SMEs ภาคผลิตกังวลชัตดาวน์กทม.ซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ ปี 54
Share:
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับ 7 องค์กรเอกชน เช่น ส.อ.ท. หอการค้าไทย, สมาคมธนาคาร, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงผลกระทบชัตดาวน์กรุงเทพฯ วันที่ 13 มกราคม 2557 ทุกองค์กรเป็นห่วงกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และเตือนให้แต่ละองค์กรเตรียมแนวทางการปฏิบัติงานให้มีความเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ไม่ให้การดำเนินธุรกิจสะดุด รวมถึงภายใน 1 - 2 วันนี้ คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (กกร.) และ 7 องค์กรภาคเอกชนจะเชิญทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน ศาลรัฐธรรมนูญ เครือข่ายภาคสังคม และพรรคการเมืองต่างๆ หันหน้าเจรจากันเพื่อจะระดมความคิดเห็นหาทางออกของประเทศ โดยจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ในแง่ภาคการผลิตมองว่าถ้าเหตุการณ์ยืดเยื้อจะกระทบต่อภาคการผลิตได้ โดยเฉพาะสมาชิกใน ส.อ.ท. 42 กลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งมีผู้ประกอบการเกือบ 8,000 รายทั่วประเทศโดย 80-90% เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่อาจจะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ได้ กรณีที่ออร์เดอร์หรือคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทย ถูกโยกไปประเทศเพื่อนบ้านแทน
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จากที่ทั่วประเทศมีผู้ประกอบการกลุ่มนี้ราว 2.9 ล้านราย เช่น โรงงานห้องแถวที่กระจายอยู่ทั่วไป จะได้รับผลกระทบ ซึ่งขณะนี้ ผู้ประกอบการต้องวางแผนรับมือ เตรียมความพร้อมในทุกด้าน ตั้งแต่การขนส่งสินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบนำเข้าและส่งออก หากโรงงานใดอยู่ใกล้ทางแยกที่ปิดเพื่อเป็นศูนย์รวมผู้ชุมนุม ก็ปรับแผนผลิตจาก 3 กะเป็น 1 กะ หรือวางแผนหยุดการผลิตชั่วคราว และหันไปเจรจากับโรงงานที่ผลิตในสินค้าชนิดเดียวกันที่ประกอบกิจการอยู่รอบนอกกรุงเทพฯทำการผลิตแทนจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ
ส่วนโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่กระจายอยู่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระยอง ปทุมธานี นนทบุรี เป็นจำนวนมาก และมีตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกที่ต้องใช้เส้นทางผ่านพื้นที่ กทม.เพื่อไปยังท่าเรือคลองเตย หรือท่าเรือแหลมฉบัง หรือสนามบิน หรือส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าภายในประเทศ ก็ยังอยู่ในข่ายสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ใช้เวลาเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนขนส่งสูงขึ้นตามมา
"ขณะนี้เริ่มมีคำถามจากลูกค้าต่างประเทศว่า ผลทางการเมืองจะทำให้การส่งมอบสินค้ามีอุปสรรคหรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้ว่า ลูกค้าจะกระจายความเสี่ยงไปสั่งสินค้าจากประเทศข้างเคียงแทน ทำให้ออร์เดอร์ปี 2557 ในหลายอุตสาหกรรมมีโอกาสหายไป 30 - 50% ก็น่าเสียดายที่เวลานี้ค่าเงินบาทกำลังอ่อนค่าลงแต่ก็มาเสียโอกาสนี้ไปอีก"
นายจำรัส พานเพียรศิลป์ กรรมการสมาคมเครื่องจักรกลไทย ซึ่งมีสมาชิกกว่า 300 รายทั่วประเทศและเป็นเอสเอ็มอีทั้งหมด กล่าวว่า ดูจากสถานการณ์การเมืองที่ยืดเยื้อในขณะนี้ ทำให้มั่นใจว่าจะกระทบต่อยอดขายของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย ตลอดปี 2557 ที่สมาชิกในสมาคมทั้งหมดเป็นกลุ่มทุนไทย ที่มีแนวโน้มว่ายอดขายรวมจะหายไป 30% หรือเป็นมูลค่ายอดขายที่หายไปราว 5 พันล้านบาท
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
Topics:
Share:
Related Articles
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..
‘ไลอ้อน ประเทศไทย’ ขนไลน์อัพสินค้าเสริมอาหาร-ดูแลสุขอนามัยบุกตลาดช่วงโควิด-19
ไลอ้อน ประเทศไทย เผยโควิด-19 หนุนผู้บริโภคตื่นตัวดูแลสุขภาพ ขนทัพผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขอนามัย จัดโปรโมชันรับกระแส รุกเจาะช่องทางออนไลน์ตอบโจทย์ความต้..