F&B Trends 2018 เจาะลึก 4 เทรนด์มาแรง! ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม


 




     จากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Mintel ประเทศไทย ถึง 4 เทรนด์มาแรงของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของโลกในปี 2561 พบว่า Full Disclosure, Self-Fulfilling Practices, New Sensations และ Science Fare จะเป็นเทรนด์สำคัญที่อยู่ในกระแสความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
 

Full Disclosure เมื่อผู้บริโภคอยากรู้เรื่องราวผลิตภัณฑ์มากขึ้น

 
     เป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคมีความอยากรู้เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น อยากรู้ว่าสิ่งที่เขากำลังทานอยู่นั้นมาจากไหน มีกระบวนการผลิตยังไง ดังนั้นแบรนด์จึงเริ่มถูกผลักดันให้พยายามบอกเล่าเรื่องราวของตัวผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบที่ใช้และกระบวนการในการผลิตมากขึ้น


     ด้านนักวิเคราะห์อย่าง สุดธัญญา อยู่โพธิ์ บอกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคอยู่ในช่วง loss of trust หรือ ขาดความมั่นใจและไม่เชื่อในตัวแบรนด์ ดังนั้นพวกเขาจึงมีความอยากรู้ถึงข้อมูลต่างๆ ว่าผลิตภัณฑ์ที่เขากิน อาหารที่อยู่ในมือนั้นมาจากไหน มีขั้นตอนการผลิตเป็นอย่างไร


     จากการเก็บข้อมูล พบว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวจีน ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นอันดับหนึ่งในการพิจารณาเลือกซื้ออาหารจากแหล่งผลิตอย่างตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้กระทั่งบนออนไลน์ หรือ 65 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยบอกว่าพวกเขาจะรู้สึกว่าถูกหลอกเมื่อแบรนด์นั้นๆ มีการระบุถึงปริมาณน้ำตาลในตัวสินค้าอย่างไม่ชัดเจน นอกจากนี้ 55 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวอเมริกันที่มีลูกอายุไม่เกิน 5 ปีบอกว่าความปลอดภัยของตัวแพ็กเกจจิ้งอาหารสำหรับลูกๆ นั้น เป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด ในขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของชาวแคนาดาเชื่อในข้อมูลโภชนาการที่ทางแบรนด์ให้ไว้บนตัวบรรจุภัณฑ์





     ทุกวันนี้แบรนด์ทั่วโลกออกมาหาวิธีต่างๆ ที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อในตัวผลิตภัณฑ์มากขึ้น อย่างการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ในประเทศเวียดนามมีการใช้แอปพลิเคชั่น Te-Food ที่ผู้บริโภคสามารถสแกนบาร์โค้ดหรือคิวอาร์โค้ดบนแพ็กเกจของเนื้อหมูแล้วรับรู้ได้ตั้งแต่ต้นว่าหมูตัวนี้ถูกเลี้ยงที่ฟาร์มไหน วันไหนที่ถูกส่งไปโรงฆ่าสัตว์ วันไหนที่มีคนมารับไปแล้วมาเข้าตลาด ซึ่งถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ โดยปัจจุบันครอบคลุมถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของซัพพลายเออร์เนื้อหมูทั้งหมดในเวียดนาม


     หรือจะเป็นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่บนตัวบรรจุภัณฑ์ในการบอกเล่าเรื่องราวไปยังผู้บริโภค เช่น แบรนด์ EcoBrown ของประเทศมาเลเซีย ได้บอกถึงที่มาที่ไปว่าข้าวนั้นถูกปลูกที่ภูมิภาคไหนของประเทศ ผ่านกระบวนการอะไรมาบ้างจนถึงการบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์


     นอกจากนี้ การใช้คลิปวิดีโอถ่ายให้เห็นกระบวนการผลิตและที่มาที่ไปของตัวผลิตภัณฑ์ การใช้โลโก้ขององค์กรต่างๆ ที่รับรองในความปลอดภัยของสินค้า และการบอกถึงส่วนผสมที่ชัดเจนบนตัวบรรจุภัณฑ์เป็นอีกเครื่องมือที่แบรนด์สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคได้

 
Self-Fulfilling Practices การกินที่สามารถตอบโจทย์ด้านอารมณ์
               

     ถือเป็นอีกขั้นที่ถัดจากเทรนด์สุขภาพ วันนี้ผู้บริโภคเริ่มต้องการอย่างอื่นมากขึ้นจากอาหาร ที่ไม่ใช่แค่การกินเพื่อสุขภาพด้านร่างกาย แต่เป็นการกินอาหารที่ตอบโจทย์และมีประโยชน์ทางด้านจิตใจมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนเราต้องเจอกับภาวะความเครียดอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผู้บริโภคหันมากินอาหารอย่างมีจุดประสงค์มากขึ้น โดยคาดหวังว่าอาหารที่กินนั้นจะช่วยลดภาวะต่างๆ ได้


     จากการเก็บข้อมูลพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวไทยและอินโดนีเซียมีการกิน functional food หรืออาหารที่มีสารอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกเหนือจากสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายทั่วไปอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งใน 6 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงการวางแผนที่จะกินผักและผลไม้มากขึ้นและลดการทานน้ำตาลเพื่อการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีการกินที่มีจุดประสงค์มากขึ้น


     นอกจากนี้ 31 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวจีนยังให้ความสนใจที่จะซื้อเครื่องดื่มที่สามารถลดความเครียดได้ ขณะที่ 21 เปอร์เซ็นต์ของชาวบราซิลบอกว่าการกินขนมขบเคี้ยวนั้นช่วยลดภาวะตึงเครียดได้ โดย 52 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยมองว่าการขจัดความเครียดได้นั้นเป็นหนทางสู่การมีสุขภาพที่ดี 

   
     ร้านไอศกรีมในจีนอย่าง Ice Cream Clinic เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงเทรนด์นี้ได้ โดยมีไอเดียมาจากเวลาที่คนมีความรู้สึกเครียดหรือเบื่อก็ต้องอยากที่จะกินของหวาน ทางร้านจึงออกแบบมาในลักษณะการเป็นคลินิกไอศกรีมที่มีเชฟด้านขนมหวานคอยหารสชาติของไอศกรีมที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกแย่ๆของลูกค้าได้


     เทรนด์นี้ยังรวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ผู้บริโภคสามารถรู้สึกสนุกไปด้วยได้ เช่น Starbuck ได้ออกแก้วกาแฟในช่วงคริสต์มาสให้คนสามารถระบายสีได้ ซึ่งเป็นวิธีช่วยให้คนมีความคิดสร้างสรรค์และผ่อนคลายความเครียดมากขึ้นผ่านทางตัวผลิตภัณฑ์


     นอกจากนี้ บางแบรนด์อาจใช้วิธีง่ายๆ ในการที่ทำให้คนรู้สึกได้ว่าพวกเขาสามารถกินขนม กินช็อคโกแลตโดยไม่ต้องรู้สึกผิด เช่น การบอกปริมาณที่ควรบริโภค การทำไซส์ขนมให้เล็กลงหรือการใส่ส่วนผสมที่มีประโยชน์ลงไป เพื่อทำให้ผู้บริโภคกล้าที่จะปลดปล่อยตัวเองและรู้สึกดีเวลากิน
 

New Sensations เพิ่มความว้าว! ด้วยรสสัมผัสใหม่ๆ


     นอกจากจะกินเพื่ออิ่มท้องและมีประโยชน์แล้ว ผู้บริโภคยังอยากได้ไอเดียแปลกๆ หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้จากอาหาร กล่าวคือเทรนด์นี้เป็นเรื่องของความดึงดูด เรื่องรูปลักษณ์ภายนอกของตัวผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคสนใจได้ เป็นอีกมุมหนึ่งที่คนอยากได้จากอาหาร


      โดยเทรนด์สำคัญที่จะมาแรงคือ การใช้ texture หรือเนื้อสัมผัสเข้ามาสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ผู้บริโภค โดย 32 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคชาวจีนอยากได้โยเกิร์ตที่ใส่ซีเรียลหรือธัญพืช 31 เปอร์เซ็นต์ของชาวแคนาดาบอกว่าสนใจในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมระหว่างคุ้กกี้กับมันฝรั่งทอด 25 เปอร์เซ็นต์ของคนอังกฤษให้ความสนใจในน้ำอัดลมที่มีการเพิ่มเนื้อผลไม้เข้ามา และ 11 เปอร์เซ็นต์ของคนบราซิลบอกว่าการมีส่วนผสมของธัญพืชในน้ำผลไม้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกดื่ม ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคมีการเปิดรับตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีการใช้ texture แตกต่างกันในส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่ม



   

     อย่างกระแสฮิตของชีสในเวลานี้ก็ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ texture มาเล่น เช่น ชาชีส ที่เปลี่ยนรสสัมผัสของเครื่องดื่มเดิมๆ อย่างชาไทยหรือชาเขียวให้มีความแปลกใหม่มากขึ้น หรืออย่างแบรนด์ Fanta ของออสเตรเลียที่ผลิตน้ำอัดลมที่พอเขย่าแล้วจะเกิดวุ้นเนื้อเยลลี่ออกมา หรือการผลิตน้ำอัดลมที่มีรสเปรี้ยวของตัวราสเบอร์รี่และมีความซ่ามากออกมาถือเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับคนออสเตรเลียที่ไม่เคยชินกับการกินของที่มีรสเปรี้ยว อีกผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ Calbee ของญี่ปุ่นได้ผลิตมันฝรั่งทอดที่ข้างนอกเคลือบด้วยซอสถั่วเหลืองให้ความรู้สึกนุ่มและชุ่มแต่พอกัดเข้าไปแล้วข้างในมีความกรอบถือเป็นการเล่นเรื่องเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี


     การออกแบบตัวบรรจุภัณฑ์เป็นอีกวิธีที่สามารถตอบโจทย์เทรนด์นี้ได้ อย่างแบรนด์ Fairfields Farm ออกแบบแพ็กเกจจิ้งแผ่นมันฝรั่งทอดให้มี 3 ชั้นที่ผู้บริโภคสามารถทำการฉีกซองแล้วนำเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟได้ โดยแบรนด์ต้องการสื่อถึงการเป็นมันฝรั่งที่เหมือนทอดกรอบใหม่ๆ และร้อนอยู่เสมอ ซึ่งต่อให้นำไปอุ่นก็ยังมีความกรอบเหมือนเดิม เป็นการเพิ่มความรู้สึกและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคให้รู้สึกถึงความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา
 

Science Fare ใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมช่วยผลิต
 

     การใช้เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในกระบวนการผลิต เพื่อแก้ปัญหาการบริโภคของมนุษย์ที่ไปมีผลต่อทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด แม้จะยังเห็นภาพไม่ชัดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ของโลกโดยเฉพาะจากประเทศฝั่งตะวันตกเริ่มมีการนำมาใช้และตื่นตัวมากขึ้น
               

     จากข้อมูล พบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของคนอังกฤษบอกว่าจะเลิกซื้อน้ำดื่มที่ขวดน้ำสามารถส่งผลเสียหรือผลกระทบต่อธรรมชาติ 24 เปอร์เซ็นต์ของคนอินโดนีเซียและ 20 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยเห็นพ้องต้องกันว่าการทำกิจกรรมอย่างลดการใช้ถุงพลาสติกและขี่จักรยานแทนการขับรถเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีได้ นอกจากนี้ 22 เปอร์เซ็นต์ของคนบราซิลบอกว่ายินดียอมจ่ายมากขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือรีไซเคิลได้
               

     สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเทรนด์นี้คือการใช้เทคโนโลยีด้านวิศวกรรมมาใช้ในการผลิตอาหารที่ช่วยลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่นแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Unilever ได้ร่วมมือกับทางมหาวิยาลัย Wageninen University ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำการพัฒนาการผลิตเนื้อที่เป็น Meat Free คือไม่มีเนื้อสัตว์ในนั้น หรือทำมาจากพืช 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่แบรนด์พยายามจะทำคือการทำเนื้อในแล็ปโดยการสังเคราะห์มาจากพวกโปรตีนถั่วเหลืองและถั่วต่างๆ โดยตั้งเป้าที่จะทำให้เนื้อมีรสชาติที่เหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ มีลักษณะและเนื้อสัมผัสเหมือนของจริง โดยทางแบรนด์คาดว่าตัวผลิตภัณฑ์นี้จะออกมาสู่ตลาดได้ในปีหน้านี้
               

     การออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือแพ็กเกจจิ้งกินได้เป็นอีกรูปแบบที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น แบรนด์ Evoware บริษัทสตาร์ทอัพจากอินโดนีเซียผลิตแพ็กเกจจิ้งที่สามารถกินได้โดยสกัดมาจากสาหร่าย แต่ถ้าคนไม่อยากกินตัวแพ็กเกจจิ้งนั้นก็สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไอเดียนี้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผลิตซองซอสที่สามารถกินได้แทนการใช้ซองพลาสติก
               

     แม้เทรนด์จะไปอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่ทางผู้ผลิตหรือแบรนด์จะลืมไม่ได้เลยคือ การใส่ใจในเรื่องของรสชาติ เพราะการกินอาหารที่อร่อยและมีรสชาติดีนั้นยังคงเป็นเรื่องพื้นฐานของความต้องการของผู้บริโภค  




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน