คาด กนง. คงดอกเบี้ยรอประเมินความเสี่ยงในอนาคต
Share:
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด กนง. จะคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 29 เมษายน เนื่องจากการส่งผ่านประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันมีจำกัด และรอประเมินตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ประกอบกับเก็บกระสุนเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจ (ไม่) เกิดขึ้นในอนาคต
ความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ในการประชุมครั้งก่อน นับว่าได้รับการตอบรับจากธนาคารพาณิชย์ในระดับหนึ่ง หลังธนาคารพาณิชย์พากันปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงตามมติของ กนง. ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อดอกเบี้ยลดลงก็จะส่งผลให้มีแรงจูงใจในการขอกู้ยืมมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการในการฝากเงินลดลง นำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น หรือก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งต้นทุนทางการเงินไม่ใช่อุปสรรคสำคัญของการบริโภคและการลงทุน การลดดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือ การส่งผ่านประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยไปยังภาคเศรษฐกิจจริงจะเป็นไปอย่างจำกัด จากการคำนวณของศูนย์วิเคราะห์ฯ ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน การลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จะช่วยกระตุ้นอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ได้เพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น
นอกจากประเด็นในเรื่องประสิทธิผลของนโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีอย่างจำกัดแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะต้องพูดถึงคือความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นไปในทางขาลบ หลายท่านอาจสงสัยว่า หากเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงสูง แล้วเหตุใดศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้
ก่อนอื่นขอให้คำนิยามของคำว่า “ความเสี่ยง” ในที่นี้นั้นมีความหมายที่ต่างจากปัจจัยบวกหรือปัจจัยลบ กล่าวคือ ปัจจัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ราคาน้ำมันต่ำ และการท่องเที่ยวที่เติบโตดี ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และหนี้ครัวเรือนในระดับสูง แต่สำหรับความเสี่ยง คือเหตุการณ์ที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นหรืออาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ โดยถ้าหากเกิดขึ้นแล้ว อาจกลายเป็นปัจจัยหนุนหรือปัจจัยฉุดต่อเศรษฐกิจไทยก็เป็นได้
โดยความเสี่ยงแรกของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจอ่อนแอกว่าที่คาด โดยในปัจจุบันเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ในขณะที่เขตเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ยุโรปและญี่ปุ่น ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเป็นที่พึ่งได้ เศรษฐกิจโลกขณะนี้จึงได้รับการขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมาช่วยพยุงไว้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณเติบโตด้วยอัตราที่ชะลอลง และอาจไม่สามารถไปชดเชยการฟื้นตัวที่อ่อนแอในกลุ่มประเทศอื่นๆ ได้ โดยในระยะต่อไปหากเศรษฐกิจโลกชะลอมากกว่าที่มีการประเมินไว้ จะเป็นการซ้ำเติมภาคการส่งออกของไทยที่แย่ลงอยู่แล้วให้แย่ลงอีก ซึ่งการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงไปแล้วกว่าร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ความเสี่ยงต่อมา ได้แก่ การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่อาจทำได้ช้ากว่าที่ตั้งเป้าไว้ หลังจากผ่านไปแล้ว 2 ไตรมาสในปีงบประมาณ 2558 การเบิกจ่ายงบลงทุนดำเนินการได้ล่าช้ากว่าเป้าหมายของรัฐบาลมาก ถึงแม้ภาครัฐจะออกมาส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องว่าจะเร่งการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่ารัฐบาลจะสามารถเร่งการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ถึงเป้าหมายที่ร้อยละ 80 จากงบลงทุนทั้งหมด 4.5 แสนล้านบาทได้หรือไม่ จากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์ฯ มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะสามารถเบิกงบลงทุนได้เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น นั่นหมายความว่าเม็ดเงินที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาจหายไปเกือบ 1 แสนล้านบาทจากที่ตั้งเป้าหมายไว้
ความเสี่ยงสุดท้าย ได้แก่ ความเชื่อมั่นในภาคเอกชนที่เริ่มทรงตัวและอาจมีสัญญาณแผ่วลงไปบ้าง โดยจากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่าความเชื่อมั่นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการบริโภคและการลงทุน ดังนั้น หากในระยะถัดไปความเชื่อมั่นกลับมีแนวโน้มถดถอยลงไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีให้ออกมาอ่อนแอกว่าที่เคยประเมินไว้ได้
ในปัจจุบันคงไม่มีใครสามารถการันตีได้เต็มร้อยว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ หากความเสี่ยงใดความเสี่ยงหนึ่งเกิดขึ้นจริง ก็อาจมีความจำเป็นที่ กนง. จะต้องออกโรงกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ อย่างไรก็ตาม กระสุนทางการเงินในปัจจุบันมีค่อนข้างจำกัด และความเสี่ยงด้านลบอาจไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้นศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เพื่อเก็บกระสุนเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และรอประเมินจีดีพีไตรมาสแรก ที่จะถูกประกาศในวันที่ 18 พฤษภาคม
Topics:
Share:
Related Articles
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..
‘ไลอ้อน ประเทศไทย’ ขนไลน์อัพสินค้าเสริมอาหาร-ดูแลสุขอนามัยบุกตลาดช่วงโควิด-19
ไลอ้อน ประเทศไทย เผยโควิด-19 หนุนผู้บริโภคตื่นตัวดูแลสุขภาพ ขนทัพผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขอนามัย จัดโปรโมชันรับกระแส รุกเจาะช่องทางออนไลน์ตอบโจทย์ความต้..