พาณิชย์!! แจงความคืบหน้าร่างกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ
Share:
กระทรวงพาณิชย์ เผยความคืบหน้าของร่างกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณาแล้ว คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาได้เร็วๆ นี้
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น หวังให้ไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการค้า การลงทุน และดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล
ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดบทบาทให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบกำกับดูแลนั้นขณะนี้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติไว้พิจารณาแล้วเมื่อวันที่ ๒๖กุมภาพันธ์ 2558 มีกำหนดระยะเวลาการพิจารณาดำเนินการในชั้นกรรมาธิการ 60 วัน และคาดว่าจะเสนอเข้า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาในวาระต่อไปได้ในเร็วๆ นี้
การที่รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจขึ้น ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เป็นการลดข้อจำกัดการนำทรัพย์สินมาใช้ เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ซึ่งตามกฎหมายในปัจจุบันกำหนดให้นำทรัพย์สินไปจำนองหรือจำนำเท่านั้นและการจำนองกฎหมายได้จำกัดประเภทของทรัพย์สินที่นำมาจำนองไว้เฉพาะอสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินมีทะเบียนบางประเภท
ส่วนการจำนำกฎหมายกำหนดให้ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นด้วย ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในกิจการไปใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ เช่น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า หรือสินค้าคงคลัง เป็นต้น
หรือหากนำทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการไปจำนำ ก็จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจขาดโอกาสในการนำทรัพย์สิน เครื่องมือ หรืออุปกรณ์เหล่านั้นไปแสวงหารายได้ เพราะต้องส่งมอบให้แก่ผู้รับจำนำ รวมทั้งในการดำเนินธุรกิจก็อาจจะมีทรัพย์สินประเภทอื่นที่มีมูลค่า ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น และรวมทั้งมีสิทธิเรียกร้องต่างๆ เช่น ลูกหนี้การค้าก็สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
หรือแม้แต่กิจการทั้งกิจการก็สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้เช่นเดียวกัน ซึ่งกฎหมายหลักประกันธุรกิจดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าอื่นที่ใช้ในการประกอบธุรกิจไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น รวมทั้งกฎหมายยังกำหนดให้มีระบบการบังคับหลักประกันที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม เป็นการลดภาระทางศาลและการบังคับคดีโดยเจ้าพนักงาน
นอกจากนี้ยังเป็นการลดปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีส่วนช่วย ในการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่ภาคธุรกิจของไทยตามตัวชี้วัดด้านการให้สินเชื่อของธนาคารโลก (Doing Business) อีกประการหนึ่งด้วย”
อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายกำหนดให้จัดตั้งสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจขึ้นในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่รับจดแจ้งสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ แก้ไขรายการ และยกเลิกการจดแจ้งสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวมทั้งต้องจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับการจดแจ้งหลักประกันทางธุรกิจ และข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้บังคับหลักประกันเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบดูได้
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติและขับเคลื่อนให้การดำเนินงานเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลการจดทะเบียนตามกฎหมายฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นในการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ โดยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามผลการเตรียมความพร้อมการรองรับภารกิจตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.....และคณะทำงานเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวทั้งด้านโครงสร้างองค์กร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งทีมงานเพื่อยกร่างกฎหมายลำดับรอง เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้
“ขณะนี้ คณะทำงานได้ดำเนินการศึกษาและหารือร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศที่มีภารกิจด้านการจดทะเบียนหลักประกันฯ และธนาคารโลก เพื่อเปรียบเทียบ ประมวล วิเคราะห์ ถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1) กฎหมายหลักประกันของต่างประเทศ 2) ระบบการจดทะเบียนของต่างประเทศ และเทคโนโลยีที่ใช้ 3) แนวปฏิบัติที่ดี 4) ปัญหา อุปสรรค 5) แนวการดำเนินงานจริง เพื่อเจ้าหน้าที่ประมวล วางแผนการจดทะเบียนหลักประกันฯ ของไทยให้มีความเป็นสากลเทียบเท่านานาประเทศ”
Topics:
Share:
Related Articles
ทรู 5G แชร์ประสบการณ์อัจฉริยะขั้นสุด ใน “CAPTURE YOUR EPIC TRUE 5G MOMENT
ทรู 5G ล้ำสุดในไทย จัดเต็มสร้างประสบการณ์อัจฉริยะขั้นสุดกับ ‘CAPTURE YOUR EPIC TRUE 5G MOMENT’ กิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟต้อนรับการเปิดตัว Samsung Galax..
Buzzebees ผนึก Sabuy ทรานส์ฟอร์มธุรกิจค้าปลีก สร้าง Synergy Model ภายใต้ชื่อ บริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด
บัซซี่บีส์ และ SABUY ได้จับมือร่วมทุนด้วยสัดส่วน 50:50 โดยได้ร่วมดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ “บริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด” เติมเต็มในการสร..
EXIM BANK เติบโตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีจากการปรับองค์กรครั้งใหญ่เพื่อเป็นผู้นำ ‘องค์กรการเงินเพื่อการส่งออก’ ระดับโลก
แม้ปี 2563 ต้องเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 EXIM BANK ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมาย เป็นผู้นำองค์กรการเงินเพ..