คลังชงใช้ ม.44 ดึง SME เข้าระบบแลกยกเว้นสอบภาษีย้อนหลัง
Share:
คลัง ชงนายกฯใช้ "มาตรา 44" หนุนหลัง"กรมสรรพากร" งัดแผนยกเว้นสอบภาษีย้อนหลัง SMEs แลกกับข้อตกลงให้เอสเอ็มอีใช้บัญชีเดียว ประสานแบงก์ตรวจสอบ "บัญชียื่นขอสินเชื่อ" ต้องเป็นบัญชียื่นภาษี พร้อมชงร่าง พ.ร.ฎ.ลดภาษีเอสเอ็มอีเหลือ 10% เว้นภาษีผู้ประกอบการใหม่ 5 ปี
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมแนวทางเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ออกประกาศกฎหมายรองรับมาตรการพิเศษที่จะดึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้กรมสรรพากรไม่เข้าไปตรวจสอบภาษีย้อนหลัง แลกกับการให้เอสเอ็มอีรับรองว่าจะใช้บัญชีเดียว ทั้งสำหรับการยื่นภาษี การจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ และการยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
"เหตุที่ใช้มาตรา 44 เพราะประมวลรัษฎากรไม่ได้เปิดช่องให้ยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ดังนั้นกฎหมายปกติจะไม่มีอำนาจให้ทำได้ จึงต้องใช้กฎหมายพิเศษเพื่อให้กรมสรรพากรมีหลังพิง แต่สิ่งที่ทำนี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรม เพราะนิรโทษกรรมจะถือว่าที่ผ่านมาไม่ใช่ความผิด หรือผิดกลายเป็นถูก ขณะที่มาตรการใหม่ที่จะออกมานี้จะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน จะมีการกำกับดูแล หากเอสเอ็มอีมีการทำผิดก็จะมีเงื่อนไขให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบย้อนหลัง ได้" แหล่งข่าวกล่าว
พร้อมกับย้ำว่า เอสเอ็มอีที่จะเข้าร่วมโครงการได้ต้องไม่มีประวัติเสียหาย เช่น ใช้ใบกำกับภาษีปลอม หรือจงใจหลีกเลี่ยงภาษี แต่กรณีที่ยื่นประมาณการเสียภาษีขาดไปบ้าง แบบไม่ได้ตั้งใจก็จะให้เข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งกรมสรรพากรจะไม่ไปดูย้อนหลัง แต่จะคิดภาษีแค่ปีปัจจุบัน นับจากเข้าร่วมโครงการและปีต่อ ๆ ไปข้างหน้า โดยน่าจะเริ่มได้ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป
"มาตรการนี้ไม่ได้ทำให้ รัฐสูญเสียเม็ดเงินเพราะถ้าไม่มีโครงการก็เก็บภาษีไม่ได้อยู่ดี ขณะเดียวกันเอสเอ็มอีที่ประกอบกิจการ ปีแรก ๆ ไม่ค่อยมีกำไรอยู่แล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพุธที่ 30 ก.ย.นี้ น่าจะมีการเสนอร่างกฎหมายพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1) มาตรการการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิ ตั้งแต่ 300,001 บาทขึ้นไป จากเดิม 15% และ 20% ของกำไรสุทธิ เป็น 10% ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 31 ธ.ค. 2559
และ 2) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Startup) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2558 ถึง 31 ธ.ค. 2559 เป็นเวลา 5 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน ผู้ประกอบการที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีต้องมีคุณสมบัติ คือ 1.เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ดิจิทัล และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น 2.ต้องจดแจ้งการขอใช้สิทธิกับกรมสรรพากร 3.ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายบีโอไอ และ 4.ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศ
นาย อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษาโปรแกรมการลงบัญชีอย่างง่าย เพื่อช่วยให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนำไปใช้ จะได้ลงบัญชีอย่างถูกต้องโดยปัจจุบันธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ในระบบมีแค่ราว 500,000 ราย จากเอสเอ็มอีทั้งหมดที่มีประมาณ 1.9 ล้านราย
"ระยะต่อไป จะดำเนินการให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องทั้งหมด ในลักษณะการทำบัญชีเดียว และจะให้โอกาส ยกเว้นการเก็บภาษีย้อนหลังทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาเคยยกเว้นการเก็บภาษีหลายครั้ง แต่ยังกลับเข้าสู่ภาวะเดิม แต่ครั้งนี้หากเสียภาษีไม่ถูกต้อง ก็จะเก็บภาษีย้อนหลังโดยไม่มีการยกเว้น" นายอภิศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้จะประสานให้สถาบันการเงินเข้มงวดเรื่อง การปล่อยสินเชื่อกับนิติบุคคลที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษี โดยจะร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อให้ใช้บัญชีเดียวกับที่ยื่นเสียภาษีให้กับกรมสรรพากร
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าขณะนี้มาตรการที่จะออกมายังไม่ชัดเจน อยู่ระหว่างปรับแนวคิดกันอยู่ แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมทางภาษีแน่นอน และต้องขอดูในรายละเอียดก่อน
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
Topics:
Share:
Related Articles
ทรู 5G แชร์ประสบการณ์อัจฉริยะขั้นสุด ใน “CAPTURE YOUR EPIC TRUE 5G MOMENT
ทรู 5G ล้ำสุดในไทย จัดเต็มสร้างประสบการณ์อัจฉริยะขั้นสุดกับ ‘CAPTURE YOUR EPIC TRUE 5G MOMENT’ กิจกรรมสุดเอ็กซ์คลูซีฟต้อนรับการเปิดตัว Samsung Galax..
Buzzebees ผนึก Sabuy ทรานส์ฟอร์มธุรกิจค้าปลีก สร้าง Synergy Model ภายใต้ชื่อ บริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด
บัซซี่บีส์ และ SABUY ได้จับมือร่วมทุนด้วยสัดส่วน 50:50 โดยได้ร่วมดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ “บริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด” เติมเต็มในการสร..
EXIM BANK เติบโตก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีจากการปรับองค์กรครั้งใหญ่เพื่อเป็นผู้นำ ‘องค์กรการเงินเพื่อการส่งออก’ ระดับโลก
แม้ปี 2563 ต้องเผชิญความท้าทายจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 EXIM BANK ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจและเป็นไปตามเป้าหมาย เป็นผู้นำองค์กรการเงินเพ..