หั่นจีดีพี เหลือ 2.7-3.2% เศรษฐกิจโลกชะลอตัว-สินค้าเกษตรตกต่ำ
Share:
สศช.หรือสภาพัฒน์ หั่นจีดีพีปี’58 จาก 3-4% เหลือแค่2.7-3.2% เหตุเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งออกติดลบ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ยังหวังลงทุนภาครัฐ-การท่องเที่ยว และค่าเงินบาทอ่อนมาช่วยหนุนส่งออกให้ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สศช.ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) หรือเศรษฐกิจปี 2558 เหลือเพียง 2.7-3.2% ต่อปี จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้3-4% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก การขยายตัวจำนวนนักท่องเที่ยวในอัตราที่สูง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะอยู่ที่ 30 ล้านคน
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทในครึ่งปีหลังปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์ และราคาน้ำมันและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะ -3.5% ต่อปี จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 0.2% ต่อปี ด้านการบริโภคของครัวเรือน 1.8% และการลงทุนรวมขยายตัว 6.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง (-0.7)-(-0.2) และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.8% ของจีดีพี
สำหรับข้อจำกัดที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลง การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2558 รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการใช้จ่าย เงินงบประมาณและขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ,การดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี, การแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคเกษตรโดยการดูแลต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการลดลงของราคานำเข้าและการอ่อนค่าของสกุลเงินในแหล่งนำเข้าสำคัญๆ การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการรวมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อยและการส่งเสริมการทำสัญญาเช่าที่ดินทางการเกษตรในลักษณะการแบ่งปันผลผลิตแทนการคิดค่าเช่าในลักษณะเหมาจ่าย
นอกจากนี้ยังต้องประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนในการแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกที่สำคัญๆ และการดูแลค่าเงินบาทให้ปรับตัวสอดคล้องกับสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง การดูแลราคาสินค้าในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบนำเข้าสำคัญๆ ให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาตลาดโลกและการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน การลดความล่าช้าและข้อจำกัด ในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ และการแก้ปัญหาการค้าแรงงานข้ามชาติและปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย
นายอาคมกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2558 ขยายตัว 2.8% จากไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวได้ 3% ส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัว2.9% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัว 0.2% ในช่วงครึ่งแรก ของปี 2557 และ 1.6% ในช่วงครึ่งหลัง ของปี 2557
ด้านการใช้จ่าย การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวสูงของการลงทุนภาครัฐตามความคืบหน้าของการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ และการส่งออกบริการที่ขยายตัวสูงและเร่งขึ้นจากไตรมาสแรกตามการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่มีต่อสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยทางการเมืองในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคครัวเรือนและภาครัฐ ในขณะที่การส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลกและการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้า
ขณะที่ภาคต่างประเทศการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 52,657 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.5% โดยปริมาณการส่งออกลดลง 3.8% และราคาสินค้าส่งออกลดลง 1.8% ในด้านการผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวสูง สาขาบริการอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง ตามการส่งออก อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ 0.9% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับ -1.1% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 137,694 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.2% ของจีดีพี
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท.กล่าวถึงกรณีที่สศช. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้เหลือโต 2.7-3.2% ว่า เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่ธปท.ประมาณการไว้ โดยเศรษฐกิจไทยยังมีเสถียรภาพและมั่นคง ทั้งอัตราแลกเปลี่ยนดุลบัญชีเดินสะพัดการจ้างงานและเงินเฟ้อ เศรษฐกิจยังยิ้มได้แม้หน้าตาจะไม่ผ่องใส ทั้งนี้หากรัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถทำได้ ถ้ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้วางรากฐานในอนาคต และบรรเทาความเดือดร้อนที่ตรงจุด โดยเฉพาะเกษตรกร และเอสเอ็มอี
“แบงก์ชาติได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลาย ด้านอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย และปฏิรูประบบสถาบันการเงินให้เข้มแข็งไว้อยู่แล้ว จึงไม่มีความกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” นายประสารกล่าว
ที่มา แนวหน้า
Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..