ส่องตลาดกาแฟ Standard ผ่านการโต 5 เท่าของ “กาแฟมวลชน”

Text : กองบรรณาธิการ  
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย


     6 ปีก่อน “กาแฟมวลชน” ยังเป็นแค่ร้านเล็กๆ ใช้ประลองวิชาใน “โครงการอบรมกาแฟสร้างอาชีพ เพื่อสังคมและชุมชน” ของบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ธุรกิจใต้อาณาจักร ซี.พี.กรุ๊ป วันนี้ร้านเล็กๆ ที่ว่าขยับมามีกว่า 120 สาขา และยังคงขยายตัวไม่หยุดนิ่ง พร้อมแตก 2 แบรนด์ใหม่สยายปีกสู่ตลาดโลก 




     ดร.นริศ ธรรมเกื้อกูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกาแฟมวลชน เผยให้เราฟังว่า ปีก่อนหน้าและปีนี้ธุรกิจกาแฟของพวกเขายังคงเติบโตได้ถึง 5 เท่า! การเติบโตที่มากไปกว่าคำว่า “ก้าวกระโดด” ของกาแฟมวลชน มาจากการมีสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถนำเสนอเครื่องดื่มที่มีคุณภาพในราคาจับต้องได้ ตามที่มาของชื่อ “มวลชน” ซึ่งหวังตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม 


     “ในมุมพฤติกรรมผู้บริโภคมองว่า ตลาดกาแฟ Standard ที่ขายกันแก้วละ 30-35 บาท มีความน่าสนใจและยังเติบโตได้อีกมาก เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางถึงยากจน เป็นคนหาเช้ากินค่ำ เป็นพนักงานออฟฟิศ อย่างเราๆ ฉะนั้นการจะไปขายกาแฟแก้วละ 100 บาท ซึ่งแพงกว่าอาหารมันไม่สมเหตุสมผล มวลชนจึงโฟกัสตลาดนี้ ตลาดที่มีคนดื่มเยอะสุด เพื่อให้เขามีโอกาสได้ดื่มของดีมีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้”
 




     “มวลชน” อาจเกิดจากความบังเอิญ แต่หมากรบของซีพี รีเทลลิงค์ นับจากนี้จะเป็นการเดินเกมตามแผนที่วางไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับการมาถึงของแบรนด์น้องใหม่ “จังเกิ้ล คาเฟ่”(Jungle Cafe’) และ “อาราบิเทีย คาเฟ่” (Arabitia Cafe’) ที่เพิ่งเปิดตัวไปในปีนี้ ซึ่งจะมีความพรีเมียมขึ้น โดยจับลูกค้ากลุ่ม B+ ขึ้นไป และนี่คือหัวหอกสำคัญที่พวกเขาจะไปปักธงธุรกิจกาแฟไทยในตลาดโลก เริ่มที่เอเชียเป็นด่านแรก

 
     โดยประเดิมด้วยการเปิดจังเกิ้ล คาเฟ่ สาขาแรกที่ สปป.ลาว และจะขยายเพิ่มอีกเป็น 3 สาขา ส่วนอาราบิเทีย คาเฟ่ เปิดแล้วที่กัมพูชา 2 สาขา และกำลังจะเพิ่มเป็น 3 สาขา และยังเปิดที่เมืองจีนอีก 3 สาขา ซึ่งภายใน 3 เดือนนี้ ผู้บริหารกระซิบบอกเราว่า เฉพาะประเทศจีนจะขยายไปได้อีกถึง 30 สาขา




 
     “เรานำแบรนด์อาราบิเทียไปเมืองจีนเพราะชื่อและโลโก้ดูพรีเมียม แต่ไม่ได้ขายแพงมาก มองว่าจีนไม่จำเป็นต้องเอาของแพงไปขาย เพราะคนจีนเขาฉลาดและมีหลายเซกเมนต์เหมือนบ้านเรา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเจาะเซกเมนต์ไหน มองว่าถ้าเอาของแพงไปขายก็จะไปชนกับสตาร์บัคส์ ฉะนั้นเราไม่ชน แต่กลยุทธ์คือ ต้องขายให้เยอะ มองว่าถ้าปลายน้ำเราขายได้มาก กลางน้ำ และต้นน้ำจะตามมาเอง ซึ่งในอนาคตเราจะสามารถไปลงทุนโรงคั่ว เทรนนิ่ง และอื่นๆ ในเมืองจีนได้ ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำกำไรได้และแข็งแกร่งทั้งห่วงโซ่” และการลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำจนสุดปลายน้ำก็คือจุดแข็งสำคัญของผู้นำธุรกิจอย่างซี.พี

.
     นอกจากเมืองจีน อาราบิเทีย คาเฟ่ กำลังจะไปปักธงที่อินเดีย รวมถึงประเทศนอกสายตาอย่างบังกลาเทศ ซึ่งได้พาร์ตเนอร์แล้วเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำให้ได้เปรียบเรื่องพื้นที่ ซึ่งกลยุทธ์บุกตลาดโลกของพวกเขาคือจะไม่ลุยเดี่ยว แต่เลือกจับมือกับคนพื้นที่ โดยเลือกคนที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ มีที่เป็นของตัวเอง เพราะจะทำให้เปิดสาขาได้เร็วและต้นทุนต่ำ รวมถึงอาจเป็นเจ้าของร้านอาหาร ไม่ก็มีระบบขนส่งของตัวเอง เพื่อให้ง่ายต่อการขยายสาขา และการขนส่งสินค้าด้วย




     เฉพาะปีนี้เป้าขยายสาขาต่างประเทศของพวกเขาคือไม่ต่ำกว่า 100 สาขา ทั้งที่เป็นปีแรกที่บุกตลาดโลกด้วยซ้ำ
ในวันที่กาแฟไทยกำลังสยายปีกไปเป็นกาแฟโลก พวกเขาไม่ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธแค่การนำเสนอของดีในราคาจับต้องได้ ทว่ายังไปพร้อมโมเดลร้านที่ต่างจากร้านกาแฟทั่วไป นั่นคือยกทัพไปทั้งเครื่องดื่ม ของหวาน และอาหาร พร้อมปรับรสชาติให้เหมาะกับประเทศนั้นๆ

 
     “เวลาไปประเทศไหนเราต้องปรับรสชาติให้เหมาะกับประเทศนั้น อย่างจีนก็ต้องปรับรสกาแฟให้อ่อนลงเพราะเขาไม่ดื่มเข้ม และยังติดดื่มชา เมนูในร้านก็ต้องมีชาด้วย แต่โชคดีที่คนจีนชอบดื่มชาไทยอยู่แล้ว จึงเอาชารสชาติไทยๆ ไปเสิร์ฟได้”




     ตลาดต่างประเทศยังขยับขยาย ขณะที่ในประเทศไทยเขาก็ย้ำว่ายังมีโอกาส โดยธุรกิจกาแฟไทยยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 15-20 เปอร์เซ็นต์ วันนี้คนไทยยังบริโภคกาแฟแค่ 220 แก้วต่อคนต่อปี ขณะที่อเมริกาดื่มกาแฟสูงถึง 1,000 แก้วต่อคนต่อปี ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียบริโภคกาแฟสูงถึง 1,200 แก้วต่อคนต่อปี ฉะนั้นตลาดไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ขณะเดียวกันวันนี้ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้สูงวัยก็เริ่มหันมาดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนคนวัยทำงานก็มาแทนที่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริโภคกาแฟเป็นหลักอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาผู้บริหารกลุ่มซี.พี.เคยตั้งเป้าว่าจะขยายร้านกาแฟมวลชนประเทศไทยให้ได้ถึงพันสาขา ซึ่งนั่นไม่ได้ไกลเกินเอื้อมเลย



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน