เอาให้ชัด! ใช้ “Data” ยังไง ให้ธุรกิจพุ่ง
Share:

Main Idea
- ในยุคที่โลกกำลังขับเคลื่อนด้วยการเติบโตของเทคโนโลยีที่ใครๆ ก็ใช้งานได้ “Data” หรือข้อมูล นับเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อโลกการทำธุรกิจอย่างยิ่ง ดังที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “ยุคนี้ต้องเอาชนะกันที่ข้อมูล”
- แต่ในขณะที่เทคโนโลยีกำลังเติบโตมากขึ้น บางครั้งเราเองก็อาจก้าวไม่ทัน ไม่เข้าใจ และไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจนำเทคโนโลยีอะไรเข้ามาใช้ เราควรตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อน ว่านำสิ่งนี้เข้ามาเพื่ออะไร ใช้ประโยชน์ด้านไหน และส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดถึงแต่เรื่องของดาต้า (Data) อยากนำดาต้ามาใช้ในธุรกิจบ้างล่ะ อยากมีระบบเก็บรวบรวมดาต้าของตัวเองเหมือนอย่างธุรกิจอื่นที่เขามีกันบ้างล่ะ แต่จริงๆ แล้วเคยคิดกันไหมว่า เราจะนำดาต้าหรือระบบเก็บข้อมูลเหล่านั้นเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์อะไรในธุรกิจได้บ้าง? หรือการลงทุนสร้างระบบเหล่านั้นขึ้นมา มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าที่จะลงทุนหรือเปล่า? ไปจนถึงหากมีระบบดาต้าเหล่านั้นแล้ว เราจะสามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่าหรือไม่? สิ่งเหล่านี้ คือ โจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน
หากยังไม่รู้ เรามี 3 คำถามง่ายๆ มาฝากกัน และถ้าตอบได้ครบทุกข้อ แสดงว่าคุณพร้อมที่จะใช้ประโยชน์จากดาต้าแล้วล่ะ!

รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร
อันดับแรกต้องรู้ก่อนว่า เราจะนำดาต้าที่ได้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ให้เกิดผลงอกเงยอะไรทางธุรกิจได้บ้าง รู้ในที่นี่ไม่ใช่เพียงแค่รู้ลอยๆ คิดไปเองว่าหากมีระบบจัดการดาต้าเข้ามาช่วยแล้วจะทำให้ธุรกิจดีขึ้น แต่ต้องรู้ให้ละเอียดก่อนว่าสถิติข้อมูลต่างๆ ที่เราต้องการนั้น คือ ข้อมูลอะไร จะสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาหรือตอบโจทย์ให้กับธุรกิจด้านใดได้บ้าง เพราะสิ่งนี้จะเป็นเหมือนเป้าหมายและแนวทางนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการค้นหา รวมถึงช่วยกำหนดกรอบการทำงานที่ชัดเจนอีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้สามารถประเมินต้นทุนและงบประมาณที่ต้องใช้ เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ ซึ่งหากเราสามารถลงรายละเอียดได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยให้ประหยัดเวลาและลดต้นทุนได้มากทีเดียว

รู้ว่าจะไปหาได้จากที่ไหน
เมื่อรู้ความต้องการแล้วว่าจะใช้ประโยชน์จากดาต้าเหล่านั้นได้อย่างไร ขั้นตอนต่อไป คือ ต้องลองสืบเสาะค้นหาผู้ให้บริการดังกล่าว ซึ่งหลายครั้งที่ผู้ประกอบการรู้ถึงสิ่งที่ต้องการ แต่ติดที่ไม่มีองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยี จึงทำให้ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นค้นหาบริษัทผู้ให้บริการเหมาะสมกับสิ่งที่ตนเองต้องการได้อย่างไร ในที่นี้แนะนำให้ลองเข้าไปขอคำปรึกษาจากผู้รู้ เช่น บริษัทด้านไอที หรือหน่วยงานที่เป็นพี่เลี้ยงและคอยให้ความช่วยเหลือ SME ถ้าจะให้ดีบริษัทเองควรมีทีมงานหรือที่ปรึกษาที่มีความรู้ด้านไอทีเข้าร่วมค้นหาและพูดคุยด้วย เพื่อทำให้การสื่อสารหรือความเข้าใจเทคนิคด้านไอที สามารถทำได้ง่ายขึ้น จากนั้นขั้นตอนต่อไปจึงค่อยลองเปรียบเทียบหาจุดเด่นจุดด้อย คุณภาพงาน ไปจนถึงราคาว่าสามารถรับได้หรือเปล่า คุ้มที่จะลงทุนใช่ไหม

รู้ว่าจะใช้งานอย่างไร
มาถึงขั้นนี้ ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ ที่ผู้ประกอบการซึ่งคิดจะนำระบบจัดการข้อมูลมาใช้สร้างประโยชน์ทางธุรกิจจะต้องเรียนรู้ให้ได้ เพราะคงไม่ดีแน่หากได้มีลงทุนไปแล้ว แต่กลับใช้ประโยชน์จากระบบได้ไม่คุ้มค่า ไม่เรียนรู้ฟังก์ชันการงาน การลงทุนที่จ่ายไปอาจสูญเปล่าได้ อย่างที่กล่าวไปว่าหากผู้ประกอบการไม่ได้มีองค์ความรู้ด้านไอที ก็สร้างทีมงานให้ดูแลด้านนี้ขึ้นมา เพื่อให้ช่วยเป็นตัวกลางในการประสานงานกับผู้ให้บริการอีกที อีกข้อที่สำคัญ คือ เราต้องรู้ด้วยว่าจะนำข้อมูลที่ได้เหล่านั้นมาต่อยอดอะไรในการทำธุรกิจได้บ้าง อาทิ การทำการตลาด การศึกษาความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการออกสินค้าตัวใหม่ หรืออาจรวมไปถึงการวางแผนทิศทางการทำธุรกิจต่อไปในอนาคตด้วย

ในทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่ยังไม่ได้มีขนาดธุรกิจคุ้มกับการลงทุนในการสร้างฐานระบบข้อมูลของตัวเองขึ้นมา แต่สนใจอยากนำดาต้าเข้ามาใช้ประโยชน์ในธุรกิจดูบ้าง อาจลองเริ่มต้นจากเครื่องมือที่เปิดให้ใช้งานได้ฟรี เช่น Google Analytics เพื่อช่วยให้เจ้าของเว็บไซต์สามารถเก็บข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และนำไปใช้วิเคราะห์วางแผนการทำตลาด โฆษณาได้ ไปจนถึงความต้องการ สิ่งที่ผู้เข้าชมเว็บไซต์สนใจ หรือแม้แต่การใช้งานในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เอง Facebook, Line, Instagram ก็สามารถใช้เป็นช่องทางในการเก็บสถิติข้อมูลลูกค้า บางครั้งอาจทำให้รู้ถึง insight ความต้องการที่แท้จริงด้วยก็ได้จากการพูดคุย ขอเพียงไม่ทิ้ง และเก็บนำมาใช้ประโยชน์เท่านั้น

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
Topics:
Share:
Related Articles
จับตา “Double Disruption” ตัวปลุกเทรนด์ดิจิทัลปี ‘64 กับ 4 เรื่องที่ SME ต้องใช้!
ธุรกิจในตอนนี้กำลังเจอกับ Double Disruptions ซึ่งจะอยู่กับเราต่อไปอีกยาวแม้จะหมดจากโควิดไปแล้วก็ตาม และนี่คือ 9 เทรนด์เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เชื่อมโยง..
ไม่ต้องเก่งทุกอย่างทำทุกฟังก์ชั่น เพราะยุคใหม่เขาชนะกันที่ Data Ecosystem
ทำทุกอย่าง พยายามเก่งมันทุกเรื่อง และคาดหวังว่าทุกสิ่งจะคงอยู่ถาวรตลอดไป ความเชื่อทั้งหมดนี้คือ “หลุมพราง” และช่องว่างมรณะ (The Death Gap) ที่นำพาหล..
Epson ใช้เทคโนโลยีพรินเตอร์ช่วยโลก “Wheel for Wild” ปั่นพิทักษ์ป่า รักษาความยั่งยืนให้สังคมไทย
เอปสัน ประเทศไทย บริษัทฯ ได้ขยายขอบเขตของงานซีเอสอาร์มาด้าน Life on Land จัดกิจกรรม Wheel for Wild เพื่อรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกั..