"โสฬส" ฟ้องบอร์ด SME Bank อ้างคำสั่งไม่ชอบ
Share:
"โสฬส" ยื่นศาลปกครองฟ้องบอร์ด SME Bank ใช้คำสั่งโดยมิชอบ ด้านบอร์ดเชื่อไม่น่าฟ้องได้ เหตุสัญญาจ้างไม่ได้เป็นข้าราชการ พร้อมยืนยันหลักฐานแน่ ทำธนาคารเสียหายจริง
นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ (ธพว.) เปิดเผยว่า นายโสฬส สาครวิศว อดีตกรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ ที่ถูกคณะกรรมการของธนาคารมีคำสั่งเลิกจ้างไปเมื่อก่อนหน้านี้นั้น ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อให้คำสั่งเลิกจ้างของกรรมการไม่ชอบ และให้ยกเลิกคำสั่ง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการยังไม่ได้รับหมายศาลจากศาลปกครอง ซึ่งคณะกรรมการติดตามอยู่ว่าทางศาลปกครองจะรับฟ้องหรือไม่
"คณะกรรมการทราบว่า นายโสฬสยื่นฟ้องศาลปกครองแล้ว แต่ศาลยังไม่ได้พิจารณารับฟ้อง ซึ่งกรรมการดูแล้วว่าไม่น่าจะฟ้องได้ เพราะนายโสฬสทำงานในลักษณะสัญญาว่าจ้างไม่ได้เป็นข้าราชการ" นายนริศ กล่าว
นายนริศ กล่าวอีกว่า ได้เตรียมรับมือกับนายโสฬส ตั้งแต่ก่อนจะลงมติเลิกจ้างแล้ว เพราะเชื่อว่า นายโสฬส จะดำเนินการฟ้องศาลแรงงาน และศาลแพ่งกับกรรมการของธนาคารต่อไป แต่กรรมการมีหลักฐานเอกสารจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่พบว่า การบริหารของอดีตกรรมการผู้จัดการมีความบกพร่องทำเกินอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ จนทำให้ธนาคารเกิดความเสียหาย
สำหรับการแก้ไขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล ของธนาคารที่มีจำนวนมากปัจจุบันประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท หรือ 15-18% ของหนี้ทั้งหมด ได้สั่งให้คณะกรรมการฟื้นฟูเร่งสรุปแผน เพราะหนี้เสียของธนาคารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะที่ผ่านมามีการบันทึกหนี้เสียต่ำกว่าความเป็นจริง
นายนริศยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้ธนาคารยังมีปัญหาจะถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการปรับปรุงสำนักงานสาขา เนื่องจากไม่มีการเปิดประมูลทำให้ถูกมองว่ามีการฮั้วว่าจ้าง และมีคนไปร้องเรียนเรื่องนี้กับดีเอสไอ ซึ่งหากพบว่ามีมูล ผู้ที่เกี่ยวข้องธนาคารก็จะถูกดำเนินคดีต่อไป
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2555 คณะกรรมการธนาคารได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการเลิกจ้าง นายโสฬส เนื่องจากพบว่าผลสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อชะลอเลิกจ้าง ระบุว่ามีการปล่อยสินเชื่อเกินกว่าที่ได้รับการอนุมัติ มีการฝ่าฝืนข้อบังคับ ออกคำสั่งแก้ไขสาระสำคัญ จนทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายจากดอกเบี้ยที่ควรได้รับ แต่ไม่ได้รับ เป็นอัตราขั้นต่ำถึง 311 ล้านบาท
โดยมติการเลิกจ้างดังกล่าวมีผลทันที และไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งให้นายโสฬสรับทราบก่อนล่วงหน้าโดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ และหลังจากนี้จะมีการตรวจสอบความเสียหายทั้งหมด เพื่อดำเนินการเอาผิดทางแพ่งกับนายโสฬส เพื่อให้มีการจ่ายชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับธนาคาร ส่วนการเอาผิดทางอาญาอาจต้องมาพิจารณาดูอีกทีว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริงหรือไม่
ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการสอบข้อเท็จจริง ระบุว่า นายโสฬส ปล่อยสินเชื่อชะลอเลิกจ้างเกินที่กำหนดไว้ให้ปล่อย 7 พันล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติปล่อยไปถึง 2.2 หมื่นล้านบาท โดยมีการเซ็นสัญญาแล้ว 1.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีการเบิกเงินกู้ไปแล้ว 1.4 หมื่นล้านบาท ทำให้ธนาคารเสียหาย 311 ล้านบาท ไม่รวมกับความเสียหายจากเอ็นพีแอลที่เกิดขึ้นอีกราว 1.1 พันล้านบาท หรือ 7.99% โดยหลังจากนี้ คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจะตรวจสอบเรื่องการตบแต่งบัญชี การบันทึกลูกหนี้เอ็นพีแอลต่ำกว่าความเป็นจริง และเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เอ็นพีแอลไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อชะลอเลิกจ้าง
Topics:
Share:
Related Articles
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..
‘ไลอ้อน ประเทศไทย’ ขนไลน์อัพสินค้าเสริมอาหาร-ดูแลสุขอนามัยบุกตลาดช่วงโควิด-19
ไลอ้อน ประเทศไทย เผยโควิด-19 หนุนผู้บริโภคตื่นตัวดูแลสุขภาพ ขนทัพผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขอนามัย จัดโปรโมชันรับกระแส รุกเจาะช่องทางออนไลน์ตอบโจทย์ความต้..