เปิดโผสำรวจผู้ประกอบการห่วงทุนเพิ่มขาดสภาพคล่อง
Share:
กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือนมี.ค.-เม.ย. นักธุรกิจหนึ่งในสี่ห่วงเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองอาจไม่ดีเหมือนไตรมาสแรก ต้นทุนพุ่งฉุดดัชนีสภาพคล่องติดลบ
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) เปิดผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร CEO Sentiment Index ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทจำนวน 413 คน เกี่ยวกับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 และแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 จากการสำรวจระหว่างวันที่ 25 มีนาคมถึง 4 เมษายน 2556 พบว่า ผู้บริหาร 53.1% ระบุว่าผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ผู้บริหารอีก 24.4% ระบุว่า น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และผู้บริหาร 22.5% ระบุว่า ผลประกอบการดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 มีผู้บริหารเพียง 11.7% เท่านั้นที่ระบุว่า แนวโน้มน่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสที่ 1 ขณะที่ผู้บริหาร 62.1% ระบุว่าแนวโน้มน่าจะใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา และผู้บริหาร 26.2% ระบุว่า เศรษฐกิจน่าจะแย่ลงกว่าไตรมาสที่ 1
ขณะที่ดัชนีด้านเศรษฐกิจได้สะท้อนการคาดการณ์ของนักธุรกิจเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากดัชนีภาวะเศรษฐกิจมีค่าลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 แม้ว่าการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมจะปรับตัวขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 7 จุด แต่หากเทียบกับผลเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถือว่ายังคงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
ดัชนีต้นทุนไตรมาส 2 พุ่งต่อเนื่อง
สำหรับดัชนีด้านการทำธุรกิจซึ่งมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ดัชนีด้านรายได้ ดัชนีด้านต้นทุน ดัชนีด้านสภาพคล่อง และดัชนีด้านการจ้างงานนั้น จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีด้านต้นทุนที่อยู่ในระดับ 31 จุดในเดือนมีนาคม ได้เพิ่มขึ้นเป็น 42 จุดในเดือนเมษายน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 45 จุดในเดือนพฤษภาคม แสดงให้เห็นถึงความกังวลใจเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนในการทำธุรกิจที่เกิดจากผลสะสมของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และในบางธุรกิจต้นทุนการทำธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอีกด้วย
ขณะที่ดัชนีด้านรายได้ในเดือนเมษายน พบว่า มีค่าปรับลดลงมาเป็น 4 จุด สะท้อนให้เห็นว่า โดยภาพรวมแล้ว ธุรกิจส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหาการเพิ่มรายได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์รายได้ในช่วงเดือนพฤษภาคมพบว่า ได้ปรับตัวขึ้นมาเป็น 9 จุด
การเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของรายได้เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของต้นทุน ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องมีค่าลดลงมาเป็น 4 จุดในเดือนเมษายนและคาดว่าจะมีค่าติดลบเท่ากับ -6 จุด ในเดือนพฤษภาคม ส่งผลต่อการจ้างงาน ทำให้ดัชนีการจ้างงานมีค่าลดลงเป็น 5 จุดในเดือนเมษายน และคาดว่าจะลดลงเหลือ 2 จุดในเดือนพฤษภาคม
5 ปัจจัยหลักกระทบธุรกิจไตรมาส 2
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจในไตรมาสที่สองของปี 2556 (เมษายน ถึง มิถุนายน) 5 อันดับแรก คือ ต้นทุนวัตถุดิบมี 3.7 คะแนน ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น 3.5 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจของไทย การแข็งขึ้นของค่าเงินบาท และความต้องการของตลาดที่ลดลง ซึ่งได้ 3.4 คะแนนเท่ากัน
ผลสำรวจในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจ ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของธุรกิจ แม้ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยและความสามารถในการสร้างรายได้จะเพิ่มขึ้น แต่การที่ต้นทุนในการทำธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้สภาพคล่องมีแนวโน้มลดลง ย่อมหมายถึงความอ่อนไหวทางการเงินที่สูงขึ้นซึ่งจะไปลดทอนความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยง
Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..