ธสน.โชว์ผลกำไร Q1 ยอดลูกค้า SMEs ส่งออกเพิ่ม 84.03%
Share:
นายสุธนัย ประเสริฐสรรพ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 377 ล้านบาท จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้น 3,034 ล้านบาท และชำระคืนของสินเชื่อเดิมจำนวนบางส่วน ส่งผลให้สิ้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 71,887 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไทยกว่า 32,209 ล้านบาท มียอดรับประกันธุรกิจส่งออกและลงทุนรวม 20,771 ล้านบาท ที่มีสัดส่วนเป็นของธุรกิจเอสเอ็มอี 2,141 ล้านบาท คิดเป็น 10.31% ของธุรกิจรับประกัน
อย่างไรก็ดี ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) มีทั้งสิ้น 4,077 ล้านบาท หรือ 5.67% มีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 4,922 ล้านบาท โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย 2,733 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองพึงกัน 180.06%
ขณะที่การสนับสนุนผู้ส่งออกเอสเอ็มอีนั้น ธนาคารได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีลูกค้าเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 84.03% ของลูกค้าทั้งหมด และได้อนุมัติวงเงินเพิ่มใหม่เท่ากับ 3,460 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินอนุมัติสะสม 57,458 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อคงค้างให้แก่ผู้ส่งออกเอสเอ็มอี 23,153 ล้านบาท จากเงินให้สินเชื่อคงค้างทั้งหมด 71,887 ล้านบาท
นอกจากนี้ ด้านการสนับสนุนตามยุทธ์ศาสตร์ของนโยบายรัฐ เช่น สนับสนุนโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน สนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ด้านโทรคมนาคมของประเทศ และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่อง และสนับสนุนผู้ประกอบการพาณิชยนาวี และโลจิสติกส์อื่น ๆ ธนาคารได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพื่อพัฒนาประเทศเพิ่มใหม่ 58 ล้านบาท และวงเงินอนุมัติสะสม 18,735 ล้านบาท เป็นเงินให้สินเชื่อคงค้าง 11,823 ล้านบาท
สำหรับสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย ทั้งเวทีโลก และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ธนาคารได้อนุมัติสะสมสินเชื่อโครงการลงทุนระหว่างประเทศ 74,919 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินอนุมัติเพิ่มใหม่ 1,858 ล้านบาท ขณะที่เงินให้สินเชื่อคงค้างมี 36,857 ล้านบาท และยังได้ให้การสนับสนุนด้านการป้องกันความเสี่ยง เพื่อผลักดันให้การค้าการลงทุนระหว่างประเทศกับเออีซี ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีวงเงินป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการอยู่ที่ 23,622 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปี 58 ธนาคารมีเป้าหมายสนับสนุนผู้ส่งออก ผู้ประกอบธุรกิจ และนักลงทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่จะเริ่มต้น หรือขยายธุรกิจส่งออกอย่างเต็มที่ โดยมีผลิตภัณฑ์ใหม่ 5 บริการ ประกอบด้วย สินเชื่อเอสเอ็มอี ส่งออกสบายใจ, สินเชื่อเอสเอ็มอี ค้าชายแดน, สินเชื่อเอสเอ็มอี ขยายฐาน, สินเชื่อเพื่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และสินเชื่อเพิ่มพลังผู้ซื้อผู้ขาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ผู้ส่งออก ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกมีสภาพคล่องทางธุรกิจ บวกกับความคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อที่จะเริ่มต้นหรือขยายการค้าหรือการลงทุนได้อย่างมั่นใจ
ที่มา www.dailynews.co.th/economic/320806
Topics:
Share:
Related Articles
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..
‘ไลอ้อน ประเทศไทย’ ขนไลน์อัพสินค้าเสริมอาหาร-ดูแลสุขอนามัยบุกตลาดช่วงโควิด-19
ไลอ้อน ประเทศไทย เผยโควิด-19 หนุนผู้บริโภคตื่นตัวดูแลสุขภาพ ขนทัพผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขอนามัย จัดโปรโมชันรับกระแส รุกเจาะช่องทางออนไลน์ตอบโจทย์ความต้..