เศรษฐกิจซบขายของไม่ได้ฉุดสินเชื่อเอสเอ็มอี
Share:
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ยอมรับว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีปีนี้อาจขยายตัวไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ 5-6% จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งถือว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยังหดตัวต่อเนื่อง ประกอบกับหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย ผู้ประกอบการไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ตามที่วางเป้าหมายไว้โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ สินเชื่อเอสเอ็มอีขยายตัวประมาณ 4%
“สินเชื่อเอสเอ็มอีถึงแม้ 6 เดือนจะโต 4% แต่ก็ถือว่าต่ำกว่าเป้าตอนต้นปีที่วางไว้ 8-9% ซึ่งที่ผ่านมาทำให้เราหั่นเป้าลงมาเหลือ 5-6% แล้ว ถ้าสถานการณ์ยังแย่เหมือนครึ่งปีแรก คนก็ไม่ขยายธุรกิจ ไม่ต้องการสินเชื่อ เราก็หวั่นว่าเป้าที่วางไว้ 6% อาจไปไม่ถึงฝั่งก็เป็นไปได้” นายพัชรกล่าว
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ของสินเชื่อเอสเอ็มอีขยับเพิ่มขึ้นมาจากต้นปี โดยปัจจุบันอยู่ที่ 2.92% และทำให้ธนาคารต้องปรับเป้าหมายสิ้นปีนี้อยู่ที่ 3% จากเป้าหมายเดิม 2.48% สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเศรษฐกิจชะลอตัวลง และความต้องการขยายธุรกิจของลูกค้าลดลง
สำหรับวงเงินสินเชื่อเก่าของลูกค้าปัจจุบันยังมีการเติบโตได้เล็กน้อย เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังมีความต้องการเงินทุนไว้ใช้เป็นเงินหมุนเวียนและป้องกันความเสี่ยงในการบริหารสต๊อกสินค้าเมื่อยอดออเดอร์สินค้าลดลงทำให้มีความจำเป็นต้องใช้วงเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัว
“เศรษฐกิจไทยทุกคนเห็นตรงกันว่าไม่ค่อยดี จากที่ต้นปีมองแนวโน้มเศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่ตอนนี้ภาพนั้นไม่ใช่แล้ว ส่งออกก็ยังไม่ดีแม้ว่าค่าเงินบาทจะอ่อนตัว แต่ตัวสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการบริโภคในประเทศ ซึ่งตอนนี้ยังไม่โตขึ้น เพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และรายได้ครัวเรือนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น และตอนนี้ราคาพืชผลการเกษตรก็ตกต่ำ ฉุดรายได้จากภาคเกษตรกรลงไปอีก เอสเอ็มอีหลายรายขายของไม่ได้ สิ่งที่ผลิตมาก็เป็นสต๊อกค้าง ตอนนี้ผู้ประกอบการแต่ละรายกระทบมากยอดขายตก ความสามารถในการทำกำไรลดลง อยากให้ภาครัฐช่วยภาคเอสเอ็มอีให้มีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น ช่วยหาวิธีกระตุ้นการขาย” นายพัชร กล่าว
ส่วนความคืบหน้าจากการที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบนั้น ปัจจุบันคิดเป็นยอดวงเงินสินเชื่อที่เข้าโครงการทั้งหมด อยู่ที่ 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการเข้าไปช่วยเหลือ และปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่ลูกค้าจะผิดนัดชำระ โดยมีทั้งลดดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งธนาคารได้พิจารณาลดดอกเบี้ยอย่างเต็มที่สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบหนักเพื่อให้ลูกค้าดำเนินธุรกิจได้ และการพักชำระเงินต้นได้นานสูงสุด 12 เดือน ประกอบกับธนาคารยังสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการลงทุนเพิ่ม หรือเพิ่มสภาพคล่อง
นายพัชรกล่าวด้วยว่า รายได้รวมในส่วนงานสินเชื่อเอสเอ็มอี 6 เดือนที่ผ่านมาขยายตัว 8% จากเป้าทั้งปีอยู่ที่ 9-10% โดยมาจากรายได้ดอกเบี้ยมากกว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย
ที่มา แนวหน้า
Topics:
Share:
Related Articles
Buzzebees ผนึก Sabuy ทรานส์ฟอร์มธุรกิจค้าปลีก สร้าง Synergy Model ภายใต้ชื่อ บริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด
บัซซี่บีส์ และ SABUY ได้จับมือร่วมทุนด้วยสัดส่วน 50:50 โดยได้ร่วมดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ “บริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด” เติมเต็มในการสร..
EXIM BANK เติบโตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีจากการปรับองค์กรครั้งใหญ่เพื่อเป็นผู้นำ ‘องค์กรการเงินเพื่อการส่งออก’ ระดับโลก
แม้ปี 2563 ต้องเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 EXIM BANK ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมาย เป็นผู้นำองค์กรการเงินเพ..
สตีเบล เอลทรอน ผนึกพันธมิตร เฮลท์แลนด์ ขยายไลน์มุ่งเจาะตลาดสปาเต็มรูปแบบ
สตีเบล เอลทรอน ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ ฮีทปั๊ม (Heat Pump) เครื่องปั๊มความร้อนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้บริการ ณ เฮลท์แลนด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ในพัทยาใ..