กรอ.วาง 4 ยุทธศาสตร์ดันโรงงานทั่วประเทศเข้าระบบใน 5 ปี
Share:
กรมโรงงานอุตสาหกรรมเผย 4 ยุทธศาสตร์จัดการกากอุตสาหกรรม ใน 5 ปี พร้อมตั้งเป้า โรงงานที่มีใบอนุญาต ร.ง. 4 เข้าสู่ระบบการจัดการกากฯ ไม่น้อยกว่า 90 % ในปี 2563 ด้วยมาตรการควบคุมดูแลอันเข้มข้น
ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวโน้มด้านเศรษฐกิจโลกได้เริ่มใช้มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB : Non tariff barrier) มาเป็นเครื่องมือให้ทุกชาติที่เป็นผู้ผลิตอยู่ในบรรทัดฐานที่มีการดูแลภาคอุตสาหกรรมที่ทัดเทียมกัน
ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่ยุคสีเขียวอย่างแท้จริงซึ่งการจัดการกากอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไทยให้ได้มาตรฐานทั้งสินค้าและการบริหารจัดการในการผลิต
ทั้งนี้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมย่อมเกิดของเสียหรือกากจากวัตถุดิบต่างๆที่ไม่สามารถทำให้เป็นสินค้าได้ทั้งหมด หรือที่เรียกว่ากากอุตสาหกรรมแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ กากอันตราย และ กากไม่อันตราย ซึ่งทั้งหมดจำเป็นต้องได้รับการจัดการที่ถูกต้อง
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ครอบคลุมใน 3 กลุ่มผู้เกี่ยวข้องได้แก่ กลุ่มโรงงานผู้ก่อกำเนิดกาก กลุ่มผู้ขนส่งและ กลุ่มโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด/รีไซเคิลกาก โดยมีรายละเอียดดังนี้
ยุทธศาสตร์ ที่ 1 ควบคุมและกำกับดูแลให้ทุกโรงงานปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจากผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงงานผู้ก่อกำเนิดกากส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้มีการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กรอ.เตรียมจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรมทั่วทั้ง 6 ภูมิภาค มีภารกิจหลักคือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการเข้าสู่ระบบอนุญาตกำจัดกากอุตสาหกรรม และติดตามการต่ออายุของโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยมีการสั่งการและเปรียบเทียบปรับ จนถึงการไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง. 4 สำหรับผู้ประกอบกิจการที่ไม่จัดการกาก
ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนขออนุญาต สก. 1 สก. 2 ได้ ผ่านระบบอนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-license) พร้อมพัฒนาระบบ Smart form เข้ามาช่วยผู้ประกอบการ และจัดสร้างระบบฐานข้อมูลและติดตามการขนส่งกาก (GPS) ทั้งนี้มีรถบรรทุกกากอันตรายที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและจะต้องติดตั้ง GPS จำนวน 3,426 คัน
ยุทธศาสตร์ ที่ 2 สร้างความร่วมมือและแรงจูงใจ ส่งเสริมการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ โดยศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการนำกากมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงาน 10 พื้นที่ทั่วประเทศ สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการให้องค์ความรู้และพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อทำหน้าที่เป็น Third party ในการศึกษาหาพื้นที่แทนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีจำนวนจำกัดเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 10 แห่งภายใน ปี 2558 และปรับปรุงตำรากากอุตสาหกรรม สำหรับผู้ควบคุมมลพิษกากอุตสาหกรรมและ Third party
ขณะเดียวกันได้สร้างแรงจูงใจโดยการเพิ่มสัดส่วนเงินรางวัลจากค่าปรับผู้ลักลอบทิ้งกากให้แก่ประชาชนผู้แจ้งเบาะแส ร้อยละ 25% ของค่าปรับส่วนที่เป็นเงินรางวัล ยกตัวอย่างหากค่าปรับ 200,000 บาท จะถูกแบ่งเป็นเงินรางวัล 60 % ที่เหลือส่งเข้ากระทรวงการคลัง 40% กรณีดังกล่าวเงินรางวัลเท่ากับ 120,000 บาท โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงิน 25 % ของเงินรางวัลซึ่งเท่ากับ 30,000 บาท โดยจะมีการขอเพิ่มสัดส่วนนี้ขึ้นหลังจากที่เสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมีนาคม
ยุทธศาสตร์ ที่ 3 เครือข่ายภายในประเทศที่ให้การสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเพิ่มความเข้มงวดกับผู้ขนส่งกากอุตสาหกรรมป้องกันไม่ให้เกิดการลักลอบทิ้ง โดยขอความร่วมมือเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลยานพาหนะ(รถบรรทุก) และถนน ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยตรวจ/ควบคุมรถขนส่งกากอันตรายที่วิ่งตามท้องถนน โดยเฉพาะรถที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานและไม่มีติดตั้ง GPS อย่างถูกต้อง
ส่วนเครือข่ายต่างประเทศที่ให้การสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรม คือกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (METI) โดยองค์กร NEDO (New Energy and Industrial Technology Development Organization) ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาเตาเผาขยะร่วมที่ทันสมัย ขนาด 500 ตันต่อวัน ระยะเวลา 5 ปี มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท พร้อมทั้งส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือกรมโรงงานอุตสาหกรรมศึกษาพื้นที่รองรับกาก โดยที่ผ่านมากรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ก่อตั้งเตาเผากากอันตรายด้วยความร้อนสูงแห่งเดียวในประเทศไทย ใช้งบประมาณการลงทุนถึง 1,408 ล้านบาท ที่ให้บริการเผาทำลายขยะ สิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทุกชนิด โดยได้มอบสัมปทานสิทธิบริหาร ให้ บริษัท อัคคีปราการบริหารในรูปแบบเอกชนเมื่อปี 2551
ยุทธศาสตร์ ที่ 4 ปรับปรุงกฎหมายเพื่อติดตามผู้กระทำผิดและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการเข้มงวดกับโรงงานที่ไม่เข้าระบบอย่างถูกต้อง โดยแก้ข้อกฎหมายที่เคยเป็นอุปสรรคทั้งหมด เช่น เพิ่มบทลงโทษจำคุกกับผู้ลักลอบขนส่งกากที่มีโทษเพียงปรับ 200,000 บาท โดยขยายอายุความเป็น 10 ปี ซึ่งในปัจจุบันมีอายุความเพียง 1 ปี ทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่สามารถติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ทันการณ์
นอกจากนี้ยังออกประกาศ อก. ไม่ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ร.ง. 4 อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้ประกอบการที่กำลังจะเข้ามาในงานอุตสาหกรรมรวมถึงผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ที่จะต้องดูแลจัดการปัญหากากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยไปอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ชุมชนและโรงงานอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง
ดร. พสุ กล่าวต่อว่า กรอ. ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 200 ล้านบาทรองรับแผนการดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ในระยะ 2 ปีแรก ส่วนงบประมาณรวมสำหรับการจัดการกากอุตสาหกรรม 5 ปี คือ 430 ล้านบาท คาดว่าถ้าการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จ จะก่อให้เกิดธุรกิจกำจัดกากในประเทศมูลค่ากว่า 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี
ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนเข้าระบบจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-License) ได้ที่เวบไซท์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม http://www2.diw.go.th/e-license/login.asp หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564
Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..