โชนัน ธุรกิจเริ่มจากศูนย์ แต่คิดใหญ่ขอเป็น “แมคโดนัลด์” เมืองไทย

Text : 
 

    กว่าร้านอาหารดังสไตล์ญี่ปุ่น “โชนัน” จะประสบความสำเร็จจนปัจจุบันมีมากกว่า 12 สาขาในช่วงเวลา 7 ปีของการก่อตั้ง และยังเป็นแบรนด์เอ็นดรอสให้กับร้านอาหารน้องใหม่ที่เปิดตามมา กุลวัชร ภูริชยวโรดม ผู้เป็นเจ้าของ ต้องล้มลุกคลุกคลานบนเส้นทางที่เลือกมาหลายต่อหลายครั้ง ทว่าทุกครั้งที่ล้ม เขาไม่เคยคิดที่จะหยุดเดิน เพราะเชื่อว่าเส้นทางที่กำลังเลือกเดินอยู่นั้น จะพาเขาไปถึงปลายทางฝันอย่างแน่นอน




    จะว่ากันตามจริงแล้ว ผู้บริหารหนุ่มอย่างกุลวัชร ไม่จำเป็นต้องออกมาดิ้นรนสร้างธุรกิจใหม่ด้วยตัวเองเลย เพราะครอบครัวมีธุรกิจโรงสีข้าวที่ทำมานานจนอยู่ตัว สร้างผลกำไรให้ที่บ้านกว่าพันล้านในแต่ละปี ทว่าด้วยความอยู่ตัวของธุรกิจนี้เองที่ไม่มีความหวือหวาให้คนหนุ่มอย่างเขาได้ตื่นเต้น นี่เองจึงเป็นเหตุให้เขาต้องหาอะไรใหม่ๆ ทำ


     กุลวัชรบอกว่าเขาชอบทำอะไรที่เกี่ยวกับการซื้อมาขายไป พอคิดจะทำธุรกิจของตัวเองก็เลยโฟกัสไปที่ธุรกิจรีเทล ศึกษาธุรกิจรีเทลหลายรูปแบบ แต่สุดท้ายมาจบลงที่ธุรกิจร้านอาหาร เพราะเมื่อสัก 7 ปีที่แล้วธุรกิจร้านอาหารเติบโตไปในทิศทางเดียวกับห้างสรรพสินค้าที่เติบโตค่อนข้างเร็ว ซึ่งเดิมทีนั้นเขาคิดจะซื้อแบรนด์จากเมืองนอกมาทำ แต่พอเริ่มติดต่อก็พบว่ามีอุปสรรคหลายอย่างในการทำงานร่วมกัน ท้ายสุดจึงมาจบลงที่สร้างแบรนด์ของตัวเองดีกว่า โจทย์แรกที่เขาคิดคือการทำร้านอาหารที่ไม่มีเชฟ เพราะคิดว่าถ้าต้องพึ่งพาเชฟจะทำให้ไม่สามารถขยายสาขาเป็นร้อยแห่งได้ เขาจึงตัดสินใจเลือกทำร้านขายข้าวหน้าเนื้อ ซึ่งตอบโจทย์ที่ว่าร้านอาหารฝั่งตะวันตกมีเยอะแล้วในเมืองไทย ขณะที่ข้าวหน้าเนื้อเป็นอาหารที่กำลังเป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่น และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในอนาคตที่ต้องการความรวดเร็ว


     กุลวัชรเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ โดยเข้ารับการฝึกทำอาหารกับอดีตเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังที่มาใช้ชีวิตเกษียณในเมืองไทย ฝึกอยู่นานสองเดือนเต็มจนมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่สยามพารากอนจัดงานเทศกาลอาหารญี่ปุ่น เขาจึงใช้โอกาสนี้เปิดร้านขายชิมลางตลาด ซึ่งผลที่ได้ ดีเกินคาด ขายเพียงไม่กี่วันก็ได้เงินทุนมาต่อยอดกว่าครึ่งล้าน นั่นยิ่งทำให้ความมั่นใจที่มีเต็มเปี่ยมล้นทะลักจนไม่ทันคาดคิดถึงความผิดพลาดที่กำลังตามมา




    หลังจากงานเทศกาลอาหารญี่ปุ่นเพียง 4 เดือน เขาตัดสินใจเปิดร้านแรกบนถนนสุขุมวิท แต่ก็ต้องเจอกับปัญหาหลายอย่าง ทั้งสถานการณ์การเมือง สัญญาเช่าที่มีปัญหาถูกฟ้องร้องขับไล่ และยอดขายที่ไม่พอกับรายจ่าย ที่สุดจึงต้องมองหาทำเลใหม่ พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เปลี่ยนรูปแบบอาหารเป็นฟาสต์ฟู้ดส์มากขึ้น และเข้าไปเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้า ทว่าการลุกขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ครั้งที่สองของกุลวัชรยังคงไม่ราบรื่นเสียทีเดียวนัก หากแต่หนทางที่ขรุขระในครั้งนี้เกิดจากการคาดคะเนที่ผิดพลาดของเขาเอง


    กุลวัชรตัดสินใจเปิดร้านอาหาร 2 แห่งในเวลาไล่เลี่ยกัน ขณะที่ตัวเองยังไม่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน จึงทำให้ปัญหามีเข้ามาสารพัดจนรับมือเกือบไม่ไหว ทว่านั่นก็เป็นโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ว่าการทำร้านอาหารที่มีหลายสาขา ระบบเป็นเรื่องสำคัญมาก เขาเริ่มสร้างทีมงานหลังบ้าน และเซ็ตระบบต่างๆ ทั้งบัญชี HR R&D และพัฒนารูปแบบการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงทำให้รับมือกับปัญหาที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องได้ แต่ยังสามารถขยายงานไปในส่วนของการทำเดลิเวอรี่ได้อีกด้วย


    กุลวัชรบอกว่าเป้าหมายสูงสุดของตนไม่ใช่การเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น หากแต่เป็นการสร้างธุรกิจร้านอาหารให้เป็นแบรนด์ดังระดับโลก โดยมีแมคโดนัลด์เป็นต้นแบบ ทว่าในการขยายสาขาจะต่างออกไป โดยเน้นการร่วมทุนกับพันธมิตรที่ดี ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนให้ธุรกิจก้าวไปได้ไกลอย่างมั่นคงกว่า เขาเชื่อว่าการมีพันธมิตรที่ดีเป็นเหมือนทางลัดที่จะทำให้ธุรกิจก้าวไกลได้เร็วขึ้น ทว่าการหาพันธมิตรที่ดีมีปรัชญาในการทำธุรกิจที่คล้ายกันเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ดังนั้นเมื่อได้เจอแล้วจึงเป็นเหมือนโอกาสทองที่ต้องจับไว้ให้มั่นอย่าให้ได้หลุดมือไป


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

เมื่อทายาทโรงขนมกุยช่ายตลาดพลู พลิกโฉมธุรกิจ สร้างแบรนด์ Sooo Guichai จนขายได้วันละ 1,000 ลูก

ทำไมขนมกุยช่ายต้องสร้างแบรนด์? ที-กิตติคุณ กชกรจารุพงศ์  ทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงขนมกุยช่ายตลาดพลู มองเห็นโอกาสอะไร จึงคิดสร้างแบรนด์ Sooo Guichai (โซกุยช่าย) กุยช่ายแป้งเปลือย เน้นไส้ แป้งน้อย จนปังขายได้ถึงพันลูกต่อวัน

เปิดโลกธุรกิจขยายสู่ตลาดใหม่ งาน Hong Kong International Optical Fair

งานแสดงแว่นตาระดับนานาชาติ Hong Kong International Optical Fair นับเป็นเวทีแห่งโอกาสของประกอบการไทยที่จะขยายธุรกิจด้านแว่นตาสู่ตลาดโลก โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 32 ระหว่างวันที่ 6 – 8 พฤศจิกายน 2024 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการฮ่องกง ( HKCEC )      

dot.b ร้านหนังสืออิสระหนึ่งเดียวในเมืองเก่าสงขลา ทำหน้าที่สเมือนสมองเมือง เปิดถึงเที่ยงคืน

การทำร้านหนังสือในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ได้ทยอยปิดตัวไป นับเป็นความกล้าที่บางคนเอาความรักในการอ่านมาเดิมพัน โดยเฉพาะในเมืองเล็กๆ อย่างสงขลา ที่คนภายนอกแทบมองไม่เห็นโอกาส แต่ dot.b เกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้เมืองไม่ขาดร้านหนังสือ