้ตลอด เพียงแต่ช่วงที่อากาศร้อน และฝนตก การปั่นจะมีปัญหา เพราะความชื้นจะทำให้สายไหมยุบตัว และละลายเร็วมาก แต่เราก็มีบรรจุภัณฑ์น่ารักๆ ที่สามารถเก็บสายไหมได้นานหลายสัปดาห์ไว้เป็นทางเลือกให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน”
เจ้าของแฟรนไชส์ไหมซ่าอธิบายถึงข้อเด่น และข้อจำกัดของสินค้า พร้อมเพิ่มเติมว่าเป้าหมายต่อไปคือ การขายแฟรนไชส์ให้ครบทุกจังหวัด และแนะนำรสชาติใหม่ๆ เดือนละ 1 ครั้ง พร้อมรักษาคุณภาพ และสร้างแบรนด์ให้โดดเด่น โดยร่วมกับห้างสรรพสินค้า และออร์แกไนเซอร์ออกงานบ่อยๆ เวลามีลูกค้ามาติดต่อก็แนะนำให้กับแฟรนไชซี ซึ่งถือเป็นการมอบรายได้ให้กับสมาชิกอีกด้วย
รูปแบบการลงทุน
แบบประหยัด : 13,000 บาท
1. เครื่องปั่นสายไหม 1 เครื่อง
2. ก้านปั่น 500 ก้าน
3. ผงน้ำตาล 8 กิโลกรัม (ราคา 120 บาท/กิโลกรัม)
4. อะไหล่เครื่องทำสายไหม 1 ชุด
5. อุปกรณ์ทำความสะอาด 1 ชุด
แบบพร้อมบู๊ธ/คีออส ไหมซ่า : 39,900 บาท
1. บู๊ธ/คีออส ไหมซ่า 1 ชุด
2. เครื่องปั่นสายไหม 1 เครื่อง
3. โหลบรรจุผงปั่นสายไหมพร้อมช้อนตวง 8 ชุด
4. ก้านปั่นสายไหม 1,000 ก้าน
5. ผงปั่นสายไหม 10 กิโลกรัม (ราคา 120 บาท/กิโลกรัม)
6. อะไหล่เครื่องทำสายไหม 1 ชุด
7. อุปกรณ์ทำความสะอาด 1 ชุด
ประมาณยอดขาย และกำไรต่อ 1 กิโลกรัม
ผงปั่นสายไหมซ่า 1 กิโลกรัม (ปั่นได้ขั้นต่ำ 40 ไม้ ไม้ละ 19 บาท) ยอดขาย 760 บาท
ต้นทุน : ผงปั่นไหมซ่า 1 กิโลกรัม 120 บาท
กำไรต่อ 1 กิโลกรัม (760-120) = 640 บาท/กิโลกรัม
สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ 081-8584901
ขอขอบคุณไหมซ่า สาขาห้างสรรพสินค้าสุพรีม คอมเพล็กซ์ สามเสน สำหรับความเอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพ
Related Articles
ลูกเกษตรกรเมืองตากคืนถิ่นเกิด กลับไปทำสมุนไพรรายได้หลัก 10 ล้าน ส่งออกถึง อเมริกา ศรีลังกา และออสเตรเลีย
เมื่อชีวิตในเมืองหลวงไม่ตอบโจทย์ “เสาวลักษณ์ มณีทอง” ลูกหลานเกษตรกรใน อ.แม่ระมาด จ.ตาก ตัดสินใจกลับไปบ้านเกิดทำธุรกิจแปรรูปสมุนไพร สร้างรายได้และควา..
ตะลึงกันทั้งตลาด “ครีมไก่ชน Dr.Jay” โอกาสธุรกิจความงามสุดล้ำ! ที่ไม่ได้มีแค่คน แต่ไก่ชนก็สวยได้
ใครจะคิดว่าอยู่ดีๆ วันหนึ่งตลาดเครื่องสำอางไทยจะล้ำหน้าถึงขั้นมีครีมบำรุงผิวสำหรับไก่ชนออกวางจำหน่าย ทำให้หน้าไก่ดูอ่อนเยาว์ขึ้น เวลานำไปตีจึงมักถูก..
เปลี่ยนไข่ขาวให้เป็นเส้นโปรตีน นวัตกรรมจากอาจารย์นักโภชนาการ ที่คนเลี่ยงแป้งทานได้ “ทานน์ดี”
อยากเลี่ยงแป้งทำไมต้องอด อยากผอม อยากสุขภาพดี ทำไมต้องกินแต่ของไม่อร่อย! ด้วยเหตุนี้ ทานดี อินโนฟูด จึงได้ปลุกปั้นนวัตกรรมใหม่มาสนองตลาดสายสุขภาพ ที..