ก.อุตฯ ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการSMEsรุ่นใหม่ 4 พันราย ในปี60
Share:
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของโครงการ SMEs Spring Up ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรมเป็นเวลา 7 สัปดาห์ โดยจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมนี้ จากที่ได้มีการคัดเลือก ผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ อายุระหว่าง 30-40 ปี หรือเป็นทายาทธุรกิจ ที่มีความสำเร็จในระดับหนึ่งเข้าร่วมโครงการครอบคลุมหลายสาขากิจการ เช่น อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ดิจิทัล แฟชั่น ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นจากทางกระทรวงฯ และผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่น จำนวนรวม 110 ราย ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาทต่อรุ่น และในช่วงปลายปีนี้จะเปิดอบรมอีก 2 รุ่น รวม 200 ราย ประมาณเดือนกันยายน และพฤศจิกายน 2559 ตามลำดับ โดยโครงการดังกล่าวเป็นหลักสูตรการพัฒนา SMEs ระดับสูงสุดเกิดขึ้นภายใต้คณะกรรมการร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง ให้กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสาขาธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่ระดับสากล โดยจะเป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดเป็นประจำทุกปี
ในปี 2560 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับงบประมาณ 80 ล้านบาท มีเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 4 พันราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเทคสตาร์ทอัพ 900 ราย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการสร้างธุรกิจด้วยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป หรือเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ 2.8 พันราย และกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่เริ่มต้นทำธุรกิจอีก 300 ราย โดยในกลุ่ม“เทค สตาร์ทอัพ”ใช้งบประมาณต่อหัวประมาณ 4-5 หมื่นบาท เน้นด้านบริหารจัดองค์กร และเทคโนโลยี แต่จะเกิดเป็นธุรกิจใหม่ได้น้อยกว่าการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั่วไป ที่ใช้งบประมาณต่อหัวประมาณ 2-3 หมื่นบาท ซึ่งที่ผ่านมามีอัตราความสำเร็จเมื่อจบโครงการ อยู่ที่ 20% ที่ผ่านมาธุรกิจใหม่ที่ประสบความสำเร็จ เกิดจากการมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง มีความมุ่งมั่น และจัดทำบิสซิเนสโมเดลที่ถูกต้อง ส่วนพวกที่ล้มเหลว เกิดจากการจัดทำบิสสิเนสโมเดลไม่ถูกต้อง ดังนั้น โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบารใหม่ของกระทรวงฯ จึงเน้นจัดระบบความคิดใหม่ สินค้าต้องตอบโจทย์ว่าจะขายใคร และมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนก็จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีนโยบายปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมครั้งใหญ่โดยยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล โดยมีกรอบการดำเนินงาน 3 ด้านด้วยกัน ดังนี้ 1.การปฏิรูปอุตสาหกรรม ประกอบด้วย (1) การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยการเพิ่มศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) นำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมอนาคต (2) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถสู่ SMEs 4.0 มีการเชื่อมโยง SMEs กับวิสาหกิจขนาดใหญ่ การสร้างผู้ประกอบการที่ชาญฉลาด(Smart Enterprises) ซึ่งขับเคลื่อนธุรกิจด้านความรู้ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแตกต่าง และยกระดับ OTOP สู่วิสาหกิจขนาดเล็กที่ฉลาด (Smart Micro-Enterprises) สามารถปรับตัวและใช้เทคโนโลยีความรู้มาช่วยในการดำเนินธุรกิจ และ (3) การยกระดับผลิตภาพ มาตรฐานและนวัตกรรมในสถานประกอบการ การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตสีเขียว และส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม เพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
2.การปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน/เขตเศรษฐกิจพิเศษ/นิคมอุตสาหกรรม พัฒนาทุนมนุษย์ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ระบบความร่วมมือแบบประชารัฐ มีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน ภาคการเงิน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย และปรับกลไกภาครัฐ กฎระเบียบ ให้เอื้อต่อการค้าและการลงทุน 3.การสร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลก ด้วยการเชื่อมโยงการผลิต/การตลาดโดยใช้ดิจิทัล การส่งเสริมและพัฒนาคลัสเตอร์ใหม่ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต การค้าและการลงทุนในภูมิภาค

Topics:
Share:
Related Articles
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..
‘ไลอ้อน ประเทศไทย’ ขนไลน์อัพสินค้าเสริมอาหาร-ดูแลสุขอนามัยบุกตลาดช่วงโควิด-19
ไลอ้อน ประเทศไทย เผยโควิด-19 หนุนผู้บริโภคตื่นตัวดูแลสุขภาพ ขนทัพผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขอนามัย จัดโปรโมชันรับกระแส รุกเจาะช่องทางออนไลน์ตอบโจทย์ความต้..