เศรษฐกิจชะลอตัว บสย.คาดปี 57 ค้ำประกัน SMEs ต่ำเป้า
Share:
บสย.คาดผลงานปีนี้ต่ำเป้า ยอดค้ำประกันสินเชื่อใหม่ได้แค่ 6.1 หมื่นล้าน จากเป้าหมาย 1 แสนล้าน หลังเศรษฐกิจชะลอ
นายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบสย.ในปีนี้ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ คาดทั้งปีรับประกันสินเชื่อใหม่ได้ประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 แสนล้านบาท เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัว การปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ไม่เติบโต
"สินเชื่อใหม่ทั้งระบบชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้การรับประกันสินเชื่อของบสย.เติบโตน้อย ซึ่งบสย.ได้เคยคุยกับทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอปรับลดเป้าในปีนี้ลง แต่ทางสคร.ยืนยันจะใช้เป้าเดิม ในปี 2558 จะกำหนดเป้าการรับประกันสินเชื่อไว้เท่าเดิม คือ 1 แสนล้านบาท"
เขากล่าวต่อว่า บยส.เตรียมจะเปิดประเภทกิจการที่จะให้การค้ำประกันสินเชื่อใหม่ เน้นกิจการด้านนวัตกรรม โดย บสย.เตรียมจะขอทางกระทรวงการคลัง เพิ่มเพดานการค้ำประกันสินเชื่อในกิจการประเภทนี้ เป็น 50% ของสินเชื่อ จากปัจจุบันเพดานการค้ำประกันสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 30% เพื่อเพิ่มความมั่นใจและแรงจูงใจให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้มากขึ้น
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดและวางกรอบการส่งเสริม โดยบสย.ได้เชิญสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า และสถาบันค้ำประกันสินเชื่อ เกาหลีใต้ (KOTEC) ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ การค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มเอสอีในกลุ่มนวัตกรรม เทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ ในงานสัมมนาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการในกลุ่มเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ และ การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา
“ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีข้อเสนอให้ทางบสย.และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาสภาพคล่อง ติดเครดิตบูโร หรือเป็นเอ็นพีแอลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยทางบสย.ก็มีแนวคิดจะช่วยเหลือ โดยการเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ แต่จะช่วยเฉพาะรายที่ยังมีความสามารถในการดำเนินกิจการอยู่”
นายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป บสย. เปิดเผยว่า คาดว่าปีนี้ทั้งปี บสย.จะจ่ายเงินชดเชยหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลให้กับธนาคารต่างๆ ประมาณ 5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่จ่ายเงินชดเชยประมาณ 3 พันล้านบาท เป็นผลมาจากพอร์ตการรับประกันสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.7 แสนล้านบาท จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ขณะนี้สัดส่วนเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็น 5.2% ของพอร์ตทั้งหมด จากช่วงสิ้นปีอยู่ที่ประมาณ 4%
“การจ่ายเงินเพื่อเคลียร์หนี้เสียให้กับทางธนาคารต่างๆ ไม่ได้อยู่ในระดับสูง เพิ่มขึ้นตามพอร์ตการรับประกันที่มีการเติบโต โดยแต่ละปีจะมีเงินค่าธรรมเนียมและเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้อยู่แล้ว รวมปีละ 5-6 พันล้านบาท เงินในส่วนนี้ก็กันไว้สำหรับเป็นหลักประกันเคลียร์หนี้เสียอยู่แล้ว โดยบยส.ไม่ใช่องค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อหวังผลกำไร แต่ก็ยังบริหารจัดการให้มีกำไรได้ ปีนี้คาดว่าจะมีกำไร 350-400 ล้านบาท”
ทั้งนี้ บยส. เปิดประเภทกิจการที่จะรับประกันสินเชื่ออยู่ 4 ประเภท คือ 1.พีจีเอส วงเงินรวม 2.4 แสนล้านบาท รับประกัน 18% ของสินเชื่อ ใช้ไปแล้ว 1.1 แสนล้านบาท 2.สินเชื่อเริ่มต้นกิจการ หรือ สตาร์ท อัพ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท รับประกัน 37.5 % ของวงเงิน 80% ของพอร์ตสินเชื่อ 3. สินเชื่อไมโคร วงเงิน 5 พันล้านบาท รับประกัน 30% ของพอร์ตสินเชื่อ และ 3.สินเชื่อโอท็อป วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท รับประกัน 25% ของพอร์ตสินเชื่อ
Topics:
Share:
Related Articles
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..
‘ไลอ้อน ประเทศไทย’ ขนไลน์อัพสินค้าเสริมอาหาร-ดูแลสุขอนามัยบุกตลาดช่วงโควิด-19
ไลอ้อน ประเทศไทย เผยโควิด-19 หนุนผู้บริโภคตื่นตัวดูแลสุขภาพ ขนทัพผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขอนามัย จัดโปรโมชันรับกระแส รุกเจาะช่องทางออนไลน์ตอบโจทย์ความต้..