TMB ชี้เปิด AEC ไทยน่าลงทุนมากที่สุด
Share:
ทีเอ็มบี เปิดมุมมองใหม่ ชี้ AEC ทำให้ไทยน่าลงทุนที่สุด เป็นศูนย์กลางการธุรกิจและการลงทุนของอาเซียน เพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจโดยไม่จำเป็นต้องไปลงทุนนอกประเทศ พร้อมสนับสนุนและแนะ 4 ยุทธศาสตร์ให้ผู้ประกอบการไทยเสริมความพร้อมรองรับ
ทีเอ็มบีจัดสัมมนาเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันธุรกิจไทย Borderless on Stage ตอน “ธุรกิจไทยจัดทัพ...สร้างฮับ AEC” เปิดมุมมองใหม่ให้ผู้ประกอบการไทยที่มีต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ชี้ผู้ประกอบการในประเทศมีโอกาสและศักยภาพเพิ่มขึ้นสูง ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงสมรภูมิเศรษฐกิจ แม้จะไม่ไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะโดยพื้นฐาน ไทยมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ ในฐานะที่เป็นฐานธุรการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่พร้อมในการตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศเพื่อนบ้านภูมิภาคนี้มากที่สุด
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ชี้ให้เห็นถึงมุมมองใหม่สำหรับผู้ประกอบการในประเทศว่า “หลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในภูมิภาคนี้ ด้วยความได้เปรียบด้านที่ตั้งของประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยในขณะนี้หลายๆ องค์กรให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุนของธุรกิจไทยในประเทศอื่นในอาเซียน แต่ทีเอ็มบีมองเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพที่ดีมาก และมีความพร้อมที่สุดที่จะเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม เพราะเรามีความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการด้านผลิตภัณฑ์และบริการของตลาดในภูมิภาคนี้ จึงนับเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่สำหรับผู้ประกอบการในประเทศไทยที่จะเติบโตไปข้างหน้า
“ดังนั้น แทนที่จะส่งเสริมธุรกิจให้พยายามออกไปลงทุนในต่างประเทศเพียงด้านเดียวเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน ทุกภาคส่วนจึงควรเร่งมือในการเตรียมความพร้อมและสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถรองรับการเติบโตของการลงทุนและธุรกิจในประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น”
ทั้งนี้ นายบุญทักษ์กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดที่ได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เสมือนเป็นประตูสู่อาเซียน การคมนาคมไปยังประเทศอื่นในอาเซียนสะดวก และเหมาะสำหรับการติดต่อไปยังจีน อินเดีย และญี่ปุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมและบริการที่สำคัญ นำโดยอุตสาหรรมประกอบชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม บริการส่งออกสินค้า ศูนย์กลางการค้า จัดหาวัตถุดิบ การท่องเที่ยว และจากรายงานของ Global Competitiveness Report ระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน ซึ่งช่วยสนับสนุนด้านการขนส่ง กระจายสินค้าไปยังประชากรในกลุ่มอาเซียนที่มีมากกว่า 600 ล้านคนหรือ 10% ของประชากรโลก
นอกจากนี้ นายบุญทักษ์ยังให้คำแนะนำด้วยว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับธุรกิจใน 4 ยุทธศาสตร์ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งได้แก่
1. การสร้างนวัตกรรม ปัจจุบันการใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย อยู่ที่ 1,460 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 0.25% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ นับเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน และอันดับที่ 41 ของโลก รองจากสิงคโปร์ (2.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) และ มาเลเซีย (0.63% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) เปรียบเทียบกับประเทศผู้นำในเอเชีย คือ เกาหลีใต้ (3.74%) ญี่ปุ่น (3.67%) และ จีน (1.97%) โดยอุตสาหกรรมที่ควรได้รับการวิจัยและพัฒนามากขึ้น คือ สินค้าเกษตร โดยไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของอาเซียน แต่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกในรูปของยางขั้นต้น ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางแปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
2. คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมของโลก ปัจจุบันมีบริษัทได้รับอนุมัติให้ติดฉลากลดคาร์บอน (Carbon Footprint) บนผลิตภัณฑ์ รวม 190 บริษัท โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง พลาสติกและผลิตภัณฑ์
3. การเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยเน้นอุตสาหกรรมที่สร้างความเชื่อมโยง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยสามารถยกระดับเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียนได้ โดยปี 2555 ปริมาณการผลิตยานยนต์ของ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ติดอันดับ 9, 17, และ 23 ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก โดยผลิตได้รวมกัน 4.2 ล้านคัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 5 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีอุสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและศักยภาพด้านการบิน ทำให้ไทยสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศอื่นในลักษณะส่งผ่านนักท่องเที่ยว เช่น มาเลเซีย ไทย ลาว พม่า
4. ประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการไทยควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้แรงงานในการผลิต ควรปรับตัวโดยการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต รวมถึงมีการพัฒนาศักยภาพแรงงานและการออกแบบสินค้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย ส่วนอุตสาหกรรมอาหาร แม้ไทยจะส่งออกอาหารสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน แต่ยังคงต้องปรับตัวโดยการยกระดับมาตรฐานการผลิตในโรงงงานและเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาคุณภาพตามมาตรฐานสากล พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ระบุเครื่องหมายสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานปลอดภัยบนสินค้าเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับอาหารไทย
นายบุญทักษ์กล่าวเสริมด้วยว่า หากผู้ประกอบการไทยสามารถเร่งพัฒนาใน 4 ยุทธศาสตร์ ดังกล่าวข้างต้น ทีเอ็มบีเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจอาเซียนที่แข็งแกร่งมีศักยภาพสูง และผู้ประกอบการก็จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นในครั้งนี้ และทีเอ็มบีก็จะเป็นสถาบันการเงินที่พร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนไปพร้อมๆกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..