แบงก์ชาติออกกฎคุม "นาโนไฟแนนซ์" มีหนี้ต่อทุนไม่เกิน 7 เท่า
Share:
“แบงก์ชาติ” ออกประกาศคุมธุรกิจ “นาโนไฟแนนซ์” ขีดเส้นผู้ประกอบการต้องมีหนี้ต่อทุนไม่เกิน 7 เท่า
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 1/2558 เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์) เพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
สำหรับประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อดังกล่าวไว้ เช่น ผู้ประกอบการที่สนใจยื่นคำขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว จะต้องมีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น(ดี/อี) ไม่เกิน 7 เท่า และต้องดำรงอัตราส่วนดังกล่าวตลอดการประกอบธุรกิจนี้ เว้นแต่ ธปท. จะพิจารณาผ่อนผันเป็นรายกรณี
หากผู้ยื่นขออนุญาตมีอัตราส่วนหนี้ต่อทุนเกินกว่าอัตราที่กำหนด เมื่อได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าว จะต้องดำเนินการลดอัตราส่วนให้อยู่ในอัตราที่กำหนดภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้
นอกจากนี้ยังกำหนดให้ ผู้ประกอบธุรกิจจะให้วงเงินสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับแก่ผู้บริโภคแต่ละรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท โดยต้องกำหนดวงเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้บริโภค
ขณะเดียวกันยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติ ในเรื่องการเรียกเก็บดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ที่เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับเมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 36% ต่อปี รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่นำดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการและค่าธรรมเนียมใดๆ มารวมกับจำนวนหนี้ที่ค้างชำระเพื่อคิดดอกเบี้ยและค่าปรับอีก
รายงานระบุด้วยว่า ในส่วนของการเปิดเผยข้อมูลอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกาศเผยแพร่ โดยปิดประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับตามแบบที่ธปท.กำหนดไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานทุกแห่ง ภายในวันเดียวกับที่ผู้ประกอบธุรกิจประกาศหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดดังกล่าว
กรณีมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ เกี่ยวกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับตามที่ระบุไว้ รวมถึงค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์ ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งเป็นหนังสือแก่ผู้บริโภคและต้องปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานทุกแห่งเพื่อให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันก่อนการเปลี่ยนแปลงมีผลบังคับ
สำหรับการเรียกให้ชำระหนี้และการติดตามทวงถามให้ชำระหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องถือปฏิบัติ ในการเรียกให้ชำระหนี้และติดตามทวงถามหนี้ โดยจัดทำใบแจ้งหนี้เพื่อแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงภาระหนี้ พร้อมวันกำหนดชำระหรือหักบัญชีในแต่ละงวดตามรูปแบบและช่องทางที่ได้ตกลงกับผู้บริโภค
โดยผู้ประกอบการต้องแสดงยอดหนี้ทั้งในส่วนที่ต้องชำระ ส่วนที่ค้างชำระ และที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ โดยแยกเป็นเงินต้น ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ไว้ในใบแจ้งหนี้
ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบอย่างน้อยเดือนละครั้งและต้องจัดส่งใบแจ้งหนี้ให้แก่ผู้บริโภคภายในวันเวลาอันควรก่อนวันถึงกำหนดชำระหรือหักบัญชีงวดแรกของเดือนนั้น นอกจากนี้ต้องมีหนังสือแจ้งเดือนผู้บริโภคที่ผิดนัดชำระหนี้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนดำเนินการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมาย
ส่วนการปฏิบัติเมื่อมีข้อร้องเรียนนั้น ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการตรวจสอบเมื่อผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บริการสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ และแจ้งความคืบหน้ารวมทั้งชี้แจงขั้นตอนต่อไปให้ผู้บริโภคทราบภายใน 7 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งการร้องเรียน รวมทั้งให้ดำเนินการแก้ไขข้อร้องเรียนให้แล้วเสร็จ และแจ้งให้ผู้บริโภคทราบโดยเร็ว
สำหรับการกำหนดนโยบาย แผนงาน และการประชาสัมพันธ์ ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องกำหนดนโยบายแผนงานในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อดังกล่าว และเสนอคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้นโยบายและแผนงานดังกล่าว ควรประกอบด้วยทิศทางและแนวทางในการให้บริการสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ
นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีระเบียบ หรือพิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ หรือระบุในสัญญาการแต่งตั้งตัวแทน เพื่อกระทำการแทนผู้ประกอบธุรกิจเรื่องการติดต่อหาผู้บริโภครายใหม่ หรือติดต่อกับผู้บริโภครายเดิมเพื่อเสนอสินเชื่อประเภทใหม่
ขณะเดียวกันยังกำหนดให้การติดต่อหาผู้บริโภครายใหม่หรือติดต่อกับผู้บริโภครายเดิมจะดำเนินการได้ระหว่างเวลา 8.00-20.00 น. ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการให้ดำเนินการได้ระหว่างเวลา 8.00-18.00 น.
กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้สื่อทางการตลาดในการส่งเสริมการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับต้องสื่อความให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายไม่ชวนเชื่อเกินความจริง และต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน รวมทั้งระบุอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ของสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับแต่ละประเภทให้ชัดเจน
ที่มา www.bangkokbiznews.com
Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..