​The Zalvo Arena ธุรกิจที่เป็นมากกว่าแค่สนามฟุตบอล

 


เรื่อง กองบรรณาธิการ

หากพูดถึงเทรนด์กีฬาที่กำลังมาแรง หนึ่งในนั้นย่อมมีชื่อของฟุตบอลอย่างมิต้องสงสัย นอกจากกระแสความคลั่งไคล้ที่เหล่าแฟนฟุตบอลยกทัพไปเชียร์สโมสรทีมโปรดข้างสนามมากมาย ยังต่อยอดให้เกิดธุรกิจกีฬาใหม่ๆ เพื่อรองรับความนิยมในกีฬาประเภทดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วประเทศ


ดังเช่น ที่จังหวัดหัวเมืองใหญ่ทางภาคอีสานอย่างอุดรธานี ก็มีธุรกิจสนามฟุตบอลหญ้าเทียม The Zalvo Arena ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากคนในพื้นที่ ช่วยตอกย้ำเทรนด์กีฬาฟุตบอลได้เป็นอย่างดี โดย ศราวุธ คุณปิติลักษณ์ ผู้ก่อตั้ง The Zalvo Arena เปิดเผยว่า สนามฟุตบอลแห่งนี้เริ่มต้นมาจากความรัก และความสนุกสนานในการเล่นกีฬาฟุตบอลตั้งแต่สมัยเรียนของเขากับเพื่อนๆ จนกระทั่งเรียนจบกลับมาดูแลธุรกิจครอบครัวที่จังหวัดอุดรธานี พบว่าสนามฟุตบอลที่เปิดให้บริการอยู่ในขณะนั้น ยังตอบโจทย์คำว่า ธุรกิจกีฬาได้ไม่เต็มที่นัก ทั้งวัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกยังไม่ครบวงจรอย่างที่ควรจะเป็น จึงได้ริเริ่มสร้างพื้นที่ที่ตอบโจทย์เพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้คนที่รักในการเล่นฟุตบอล

 



“จุดเด่นของสนาม The Zalvo Arena คือ เราได้เลือกใช้วัสดุอุปกรณ์คุณภาพสูงมาให้บริการในราคาที่เหมาะสม การวางแผนที่ดีที่เริ่มตั้งแต่กระบวนการก่อสร้าง เพื่อให้การเล่นเต็มอรรถรสและไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกค้า เช่น คุณภาพของหญ้าเทียมที่เราเลือกใช้เป็นหญ้าเทียมคุณภาพสูง ระดับเดียวกับสนามซ้อมฟุตบอลของสโมสรฟุตบอลที่อังกฤษใช้ เป็นต้น ตลอดจนมีการทบทวนและปรับปรุงการทำงาน และการให้บริการลูกค้าอยู่เสมอในทุกๆ สัปดาห์”


จากประสบการณ์ที่เขาเคยใช้บริการสนามฟุตบอลมาหลายแห่ง ศราวุธได้นำมาปรับให้เข้ากับสภาพสังคมและความต้องการของผู้คนในจังหวัดอุดรธานี พร้อมวางแผนการกระตุ้นตลาดโดยใช้ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ สื่อวิทยุ สื่อทีวีท้องถิ่น รวมทั้งการเข้าติดต่อกับกลุ่มองค์กรธุรกิจและหน่วยงานราชการ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ในโรงเรียนต่างๆ หรือการเข้าเป็นผู้สนับสนุนของทีมฟุตบอลประจำจังหวัด เพื่อเข้าถึงประชาชนทั่วไปที่ชอบฟุตบอลในวงกว้างขึ้น 

 



“เราเน้นทำการตลาดเชิงรุก โดยให้ลูกค้าเห็นถึงคุณภาพที่มากกว่า และได้ทำการตลาดครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งประชาชนทั่วไป พนักงานบริษัท กลุ่มองค์กร นักเรียนนักศึกษา และเยาวชนที่สนใจเรียนวิธีการเล่นฟุตบอลอย่างถูกวิธี โดยแต่ละกลุ่มเราจะเลือกใช้วิธีการทางการตลาดที่แตกต่างกันออกไป แต่เน้นว่าเราต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกกลุ่มลูกค้าให้ได้ และทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกว่า สนามนี้เป็นสนามของพวกเขามากกว่าของเรา”


นอกจากนี้ ทางผู้บริหาร The Zalvo Arena ยังมองกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มากกว่าแค่ผู้มาใช้บริการสนามฟุตบอล นั่นก็คือ กลุ่มผู้ติดตาม เช่น คนรัก ครอบครัว และเด็กๆ ที่มากับผู้ปกครอง จึงได้ต่อยอดสร้างเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ขนาดย่อมที่พรั่งพร้อมไปด้วยสถานที่อำนวยความสะดวกอย่างร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงห้องน้ำสำหรับสุภาพสตรีไว้คอยให้บริการ และยังขยายธุรกิจด้วยการเปิดเป็นโรงเรียนสอนฟุตบอลอีกด้วย ส่งผลให้ The Zalvo Arena กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนเพื่อสุขภาพแห่งใหม่ที่ได้รับความนิยมจากชาวอุดรธานีทุกเพศทุกวัยอย่างรวดเร็ว

 



สำหรับภาพรวมธุรกิจกีฬา และธุรกิจด้านสุขภาพในจังหวัดอุดรธานี ศราวุธกล่าวว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้วต้องถือว่ามีการขยายตัวอย่างมาก และเป็นการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มีธุรกิจเกิดขึ้นครบวงจรสุขภาพตั้งแต่ อาหารเพื่อสุขภาพ สิ่งอำนวยความสะดวกในการออกกำลังกายต่างๆ สถานที่ออกกำลังกายทุกรูปแบบ เช่น ฟิตเนส ศูนย์กีฬาทางน้ำ ฯลฯ ดังนั้น เมื่อตลาดหรือกลุ่มผู้บริโภคมีการขยายตัว ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและการกีฬาก็เกิดขึ้น และเติบโตเพื่อมารองรับเช่นเดียวกัน


ทั้งนี้ ศราวุธยอมรับว่า แม้ในปัจจุบันผู้คนทั้งในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่หัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดต่างหันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้นทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยสภาพสังคมที่เป็นสังคมเมืองมากขึ้นในปัจจุบันทำให้กีฬาประเภทปัจเจก หรือกีฬาที่สามารถเล่นคนเดียวขยายตัวได้กว้างกว่ากีฬาประเภททีม เขาจึงต้องปรับตัวโดยใช้กลยุทธ์การต่อยอดพัฒนาธุรกิจด้วยการขยายสนามฟุตบอลเพิ่มขึ้น และชูจุดเด่นเน้นฟังก์ชันการใช้งานที่ใช้วัสดุพรีเมียมคุณภาพดี พร้อมทั้งเตรียมหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ เช่น แบรนด์ผู้ผลิตชุดกีฬาเพื่อผลิตสินค้าให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการที่สนามโดยเฉพาะ

    


“เรามั่นใจว่าที่ผ่านมาและในขณะนี้เรากำลังนำเสนอสนามฟุตบอลที่ดีกว่าสนามที่กลุ่มลูกค้าเคยใช้บริการ ผมจะใช้หลักการเปรียบตัวเองเป็นลูกค้า ตั้งแต่ลูกค้าคิดอยากเล่นฟุตบอล ลูกค้าจะต้องเจออะไรและต้องการอะไรบ้าง จากนั้นผมจะตอบโจทย์นั้นๆ ให้มากกว่าที่ลูกค้าต้องการอยู่เสมอ และที่สำคัญ เราทำการสำรวจตลาดไม่ใช่เพียงครั้งเดียวก่อนทำธุรกิจ หากแต่เราสำรวจความต้องการ สำรวจความรู้สึก และสำรวจอารมณ์ของตลาด และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดให้ได้นั่นเอง”


ในอนาคตศราวุธหวังว่า กระแสรักสุขภาพและการออกกำลังกายที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบันจะยังคงอยู่และมีแนวโน้มมากขึ้น เพราะเยาวชนในปัจจุบันที่ได้รับการปลูกฝังการออกกำลังกายก็จะกลายเป็นตลาดหลักในอนาคตให้บรรดาธุรกิจกีฬาประเภทต่างๆ ต้องแย่งชิงส่วนแบ่งระหว่างกัน ซึ่งสำหรับจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงนั้น เขามั่นใจว่าจะได้เห็นธุรกิจกีฬาและธุรกิจสุขภาพรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมายแน่นอน

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน