SME กับ 10 แนวทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน




       
            “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย ตั้งแก่ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และเมื่อวิกฤตครั้งนั้นเกิดขึ้นพระองค์ท่านยังทรงเน้นย้ำแนวทางดังกล่าวในการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพราะความหมายของคำว่า “ความพอเพียง” นั้น หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว  โดยมีแนวทางปฏิบัติ 10 ประการดังต่อไปนี้

 


            1.มองการไกลในเรื่องการบริหารจัดการ ไม่มุ่งหวังกำไรในระยะสั้น แต่คิดถึงในระยะยาว นั่นหมายถึงว่าองค์กรจะต้องตื่นตัวตลอดเวลา รู้จักประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต และเตรียมองค์กรให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  และในการทำธุรกิจต้องไม่หวังกำไรสูงสุดเพียงอย่างเดียว หากต้องมองถึงการลงทุนเพื่อผลตอบแทนในระยะยาวด้วย  

 



            2.ให้คุณค่าแก่พนักงานอย่างจริงใจและพัฒนาพนักงานอย่างต่อเนื่อง ต้องทำให้พนักงานมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับองค์กร รวมถึงการให้โอกาสพนักงานทุกคนได้อบรม และเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทักษะในการทำงาน และต้องให้โอกาสในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นตามความสามารถ เพราะพนักงานคือ สินทรัพย์ (ที่พัฒนาได้) ที่สำคัญขององค์กร  
 



            3.จริงใจและหวังดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจทั้งหมด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในที่นี้หมายถึง ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า เจ้าหนี้ รวมไปถึงสังคมและประชากรในอนาคตอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องมองผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียให้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ โดยเอาสังคมเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอากำไรของกิจการเป็นตัวตั้ง ต้องรู้จักบ่งกำไรคืนให้กับสังคม ให้กับพนักงานของตนเอง ให้กับลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆในสังคม ซึ่งการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมนั้น จากการวิจัยพบว่าในเวลาเกิดวิกฤตกับองค์กรไม่ว่าจากผลกระทบในเรื่องใด ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้จะกลับมาช่วย 

 



            4.ให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรม สำหรับนวัตกรรมนั้นสามารถมีอยู่ได้ทั่วทั้งองค์กร ทั้งด้านสินค้า บริการ ขบวนการผลิตและอื่นๆ อย่างห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พนักงานจะให้ความสำคัญกับลูกค้า ดังนั้นลูกค้าในแต่ละกลุ่มและวัยจะได้รับการบริการที่แตกต่างตามความต้องการของกลุ่มหรือวัยนั้นๆ เช่นลูกค้าที่เป็นผู้สูงวัยพนักงานก็ให้บริการอย่างหนึ่ง หากเป็นเด็กก็ให้บริการอีกอย่างหนึ่ง  เนื่องจากพนักงานของเขามีความรู้เกี่ยวกับลูกค้า สิ่งนี้ถือเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่ง 

 


            5.ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้ง่ายที่สุด แค่การใช้สิ่งที่มีอยู่ให้ประหยัด หรือใช้ให้เกิดประสิทธิผลที่สุด อาจจะเป็นเรื่องของการรีไซเคิล ซึ่งในส่วนนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงจะช่วยลดต้นทุนสำหรับองค์กรธุรกิจต่างๆ ได้มาก

 


            6.ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพแต่ราคาไม่สูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีแบบไทยๆ เพราะการจะแข่งขันให้ได้นั้นจำเป็นต้องผลิตสินค้าหรือบริการที่มีความแตกต่าง ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถพึ่งพิงภูมิปัญญาแบบไทยๆ และอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บ้านอนุรักษ์กระดาษสา การบำบัดน้ำเสียของที่นี้ใช้เทคโนโลยีแบบชาวบ้าน คือมีการกรองแบบใช้ถ่าน หิน ทราย ขั้นตอนสุดท้ายเป็นบ่อพักน้ำโดยนำปลาไปเลี้ยง ถ้าปลาอยู่ได้ก็ปล่อยน้ำออกสู่ข้างนอกได้ ถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก และที่น่าทึ่งสุดคือ เจ้าของบ้านอนุรักษ์กระดาษสาไม่ได้มีการศึกษาสูง เป็นชาวเขาที่ยากจนสุดในหมู่บ้าน แต่ประสบความสำเร็จสามารถส่งสินค้าไปขายในหลายๆ ประเทศทั่วโลก 

 


            7.ขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าเร่งขยายธุรกิจเพื่อรองรับคำสั่งซื้อเพียงอย่างเดียว แต่ควรต้องพิจารณาถึงความพร้อมทุกด้านด้วย เช่น พนักงานมีทักษะเพียงพอไหม หรือมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะกระทบในอนาคต การเร่งขยายธุรกิจโดยไม่สนใจว่าพนักงานของตัวเองมีทักษะเพียงพอหรือไม่ หากเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะนำมาสู่การลดจำนวนพนักงานหรือการดาวน์ไซน์ธุรกิจตามมา  

 


            8.ลดความเสี่ยงโดยการสร้างผลิตภัณฑ์ ตลาดและการลงทุนที่หลากหลาย ในทุกธุรกิจแทนที่จะผลิตสินค้าเพียงอย่างเดียว ควรต้องมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือบางหมู่บ้านที่ผลิตสินค้าแบบเดียวกันทั้งหมด ถือเป็นความเสี่ยงอย่างมาก เพราะหากขายไม่ได้ก็จะกระทบทั้งหมู่บ้าน อีกทั้งเรื่องของการลงทุนก็เช่นกัน ไม่ควรกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งทั้งหมด การกระจายถือเป็นการบริหารความเสี่ยง ซึ่งตรงกับภูมิคุ้มกันของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 


 


             9.แบ่งปัน รวมถึงการแบ่งปันองค์ความรู้ที่มีเพื่อพัฒนาตลาด การแบ่งปันในทีนี้ คือการกระจายองค์ความรู้ให้กับผู้อื่น เพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น แต่สำหรับข้อนี้ถือเป็นจุดอ่อนของ SME ไทยอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมา SME ไทยมักจะทำงานทุกอย่างด้วยตัวเอง แบบม้วนเดียวจบ และมองอีกฝ่ายเป็นเหมือนคู่แข่ง มากกว่าพันธมิตรหรือคู่ค้า จึงขาดการทำงานร่วมกัน หลายคนอาจคิดว่าการแบ่งปันจะทำให้ได้กำไรลดลง แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับทำให้กำไรเพิ่มขึ้นในระยะยาว

 


            10.สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความแข็งแกร่ง วัฒนธรรมองค์กร คือ ค่านิยมร่วมกันที่สืบทอดกันมา เป็นการยึดเหนี่ยวกันของคนทั้งองค์กร หากมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งเมื่อถึงเวลาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุกคนจะทำได้ในทันที ตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จในเรื่องของการมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง เช่น ในช่วงที่เกิดวิกฤติพนักงานมีการลดเงินเดือนของตัวเอง หรือปฎิเสธการรับเงินเดือนเลยก็มี 


            สรุปได้ว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จและสามารถฝ่าวิกฤตมายืนอยู่ได้จนถึงวันนี้ ล้วนแต่มีแนวคิดและการดำเนินงานอยู่ภายใต้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงในองค์กรธุรกิจทั้ง 10 ข้อนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกองค์กรจะต้องมีการดำเนินงานตามหลักทั้ง 10 ข้อนี้ เพราะบางข้ออาจยังเป็นข้อจำกัดสำหรับบางธุรกิจ เช่น ข้อที่ว่าด้วยเรื่องของการบริการความเสี่ยงโดยต้องมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายนั้น ในบางองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจได้ไม่นาน การจะให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย นับเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาตัวเอง อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการสามารถทำได้อย่างสมดุล พอประมาณ และเหมาะสม ถึงจะทำได้ไม่ครบทุกข้อก็ตาม ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นกับองค์กรธุรกิจอย่างแน่นอน 

 
            “แค่เปลี่ยนวิธีคิด การกระทำก็เปลี่ยนตาม”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​