พณ.บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ คาดปีแรกมีSMEsใช้ประโยชน์กว่า3แสนราย
Share:
‘พาณิชย์’ ผนึกพลังประชารัฐพร้อมให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจตั้งแต่ 4 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป คาดปีแรกจะมีผู้ประกอบธุรกิจSMEs และกลุ่ม Startup ใช้ประโยชน์กว่า 3 แสนราย
กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมแล้วที่จะให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจตั้งแต่วันนี้!! (4 กรกฎาคม 2559) คาดการณ์มี SMEs และกลุ่ม Startup รอใช้บริการแล้วกว่า 3 แสนราย เชื่อ!! กฎหมายใหม่ฉบับนี้จะช่วยปลดล็อคข้อจำกัดทางการเงินทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ง่ายขึ้น อันดับความง่ายในการทำธุรกิจของ World Bank ก็จะดีขึ้น และช่วย ‘ปลุกพลัง’ นักธุรกิจฐานราก สร้างเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนไปสู่อนาคตอย่างเข้มแข็ง
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (4 ก.ค.59) กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเริ่มให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจเป็นวันแรก นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของธุรกิจไทยที่จะสามารถเข้าถึงเงินทุนจากสถาบันการเงินเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเงินทุนในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต โดยที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตรียมความพร้อมในการให้บริการรับจดทะเบียน แก้ไข และยกเลิกการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลการจดทะเบียนฯ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 พร้อมทั้งประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องคือ กระทรวงการคลัง ในการร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติตามกฎหมาย ประกอบกับหน่วยงานทรัพย์ที่มีทะเบียน อาทิ กรมที่ดิน และกรมการขนส่งเพื่อกำหนดแนวทางการแจ้งข้อมูลต่อกรมฯ และสมาคมธนาคารไทยได้ร่วมกำหนดวิธีการจดทะเบียน รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
สำหรับหน้าที่สำคัญของกรมฯ เกี่ยวกับการให้บริการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจมี 5 ด้านคือ 1) การจัดทำโครงสร้างองค์กรและเตรียมพร้อมบุคคลากร รองรับการจัดตั้งกองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นภารกิจใหม่ของกรมฯ 2) การออกกฎหมายลำดับรอง จำนวน 13 ฉบับ เพื่อรองรับการปฏิบัติงาน เช่น กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนและให้ประชาชนตรวจดูข้อมูล 3) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากระบบการจดทะเบียนฯ ทุกกระบวนการจะเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด (e-Secured) สถาบันการเงินจึงสามารถยื่นคำขอต่อกรมฯ ได้ตลอด 24 ชั่วโมงประชาชนสามารถค้นหาข้อมูลการจดทะเบียนได้แบบ Real Time ทั้งนี้ ช่วงเวลาการจดทะเบียนฯ จะมีผลต่อลำดับการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มาขอสินเชื่อในแต่ละสถาบันการเงิน 4) สร้างผู้บังคับหลักประกัน ซึ่งเป็นวิชาชีพใหม่ในวงการธุรกิจไทย โดยกรมฯ ได้ออกประกาศกระทรวงเรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับใบการอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน และจัดทำหลักสูตรการอบรม ขณะนี้ได้ดำเนินการอบรมไปแล้วจำนวน 2 รุ่น รุ่นละ 100 ราย และ 5) สร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อชี้แนะช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแห่งใหม่
รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า “จากนี้ไปกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้อย่างมหาศาล และคาดว่าสถาบันการเงินจะทยอยนำ SMEs และกลุ่ม Startup เข้ามาสู่ระบบการจดทะเบียนฯ กว่า 3 แสนราย ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงคือ ‘ผู้ประกอบการ SMEs’ ที่เข้าถึงเงินทุนได้โดยตรงเพื่อต่อยอดการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า รวมถึงยังสามารถนำทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันอันประกอบไปด้วย กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญา ไปใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจได้ต่อเนื่องจนเกิดสภาพคล่องทางธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ‘สถาบันการเงิน’ ยังสามารถขยายสินเชื่อให้ SMEs และกลุ่ม Startup ได้มากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลงเพราะลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากกฎหมายฯ มีรูปแบบการดำเนินงานที่รวดเร็วเป็นธรรม ท้ายที่สุดผลประโยชน์ทั้งหมดนี้จะตกอยู่ที่เศรษฐกิจไทยที่จะเติบโตขึ้น อีกทั้งส่งผลกระทบเชิงบวกในสายของนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยได้ง่ายขึ้นทัดเทียมกับนานาชาติ และการจัดอันดับด้านการอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (World Bank) ก็จะดีขึ้นตามมาในอนาคตอันใกล้นี้
นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเข้าถึงสินเชื่อเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับธุรกิจ เมื่อมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอก็จะส่งผลดีต่อกระบวนการผลิต เพิ่มการจ้างงาน ทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว การที่ไทยมีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะทำให้ต่างชาติมองว่าไทยมีความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เมื่อกฎหมายฯ ฉบับนี้ได้บังคับใช้แล้วก็จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศและอันดับ Ease of Doing Business ก็จะดีขึ้น โดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านการได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) ที่ในปี 2016 นี้ ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 49 อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลัง มีนโยบายมุ่งส่งเสริมการประกอบธุรกิจมาตลอด รวมถึงการผลักดันให้มีกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจซึ่งกระทรวงฯ อยู่ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกำหนดให้บุคคลทั้งหมด 6 ประเภท สามารถเข้ามาเป็น ‘ผู้รับหลักประกัน’ ตามกฎหมายได้ประกอบด้วย 1) นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ 2) ทรัสตีในนามทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน 3) บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรือผู้ถือหุ้นกู้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 4) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า 5) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ และ 6) ผู้ประกอบธุรกิจแฟคตอริ่ง สำหรับแนวทางการกำหนดประเภททรัพย์สินที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกันเพิ่มเติม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังที่จะกำหนดประเภททรัพย์สินอื่นต่อไป
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจจะเป็น ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น เพราะมีทางเลือกสำหรับการนำหลักประกันที่จะมาใช้ค้ำประกันสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่ง SMEs ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากกฎหมายฉบับนี้มี 2 กลุ่มคือ ‘ผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ (Startup)’ โดยส่วนใหญ่จะไม่มีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกัน และ ‘กลุ่มผู้ประกอบการที่กำลังจะขยายธุรกิจ’ มักจะประสบปัญหาหลักประกันที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการขอสินเชื่อเพิ่ม อย่างไรก็ดีในวันนี้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีความพร้อมทั้ง เรื่องระบบ กระบวนการทำงานและบุคลากรเพื่อรองรับการจดทะเบียนผ่านระบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมถึงได้กำหนดนโยบายการให้สินเชื่อและการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่เอื้อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นด้วย

Topics:
Share:
Related Articles
SME รู้ทันความเสี่ยง เลี่ยงค่าเงินผันผวน ในโครงการ FX Options
จากการที่ค่าเงินบาทผันผวนไปมา อาจจะทำให้ผู้ประกอบการที่ทำการค้าระหว่างประเทศได้รับผลกระทบ หากตั้งราคาซื้อขายหรือคำนวณต้นทุนผิดพลาด รัฐบาลจึงได้จัดทำ..
อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต แต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ประกาศแต่งตั้ง โทมัส วิลสัน ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันช..
บ้านปูจัด “UpImpact” ผลักดันกิจการเพื่อสังคมให้รอดพ้นวิกฤติ ปั้น BC4C กิจการเพื่อสังคมรุ่นต่อไปในปี 2564
บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อการทำงานด้านการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ “Social Enterprise (SE)” ในปี 2563 ผ่านโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ..