"อีเบย์" เดินหน้าเจาะ SMEs ดึงคู่ค้าช่วยบุกเบิก Retail Export
Share:
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในบ้านเราคึกคักเป็นอย่างยิ่ง ทั้งผู้เล่นหน้าใหม่แต่ใหญ่ระดับโลกและขาใหญ่ในบ้านเราเองต่างรุกตลาดอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในกลุ่มเว็บไซต์ช็อปปิ้งออนไลน์ที่ต่างระดมสารพัดโปรโมชั่นออกมากระตุกต่อมขาช็อปไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในตลาดแมส
ยักษ์ "อีเบย์" เป็นขาใหญ่อีคอมเมิร์ซต่างชาติอีกรายที่รุกคืบเข้ามาในไทยเช่นกัน แต่เลือกที่จะรุกตลาด "เอสเอ็มอี" เป็นหลัก ด้วยรูปแบบธุรกิจที่เรียกว่า "ค้าปลีกส่งออก" หรือ Retail Export
"เอกชัย รุกขจันทรกุล" หัวหน้าฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "อีเบย์" กล่าวว่า เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2552 ด้วยการร่วมมือกับภาครัฐ เช่น กรมการส่งออก และหน่วยงานด้านอีคอมเมิร์ซ และภาคเอกชน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการขายสินค้าออนไลน์ และวิธีเข้าใช้เว็บไซต์ของกลุ่มอีเบย์ แต่ด้วยโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อในขณะนั้นยังไม่พร้อม ทำให้มีผู้ประกอบการไทยไม่กี่รายที่ใช้อีเบย์เป็นช่องทางส่งออกสินค้าออนไลน์ในลักษณะหน้าร้าน
"ผู้ใช้ยังมองว่าอีเบย์คือเว็บไซต์ที่ผู้บริโภคทั่วไปเอาของที่ตนเองมีหรือของที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับตนเองมาขายพอขายเสร็จก็จบกันไปมีของอีกค่อยขายใหม่ตอนนั้นเรายังลบภาพนั้นไม่ได้จึงไม่สำเร็จตามเป้าหมายแต่ที่กลับมาใหม่ในครั้งนี้ เพราะคิดว่าทุกอย่างเริ่มพร้อม แม้แต่ผู้ประกอบการไทยเองก็เรียนรู้การขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น"
โดย "อีเบย์" จะวางตนเองเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้าปลีกส่งออกที่มีผู้ใช้ทั่วโลก 1.57 แสนล้านรายรอซื้ออยู่ ถือว่ามากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น มีมูลค่าการซื้อขายทั่วโลกในไตรมาสแรกเป็นเงินถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
และการกลับมาทำตลาดของ "อีเบย์" ในประเทศไทยครั้งนี้จะเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ export.ebay.co.thที่มีเนื้อหาเป็นภาษาไทยทั้งหมด เน้นการแนะนำการจำหน่ายสินค้าบนอีเบย์ มีคอลเซ็นเตอร์ 0-2106-6550 รับเรื่องร้องเรียน สอบถามปัญหาด้านการใช้งานได้ รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยจะดึงผู้ค้าสัญชาติไทย 10 อันดับแรกที่มียอดขายสูงสุดมาเป็นผู้ช่วยทำตลาด
ผู้ค้าสัญชาติไทยที่ลงทะเบียนตั้งหน้าร้านใน "อีเบย์" และมียอดขายติด 10 อันดับแรกนั้นจะขายได้มากกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ซึ่งสินค้าที่จำหน่ายได้มากที่สุด คือ อัญมณี รองลงมาเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ และสินค้าแฟชั่น โดยกลุ่มนี้จะเป็นตัวกลางในการติดต่อให้ผู้ที่จำหน่ายสินค้าในลักษณะเดียวกันมาจำหน่ายบนเว็บไซต์อีเบย์ ซึ่งข้อดีในการขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มนี้คือ มีระบบคลังสินค้าร่วมกับร้านค้าด้วยกันทำให้มีคลังสินค้าขนาดใหญ่ และกระจายรายได้อย่างทั่วถึง
"การเข้ามาขายในอีเบย์เริ่มต้นที่ C2C และถ้าขยับไปที่ B2C หรือค้าปลีกส่งออก จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่การจดทะเบียนเปิดหน้าร้าน และค่าเพิ่มจำนวนคลังสินค้าที่จะแสดงให้ผู้ซื้อเห็น ส่วนการซื้อขายจะทำผ่านระบบเพย์พาลทั้งหมด เพื่อสร้างความปลอดภัยระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยระบบจะกักเงินไว้ตรงกลางจนกว่าสินค้าจะถึงที่หมาย ซึ่งเราร่วมกับบริษัทขนส่งทั่วโลกเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ขาย เช่น ในไทยร่วมกับไปรษณีย์ไทย และดีเอชแอล"
สำหรับรายได้ของบริษัทมาจากการหักค่าธรรมเนียมการขาย 3-9% ตามประเภทสินค้า นอกจากค่าจดทะเบียนเปิดหน้าร้านในระบบ ปัจจุบันมีผู้ขายลงทะเบียนเปิดหน้าร้าน 25 ล้านราย มีมูลค่าสินค้าที่ขายออกไปในสหรัฐอเมริกา 40% ที่เหลือเป็นประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นการขายแบบ B2C โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยมียอดขายส่งออกเป็นอันดับ 1
อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์ม "อีเบย์" ใช้ภาษาอังกฤษในการสั่งการทั้งหมด อาจเป็นปัญหากับ "เอสเอ็มอี" ในประเทศไทย จึงจัดกิจกรรมให้ข้อมูลเป็นภาษาไทยเพื่อช่วยให้เข้าใจระบบมากขึ้น ซึ่งประเทศที่เปิดให้ผู้ประกอบการเข้าไปจำหน่ายสินค้าได้ คือ สหรัฐอเมริกา ผ่านเว็บไซต์ ebay.com, ออสเตรเลียที่ ebay.com.au และอังกฤษ ที่ ebay.co.uk เป็นต้น รวมถึงมีแอปพลิเคชั่น Ebay ให้ซื้อสินค้าได้เช่นกัน และในปี 2557 ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ค้าสัญชาติไทย 13% เปิดร้าน และมียอดขายถึง 10,000 เหรียญสหรัฐ/ปี
ที่มา http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1436172069 -- ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Topics:
Share:
Related Articles
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..
‘ไลอ้อน ประเทศไทย’ ขนไลน์อัพสินค้าเสริมอาหาร-ดูแลสุขอนามัยบุกตลาดช่วงโควิด-19
ไลอ้อน ประเทศไทย เผยโควิด-19 หนุนผู้บริโภคตื่นตัวดูแลสุขภาพ ขนทัพผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขอนามัย จัดโปรโมชันรับกระแส รุกเจาะช่องทางออนไลน์ตอบโจทย์ความต้..