กสอ. จับมือเมืองไซตามะดัน SMEs ไทยตีตลาดญี่ปุ่น
Share:
นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ของทั้ง 2 ประเทศ ผ่านกรอบของความร่วมมือใน 3 ประเด็น ได้แก่
1. การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จังหวัดไซตามะและประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมที่เป็นอุตสาหกรรมหลักและมีความเชี่ยวชาญของจังหวัดไซตะมะ ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์สมองกล อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสาร อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์และสุขภาพ ฯลฯ
2. การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในจังหวัดไซตามะและประเทศไทย เพื่อขยายธุรกิจในระดับสากลผ่านการจับมือทางธุรกิจ (Business Matching)
3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตสาหกรรมร่วมกันและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับ จังหวัดไซตามะ เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ SMEs จากจังหวัดไซตามะและประเทศไทย ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้มีความใกล้ชิด อาทิ การจัดโครงการแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการประชุมทางธุรกิจ
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ในการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 โดยการใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมารวมกัน เพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่กัน ซึ่งจะส่งผลดีกับภาคอุตสาหกรรมไทที่จะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมในประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้มีโต๊ะญี่ปุ่นคอยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐ และในช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับการติดต่อจากหลายจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น อาทิ จังหวัดฟูกุโอกะ จังหวัดไซตามะ จังหวัดโอซาก้า จังหวัดยามานาชิ จังหวัดโทโทริ จังหวัดฮิโรชิม่า และจังหวัดชิมาเน่ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็มีนโยบายสนับสนุนให้ SMEs ของตนมีการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้น เพื่อป้องกันการปิดตัวลงของ SMEs ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเห็นการรักษาเทคโนโลยีที่มีอยู่เฉพาะในแต่ละ SMEs หรือที่เรียกว่า “Only One Technology” ให้ยังคงอยู่ต่อไป ซึ่งประเทศญี่ปุ่นมักประสบปัญหาในการผลิต อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ตลาดที่หดตัวลง และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีมูลค่ากว่า 2.1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงปี 2556 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.1 แสนล้านบาท” นายประเสริฐ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับจังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกัน โดยมี นางอรรชกา สีบุญเรือง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และ มร. คิโยชิ อุเอดะ ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ เป็นผู้ลงนาม ในวันที่ 22 สิงหาคม 2556 ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีข้าราชการ และนักธุรกิจญี่ปุ่น ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สามารถสอบถามได้ที่ โทร. 0 2202 4426-7
Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..