OKMD จับมือกูรูสร้างเครือข่ายพัฒนา OTOP-SMEs สู่ตลาดโลก
Share:
OKMD เดินหน้าเผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ให้แก่ผู้ประกอบการส่วนภูมิภาคทั่วประเทศไทย นำร่องภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ตามด้วยภาคใต้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.อุดรธานี
ดร.อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักโครงการและจัดการความรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เปิดเผยว่า จากการเดินหน้าศึกษาและวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งพบว่าสินค้าและผลิตภัณฑ์OTOP ยังคงมีโอกาสทำรายได้มากขึ้น จากการส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคชาวต่างชาติชื่นชอบดีไซน์และเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทย
OKMD จึงได้นำองค์ความรู้และประเด็นสำคัญจากงานวิจัยข้างต้น มาพัฒนาเป็นเนื้อหาสำหรับถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ซึ่งมีสัดส่วนทั่วทั้งประเทศมากถึง ร้อยละ 95 ได้เห็นถึงช่องทางการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้โดนใจผู้บริโภคมากขึ้น และมีแนวทางความร่วมมือการค้าเพื่อสร้าง “Thai Team” เครือข่ายการผลิต การตลาด และช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาธุรกิจ OTOP ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ช่วยดันยอดส่งออกและจำหน่ายสินค้าทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์เกิน 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2558 ตามเป้าหมายของรัฐบาล จากมูลค่าโดยรวมในปี 2557 ที่ผ่านมา ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ รูปแบบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การตลาดเพื่อการส่งออก” เกิดจากการวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของตลาด (Demand Analysis) และประเภทสินค้าที่ตลาดมีความต้องการแต่ยังคงมีช่องว่างอยู่ (Unmet Demand) ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ตลาดนั้นได้ ซึ่งจะสัญจรไปยัง 3 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย เริ่มจากภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ตามด้วยภาคใต้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.อุดรธานี ตามลำดับ
โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญตลาดต่างประเทศและผู้ซื้อตัวจริงระดับโลก ร่วมกันถ่ายทอดความรู้และชี้แนะแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ยกระดับไปสู่ผู้ผลิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในระดับสากล โดยเฉพาะในประเทศที่มีความต้องการสินค้าและมีกำลังซื้อสูง เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น เป็นต้นรวมทั้งโอกาสทองจากการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งผู้บริโภคในประเทศสมาชิกต่างให้ความยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทยเป็นอันดับหนึ่ง
“ในแต่ละปีสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP มีอัตราเติบโตประมาณ 13% ดังนั้นเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันยอดขายให้ทะลุเกิน 1 แสนล้านบาทภายในปีนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปนัก แต่สิ่งสำคัญที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมกลุ่มธุรกิจนี้ให้เติบโตอย่างยั่งยืน คือการจัดอบรมและเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่การพัฒนาดีไซน์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในประเทศต่างๆและการคิดค้นฟังก์ชั่นใช้สอยใหม่ๆให้สอดรับกับวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันรวมไปถึงการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับกระบวนการทำธุรกิจและช่องทางการส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศซึ่งทั้งหมดถือเป็นข้อกำจัดสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ OTOP ไทย” ดร.อภิชาติ กล่าว
ด้าน นางสาวภิญญดา นิลกำแหง ประธานบริหาร Katsu Kafa และ Textile Business Developer จากบริษัท Katsu New York กล่าวว่า จริงๆ แล้วผู้ประกอบการในประเทศไทย ถือว่ามีความได้เปรียบผู้ประกอบการประเทศคู่แข่งค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในแง่ของวัตถุดิบที่มีคุณภาพและความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปชื่นชอบ
แต่สิ่งสำคัญที่คิดว่าผู้ประกอบการไทยยังขาด และควรต้องเร่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น คือการพัฒนาเทคโนโลยีกระบวนการผลิตให้มีความทันสมัย เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้า อย่างเช่นขณะนี้ผู้บริโภคในประเทศสหรัฐอเมริกาชื่นชอบวอลเปเปอร์ติดผนังที่ทำจากผ้าไหมไทย แต่เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีเครื่องมือที่สามารถอัดผ้าติดกับกระดาษได้โดยที่หน้าผ้าเรียบตึงเสมอกัน ทางบริษัทจึงต้องส่งผ้าไปอัดที่ประเทศญี่ปุ่นเพราะมีเครื่องมือทำได้อย่างเรียบเนียน
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างมาก คือการส่งสินค้าได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนกลายเป็นอุปสรรค์สำคัญที่หากผู้ประกอบการไทยไม่เร่งปรับตัว ในอนาคตสินค้าและผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยอาจถูกแบนจากลูกค้าในตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และยอดจำหน่ายในภาพรวม นอกจากนี้ ในแง่ของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP นั้น ส่วนตัวคิดว่าผู้ประกอบการควรเพิ่มการนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของวัสดุดิบที่นำมาผลิตเป็นสินค้าแต่ละชิ้น เพื่อก่อให้เกิดความรู้สึกพิเศษและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดขายที่ทำให้ผู้บริโภคชาวต่างชาติหลงใหล โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่มักสนใจในรายละเอียดและเบื้องหลังของสินค้า
นางสาวภิญญดา กล่าวเสริมว่า สำหรับเทรนด์แฟชั่นในอนาคตจะเน้นเรื่องของความยั่งยืน รักโลก รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นกระบวนการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย ต้องผลิตจากเส้นใยออร์แกนิก เพื่อให้รบกวนธรรมชาติและสุขภาพผู้สวมใส่น้อยที่สุด ซึ่งผู้บริโภคในต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ส่วนใหญ่จะเลือกซื้อสินค้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ฉะนั้นการปรับกระบวนการผลิตเพื่อลดใช้สารเคมีและพลังงานอย่างเต็มตัว จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าท้ายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยอย่างจริงจัง
Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..