ผลวิจัยพบอาเซียนถูกหมายตาชัยภูมิใหม่ด้านผลิต
Share:
อาเซียนถูกหมายตาเป็นแหล่งผลิตต้นทุนต่ำแห่งใหม่ในเอเชีย แทนที่เขตอุตสาหกรรมในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก (Pearl River Delta) ของจีนซึ่งค่าแรงเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่จีนเริ่มสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันด้านค่าแรง อาเซียนมีโอกาสผงาดขึ้นมาแทนที่ด้วยต้นแทนค่าแรงที่ต่ำกว่าและปริมาณแรงงานที่เหลือเฟือและเศรษฐกิจครัวเรือนที่มั่งคั่งขึ้นในช่วง 20 ปีข้างหน้า
อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอาเซียนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนที่มั่งคั่งขึ้น ยังเป็นปัจจัยเสริมโน้มน้าวให้บริษัทที่มีฐานการผลิตในจีนตัดสินใจย้ายฐานไปยังภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ
ผลการสำรวจล่าสุดของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดพบว่า ผู้ผลิตในจีนที่มีฐานการผลิตใน 9 เมืองของมณฑลกวางตุ้งและมีปริมาณส่งออก 29% ของประเทศ ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายเคลวิน หลิว นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดกล่าวว่า ในระดับมหภาค เรื่องนี้ถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับจีน ค่าแรงที่สูงขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงผลิตภาพที่พัฒนาขึ้นและสินค้าที่ผลิตมีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นการยืนยันถึงการเปลี่ยนผ่านของจีนไปสู่การผลิตสินค้าระดับที่สูงขึ้นและรูปแบบการเติบโตที่ยั่งยืนขึ้น แต่ในระดับองค์กร การขาดแคลนแรงงานเป็นภาระด้านต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับผู้ผลิตในจีน”
จากการสำรวจความเห็นของผู้ผลิตจากฮ่องกงและไต้หวันกว่า 290 คนที่มีฐานการผลิตในจีน กว่า 85% ระบุว่า ภาวะขาดแคลนแรงงานรุนแรงไม่น้อยไปกว่าปีที่ผ่านมา ค่าแรงสำหรับแรงงานอพยพในปีนี้คาดว่าจะสูงขึ้นเฉลี่ย 8.4% เมื่อเทียบกับ 8.1% ในปีที่แล้ว ซึ่งเท่ากับค่าแรงโดยรวมที่แท้จริงจะสูงขึ้น 6.8%
“กว่า 30% ของบริษัทต่างๆ ที่เราสอบถามความเห็นตอบว่า พวกเขามีแผนจะย้ายโรงงานไปยังทำเลใหม่ บางรายบอกว่าจะย้ายลึกเข้าไปพื้นที่ด้านในของประเทศจีน และบางรายมีแผนย้ายไปต่างประเทศ โดยระบุเวียดนามและกัมพูชาเป็นตัวเลือกชัยภูมิใหม่ที่น่าสนใจ” นายเคลวิน กล่าว
ขณะที่ภาคการผลิตของจีนกำลังเปลี่ยนผ่าน ภาคการผลิตในอาเซียนเองก็มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเช่นกัน แม้ว่าค่าแรงในบางพื้นที่ของจีน โดยเฉพาะพื้นที่แถบตะวันตกของประเทศ จะยังคงความสามารถในการแข่งขัน แต่ปริมาณแรงงานที่หดตัวจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้ค่าแรงขยับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเทียบเท่ากับพื้นที่แถบตะวันออกของจีน
เวียดนามซึ่งอยู่ในทำเลที่ใกล้กับประเทศจีน มีโอกาสจะได้อานิสงส์มากที่สุดจากที่การผลิตต้นทุนต่ำโยกย้ายออกจากจีน บริษัทที่ให้ความเห็นในการสำรวจนี้ประเมินว่า การย้ายฐานมายังเวียดนามจะช่วยลดต้นทุนลงได้เฉลี่ย 19% ส่วนการย้ายฐานไปกัมพูชา จะช่วยประหยัดต้นทุนค่าแรงได้ถึง 20%
ภาพรวมของภูมิภาคอาเซียน จะเห็นได้ว่ามีศักยภาพการผลิตที่แข็งแกร่งและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานต้นทุนต่ำกว่าในกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนามและอินโดนีเซีย ภาคการผลิตที่หลากหลายหลายด้าน รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในไทย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ไปจนถึงการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มระดับสูงในสิงคโปร์
“อาเซียนอาจมองประสบการณ์ของจีนเป็นตัวอย่างได้ดี ในการให้ความสำคัญกับการค้าต่างประเทศเพื่อพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการเติบโต ส่วนผลตอบแทนที่จะได้ก็สูงมากเช่นกัน ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเริ่มโยกย้ายออกจากจีนไปยังอาเซียน จึงเป็นโอกาสดีสำหรับภูมิภาคนี้ที่จะไล่ทันจีน และกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก” นายเคลวินกล่าวสรุป
Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..