SMEs สิ่งทอ เครื่องนุ่มห่มเสี่ยงเจ๊งสูง
Share:
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2556 น่าจะอยู่ที่ระดับ 6,700-7,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออยู่ระหว่างอัตราการหดตัวร้อยละ 5.0 ถึงทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปี 2555 โดยตลาดที่ยังมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นตลาดคู่ค้าหลักในสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จากการที่ผู้บริโภคยังอยู่ในมาตรการรัดเข็มขัด ในขณะที่ราคาสินค้าของไทยอยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ทำให้คาดว่าคำสั่งซื้อจากตลาดกลุ่มนี้อาจจะหดตัวไปอีกสักระยะ
แต่หากพิจารณาตลาดในภูมิภาคเอเชียอย่างอาเซียน และญี่ปุ่น พบว่า ตลาดกลุ่มนี้ยังคงให้ภาพทิศทางการเติบโตที่เป็นบวก และอาจกล่าวได้ว่า ตลาดสองกลุ่มนี้น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในระยะต่อไป โดยได้รับแรงส่งจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาสนับสนุนภาคการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ยอดการส่งออก ทั้งในกลุ่มสิ่งทอที่ใช้เป็นวัตถุดิบ และกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม (จากความต้องการบริโภคสินค้าในกลุ่มแฟชั่นเครื่องแต่งกายที่เพิ่มขึ้น) ของไทยไปยังอาเซียนเติบโต ในขณะที่การเติบโตในตลาดญี่ปุ่น ก็ได้รับอานิสงส์จากการที่ญี่ปุ่นลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน และหันมานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในปี 2556 ได้แก่ กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เพราะเป็นสินค้าพึ่งพาตลาดสหรัฐฯและยุโรปค่อนข้างสูง และไทยมีศักยภาพด้านการแข่งขันที่ลดลง ส่วนกลุ่มสิ่งทอ แม้ว่าจะชะลอตัวลงตามคำสั่งซื้อวัตถุดิบต้นน้ำจากคู่ค้าบางประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปยังปลายทางดังกล่าวเช่นเดียวกับไทย แต่คาดว่ามูลค่าการส่งออกน่าจะกลับมาพลิกฟื้นในช่วงครึ่งหลังปี 2556 ได้
อย่างไรก็ตาม ไทยจะต้องเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกับคู่แข่งจากประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำและส่งออกรายสินค้าประเภทเดียวกัน อีกทั้งยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าอยู่ และการก้าวผ่านแรงกดดันทางด้านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน 300 บาททั่วประเทศ รวมถึงราคาสาธารณูปโภคและพลังงาน ตลอดจนการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งมีส่วนต่อการตัดสินใจขยายการลงทุนในธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ เพราะอาจส่งผลต่อกำไรต่อหน่วยที่ลดลง ขณะที่ค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่า ยังส่งผลต่อราคาส่งออกและคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาสู่ผู้ประกอบการในไทยลดลงด้วย
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากแรงกดดันดังกล่าวข้างต้น จะพบว่า ผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ตามความสามารถในการส่งผ่านภาระต้นทุนและอำนาจในการต่อรอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการ SMEs (มีจำนวนมากกว่าร้อยละ 85 ของผู้ประกอบการทั้งหมดในอุตสาหกรรม) ที่มีขีดความสามารถในการปรับตัวต่ำกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่
แต่หากพิจารณาจากสัดส่วนรายได้จากการส่งออก จะพบว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็ยังมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกค่อนข้างสูง และมีศักยภาพในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมมากกว่าโดยกลุ่มที่คาดว่าจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการที่มีทางออกในการปรับตัว อาทิ การออกไปตั้งโรงงานในต่างประเทศเพื่อลดต้นทุน การขยายช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ การพัฒนาความสามารถในการรับผลิตสินค้าที่รับคำสั่งซื้อได้หลากหลายรูปแบบ แม้ว่ายอดคำสั่งซื้อจะไม่มาก รวมถึงความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น
ในขณะที่กลุ่มที่ต้องยอมรับว่าอยู่รอดได้ยาก และจำเป็นต้องเร่งปรับตัวอย่างเร่งด่วน คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังรับจ้างผลิตสินค้าที่ต้องแข่งขันด้านราคา ไม่มีศักยภาพในการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการปิดกิจการ และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..