กพร.มุ่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ผู้ประกอบการ 3,500 ล้าน
Share:
สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรม คาดปี 2557 ต่ำกว่า 7% คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,500 ล้านบาท ดึงผู้ประกอบการรายใหม่เข้าร่วม เผยระบบโลจิสติกส์ไทย อันดับ 3 อาเซียน เป็นผู้นำกลุ่ม CLMV เชื่อพร้อมยกระดับขึ้นเป็นผู้นำอาเซียน
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการในภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี โดยในปี 2557 จากการสำรวจพบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายของกลุ่มอุตสาหกรรมลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในปี 2555 พบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อยอดขายอยู่ที่ 7.27% ลดจากปีก่อนหน้านั้นซึ่งอยู่ที่ 8.47% ขณะที่ในปี 2557 คาดว่า จะมีต้นทุนโลจิสติกส์ลดลงต่ำกว่า 7% โดยเมื่อพิจารณาส่วนประกอบแล้ว ต้นทุนโลจิสติกส์ประกอบด้วยต้นทุนสินค้าคงคลัง ต้นทุนการขนส่งสินค้า และต้นทุนบริหารจัดการ ซึ่งส่วนของต้นทุนสินค้าคงคลังนั้นยังสามารถลดลงได้อีกมาก
“กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักโลจิสติกส์ หน่วยงานภายใต้สังกัด กพร. ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงอย่างต่อเนื่องทุกปีผ่านโครงการต่าง ๆ จากนั้นจะมีการเก็บข้อมูลซึ่งเชื่อว่า ปี 2557 จะลดลงต่ำกว่า 7% แน่นอน” นายอาทิตย์กล่าว
ด้านนายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานในเบื้องต้นพบว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมกว่า 30 โครงการของสำนักโลจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนได้กว่า 3,500 ล้านบาท พัฒนาบุคลากรกว่า 7,500 คน ดึงผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายใหม่มากกว่า 500 รายเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของไทย
สำหรับการพิจารณาระบบโลจิสติกส์ในภาคอุตสาหกรรมไทย พบว่า ภาพรวมอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน เป็นผู้นำในกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม จุดเด่นของไทยคือผู้ประกอบการมีการนำระบบโลจิสติกส์และระบบไอทีมาใช้ในการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและสามารถลดต้นทุนในภาคอุตสาหกรรมได้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าระบบโลจิสติกส์ของไทยยังเป็นรองมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งมีการใช้งานระบบไอทีอย่างเข้มข้นและมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์กว่า แต่หากพิจารณาจากผลผลิตหรือผลิตภาพ (Productivity) ของภาคอุตสาหกรรมแล้ว อนาคตการจะแซงหน้ามาเลเซีย ในด้านการจัดการโลจิสติกส์จึงมีความเป็นไปได้
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กล่าวว่า ปี 2557 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 117 ล้านบาท จากการดำเนินกว่า 30 โครงการตลอดทั้งปี เห็นแนวโน้มชัดเจนว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยให้ความสนใจและนำระบบไอทีไปใช้งานมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยรู้แล้วว่า หากจะยกระดับมาตรฐานเพื่อรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี และแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลก การนำระบบไอทีมาใช้คือหนึ่งในหัวใจสำคัญ
ขณะที่ในปี 2558 สำนักโลจิสติกส์ได้รับจัดสรรงบประมาณ 87 ล้านบาท โดยมีโครงการหลัก ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการใหม่ เช่น RFID, Zoning, Packaging และ Logistics Connect ซึ่งเน้นสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาธุรกิจและบุคลากรด้านโลจิสติกส์รองรับการขยายงานในระดับภูมิภาค เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่สมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมการขนส่ง และอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ยัง มีการเติบโตอยู่มาก ตรงกับแนวโน้มที่ต้องการพัฒนาไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง และศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
Topics:
Share:
Related Articles
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..
‘ไลอ้อน ประเทศไทย’ ขนไลน์อัพสินค้าเสริมอาหาร-ดูแลสุขอนามัยบุกตลาดช่วงโควิด-19
ไลอ้อน ประเทศไทย เผยโควิด-19 หนุนผู้บริโภคตื่นตัวดูแลสุขภาพ ขนทัพผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขอนามัย จัดโปรโมชันรับกระแส รุกเจาะช่องทางออนไลน์ตอบโจทย์ความต้..