​เปิดกลยุทธ์ Hotel spa สร้างโอกาสทางธุรกิจแบบ win-win





 

     สปา หนึ่งในธุรกิจดาวเด่นของอุตสาหกรรมความงามและการดูแลสุขภาพ (wellness industry) ของโลกจากแนวโน้มอัตราการเติบโตที่สูง จากการคาดการณ์ของ Global Wellness Institute (GWI) แสดงให้เห็นว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจสปาทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยถึง 6% ต่อปี หรือจากมูลค่าตลาดเพียง 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สู่ระดับ 1.69 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2015-2020 ซึ่งอัตราการเติบโตดังกล่าวสูงกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าตลาด wellness industry ทั่วโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยราว 5% ต่อปี หรือจาก 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สู่ระดับ 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน

 
     โดยการเติบโตของธุรกิจสปานั้น มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจาก 1) จำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ GWI และ CIA World Factbook พบว่าประเทศที่มีมูลค่าตลาดธุรกิจสปาใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกของโลกส่วนใหญ่มีระดับอายุเฉลี่ย (median age) ของประชากรสูงกว่า 40 ปี ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มความต้องการใช้บริการสปาที่มากขึ้นจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 2) กลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลกมีระดับรายได้ที่สูงขึ้นส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายเงินเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองนอกเหนือจากการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตประจำวัน และ 3) วิถีชีวิตที่เร่งรีบของกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งก่อให้เกิดความเครียด
 

     สำหรับมูลค่าตลาดธุรกิจสปาในไทยมีการเติบโตถึงราว 8% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลก หรือขยายตัวจากระดับประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2013 มาอยู่ที่ราว 3.5 หมื่นล้านบาทในปี 2015 สูงเป็นอันดับที่ 16 ของโลกและเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย เป็นรองเพียงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และอินเดีย โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ทั้งนี้ จากการประมาณการโดย GWI คาดว่ามูลค่าตลาดของ wellness tourism ทั่วโลกจะเติบโตราว 7% ต่อปีในช่วงปี 2015-2020 จากมูลค่า 19 ล้านล้านบาทเป็น 27 ล้านล้านบาท ซึ่งคาดว่าธุรกิจสปาในไทยจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตนี้
 

     หนึ่งในรูปแบบสปาที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ hotel spa เนื่องจากมีแนวโน้มเติบโตตามภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความหลากหลายของกิจกรรมให้แก่นักท่องเที่ยวและช่วยเสริมประสิทธิภาพการสร้างรายได้ให้แก่โรงแรม
 



     Hotel spa สามารถช่วยเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจโรงแรม สะท้อนจาก RevPAR ที่สูงกว่า และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการสปาและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอาง จากข้อมูลของ CBRE Hotels พบว่าโรงแรมในสหรัฐฯ ที่มีบริการสปาจะมีระดับรายได้ต่อห้องพักทั้งหมด (Revenue per Available Room, RevPAR) สูงกว่าโรงแรมที่ไม่มีสปาอยู่ราว 27% สำหรับโรงแรมในเขตเมือง และ 10% สำหรับที่พักแบบรีสอร์ท เนื่องจากโรงแรมสามารถขึ้นค่าห้องพักได้สูงกว่า ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดและรายได้ประจำให้แก่โรงแรมจากฐานลูกค้าที่สมัครสมาชิกเพื่อใช้บริการสปา รวมถึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโรงแรมในด้านภาพลักษณ์อีกด้วย
 

     ทั้งนี้ hotel spa ที่มีรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างสามารถสร้างจุดเด่นให้โรงแรมได้ เช่น Zen Zone Spa ของโรงแรม 5 ดาว Gran Hotel la Florida ในบาร์เซโลน่าที่นำเสนอบริการให้ลูกค้าได้พักผ่อนในห้องออกซิเจนบริสุทธิ์ 99.5% ภายใต้แสงสีฟ้าเพื่อบำบัดความเครียดและกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย หรือ K-Spa ของโรงแรม K-West Hotel & Spa ในลอนดอนที่ให้บริการสปาด้วยอุณภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งสลับกับการอบซาวน่าเพื่อช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต ลดเซลลูไลท์และเสริมสร้างระบบภูมิต้านทานให้ร่างกาย ซึ่งเป็นศาสตร์ hot-and-cold therapy ของฟินแลนด์
 

     ในอีกด้านหนึ่ง hotel spa สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจบริการสปาสามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้นโดยการขยายธุรกิจสปาในโรงแรม เนื่องจากโรงแรมระดับ 4-5 ดาวส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในทำเลที่ดีประกอบกับแขกที่เข้าพักส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูง โดยผู้ประกอบการสปาที่มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเครื่องหอมยังสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเองผ่านการใช้งานจริงกับลูกค้าที่ใช้บริการสปา เพื่อเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสร้างการรับรู้ (brand awareness) ต่อกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น
 

     ปัจจุบันเครือธุรกิจโรงแรมระดับโลกเดินเกมก้าวสู่อุตสาหกรรม wellness industry ด้วยกลยุทธ์การควบรวมกิจการและสร้างความร่วมมือกับธุรกิจสปาและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ กลุ่ม Hyatt Hotels & Resorts ได้เข้าซื้อกิจการ Miraval Group และ Exhale ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม wellness industry ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ ด้วยเงินลงทุนกว่า 375 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2017 โดยเครือ Hyatt มีแผนที่จะขยายธุรกิจของ Miraval และ Exhale ใน spa หลายรูปแบบ รวมถึง fitness center ในอนาคตเพื่อรองรับความต้องการของแขกที่เข้าพัก
 

     นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจโรงแรมยังสามารถสร้างพันธมิตรกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่มีชื่อเสียงระดับโลกเพื่อดึงดูดแขกที่เข้าพักรวมถึงลูกค้าจากภายนอกเข้ามาใช้บริการสปา เช่น โรงแรม Hôtel Plaza Athénée ในกรุงปารีสที่ร่วมมือกับ Parfums Christian Dior เพื่อนำแบรนด์สปาอย่าง Dior Institut ไปเปิดให้บริการภายในโรงแรม หรือ Hotel Sahrai ในเมืองแฟ็ส (Fez) ประเทศโมร็อกโกที่ร่วมมือกับ Givenchy Parfums เพื่อให้บริการสปาภายใต้แบรนด์ Givenchy Spa ซึ่งช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ความหรูหราของโรงแรมทั้งสองแห่งได้เป็นอย่างดี
 

     อย่างไรก็ดี อีไอซีแนะผู้ประกอบการโรงแรมไทยควรพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มพื้นที่ให้บริการสปาภายในโรงแรม โดยอาจบริหารธุรกิจสปาด้วยตนเอง เพื่อควบคุมต้นทุนและคุณภาพในการให้บริการสปาได้ แต่อาจมีภาระเพิ่มเติมในด้านการฝึกอบรมพนักงาน โมเดลธุรกิจลักษณะนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินลงทุนพอสมควร หรืออาจร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจสปาให้ลงทุนขยายการให้บริการภายในพื้นที่ของโรงแรม (outsource) เพื่อให้บริการแก่แขกที่เข้าพักรวมถึงลูกค้าในบริเวณใกล้เคียง สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ต้องการบริหารธุรกิจสปาด้วยตนเอง หรือมีเงินลงทุนไม่มากนักอาจเลือกใช้โมเดลธุรกิจลักษณะนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแขกที่เข้าพัก
                 

     นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสปาควรพิจารณาการขยายธุรกิจไปสู่ hotel spa เพื่อสร้างฐานลูกค้ากลุ่มที่มีศักยภาพให้แข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากโรงแรมระดับ 4-5 ดาวส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในทำเลที่ดี และแขกที่เข้าพักส่วนใหญ่มีกำลังซื้อสูงจึงสามารถขยายฐานลูกค้าที่มีศักยภาพได้กว้างขึ้น อีกทั้งยังสามารถสร้างโอกาสในการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เวชสำอางของตนแก่ลูกค้าเพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้
                 

     ไม่เว้นแม้แต่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเครื่องหอม มีโอกาสที่จะขยายธุรกิจโดยร่วมมือกับผู้ประกอบการโรงแรมเพื่อต่อยอดสร้างธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสปาในอนาคต โดยอาจเริ่มจากการรับจ้างผลิตเวชสำอางขั้นพื้นฐานที่ใช้ในโรงแรม เช่น สบู่ แชมพู ครีมนวดผม เป็นต้น ภายใต้ตราสินค้าหรือแบรนด์ของโรงแรม โดยสามารถต่อยอดธุรกิจดังกล่าวไปสู่การผลิตเครื่องหอมและผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่ใช้ในสปาของโรงแรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
 


 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน