ตลาด ตปท.เสี่ยงผิดนัดชำระแบงก์แนะ SMEs ส่งออกเรียกเงินมัดจำ-ทำประกัน
Share:
แบงก์แนะลูกค้าส่งออกกรองประวัติ-รีเช็กฐานะการเงินคู่ค้าต่างประเทศเข้ม ผวาโดมิโนเศรษฐกิจโลกซบสะเทือนสภาพคล่อง-ฉุดยอดขายวูบ ชี้บางรายออกอาการขอลดออร์เดอร์กะทันหัน-ขอยืดเครดิตเทอมเพิ่มอีกเดือนครึ่ง แบงก์แนะวิธีปิดเสี่ยงเรียกเงินค่ามัดจำ 30-50% พร้อมชูทำประกันภัยสินเชื่อทางการค้า
นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เปิดเผยว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นสะท้อนจากคู่ค้าบางรายชำระค่างวดสินเชื่อล่าช้าจากปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวมากขึ้น
ทั้งนี้จากการสอบถามของธนาคารพบว่าการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจส่งผลกระทบลามเป็นลูกโซ่ ที่ผ่านมาจึงเห็นการขอยืดระยะเวลาการชำระค่าสินค้า (เครดิตเทอม) ระหว่างกันเพิ่มขึ้นบ้าง จากที่เคยให้ 90 วัน ก็ขอเพิ่มเป็น 120-135 วัน หรือบางรายขอลดออร์เดอร์(คำสั่งซื้อ) ทั้งลอตใหม่และลอตเก่าลงกะทันหัน บางรายก็ยกเลิกทั้งหมด ด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กัน เช่น คู่ค้ามีสภาพคล่องตึงตัว บางรายอ้างสินค้าที่ส่งไปไม่ได้มาตรฐานทั้งที่ค้าขายกันมานาน เป็นต้น
"คู่ค้าต่างประเทศที่มีปัญหานั้น กระจายวงกว้างในหลายประเทศ ขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า และประเทศที่คู่ค้าตั้งอยู่ เช่น ประเทศในฝั่งยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศ ส่วนสินค้าก็มีทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารทะเล เป็นต้น" นายจิรัชยุติ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แบงก์มีคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยต้องวิเคราะห์คู่ค้าให้ชัดเจนว่ามีความมั่นคงทางการเงินเพียงใด และมีความสามารถชำระค่าสินค้าหรือไม่ โดยคู่ค้ารายใหม่หรือตลาดใหม่ ๆ
อาจต้องเพิ่มเงื่อนไขการชำระเงิน เช่น ทำสัญญาขอมัดจำค่าสินค้าก่อนอย่างน้อย 30-50% ของราคารวม หรือระหว่างผลิตอาจต้องขอมัดจำเพิ่มเป็นระยะ ๆ ส่วนกรณีลูกค้าเก่าต้องตรวจสอบข้อมูลทางการค้าเป็นระยะ ๆ หรืออาจปิดความเสี่ยงทางการเงินเพิ่มขึ้น ผ่านการทำเครดิตการันตีหรือทำ L/C (Letter of Credit) เพื่อประกันว่าผู้ขายจะได้รับเงินค่าสินค้าครบถ้วน และผู้ซื้อจะได้สินค้าตามสั่ง เป็นต้น
นายอุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เห็นคู่ค้าปรับลดออร์เดอร์ระหว่างกันมา 1-2 ปีแล้ว ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและไม่ได้มาจากธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือมาจากประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นผลกระทบที่กระจายตัว โดยที่ผ่านมาแบงก์พยายามเข้าไปดูแลลูกค้า พร้อมแนะนำให้ปรับตัว เช่น การหาตลาดใหม่ จีน อินเดีย หรือกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ซึ่งลูกค้าบางรายก็ปรับตัวได้ดี แต่บางรายก็ปรับตัวได้ลำบาก เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง
"ผลกระทบมีมานานแล้ว เพราะดีมานด์ในตลาดโลกมีปัญหา ที่ผ่านมา แบงก์ได้พยายามให้ลูกค้าหาทางปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งลูกค้าเราก็ยอมทำมากถึง 80% ของจำนวนลูกค้าสินเชื่อธุรกิจภาคนำเข้า-ส่งออก ที่มีอยู่ 30-40% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาท" นายอุดมศักดิ์กล่าว
นายจารพัฒน์ พานิชยิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายรับประกันการส่งออก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ กล่าวว่า การป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการทำประกันภัยสินเชื่อทางการค้า มีตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าประกันภัยสินเชื่อทางการค้าก็ไม่ได้ขยับตัวมากนัก พบว่า ลูกค้ารายใหญ่มีมูลค่าทำประกันภัยสินเชื่อทางการค้า 70% เอสเอ็มอี 30% ของมูลค่าสินค้า
ขณะที่อัตราความเสียหายต่อเบี้ยประกันภัย (ลอสเรโช) ขึ้นอยู่กับประเภทของอุตสาหกรรมและความเสี่ยงของประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลต่อราคาเบี้ยประกันภัยที่แตกต่างกัน โดยเบี้ยเริ่มต้นที่ 0.1% ขึ้นไป
นายณัฐพันธ์ พาณิชย์ชะวงศ์ ผู้จัดการแผนกรับประกันภัยสินเชื่อทางการค้า บริษัทนิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ ในกลุ่มเอไอจี ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีเบี้ยประกันภัยทางการค้ามากกว่า 150 ล้านบาท แบ่งเป็นการคุ้มครองในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40% ขณะที่ลอสเรโชเพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลักเช่นกัน ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้ปีนี้บริษัทมีเป้าหมายขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและใหญ่ ที่มีเงื่อนไขเงินเชื่อ (เครดิต) วงเงิน 300 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป โดยเบี้ยประกันอยู่ที่ 0.1-0.3% ของทุนเอาประกันภัย โดยเบี้ยขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้ซื้อและประเทศผู้ซื้อสินค้า
ที่มา http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1436948415 -- ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..