​“เป็นปลาใหญ่ในบ่อเล็ก” ทางรอด SME ยุคใหม่





 

     ความเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีที่ดูจะก้าวล้ำมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะโลกออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น และแน่นอนแม้จะช่วยทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้มากขึ้นเพียงใด แต่ในทางกลับกันช่องทางดังกล่าวก็เป็นเสมือนประตูให้คู่แข่งเข้ามาจากทุกมุมโลกได้เช่นกัน
 

     ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ SME ต้องรับรู้ การเติบโตของโลกออนไลน์ดังกล่าวส่งผลอะไรบ้าง ผรินทร์ สงฆ์ประชา CEO แห่ง Nasket บริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่รวมบริการต่างๆ เพื่อช่วยให้คนอยู่อาศัยในบ้านและคอนโดมิเนียมสามารถใช้ชีวิตได้สะดวกและง่ายขึ้น และผู้เชี่ยวชาญด้าน e-Commerce ได้กล่าวถึงเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการเติบโตขึ้นของโลกออนไลน์ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ โดยแบ่งเป็นประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัวรับมือดังนี้
 

     “โดยทั่วไปแล้วธุรกิจ SME แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ 1.ขายสินค้า 2.บริการทั่วไป และ 3.บริการให้ความรู้ เช่น การฝึกอบรมต่างๆ สิ่งที่ผมเห็น ณ ตอนนี้ คือ ทั้งธุรกิจที่เป็นสินค้าและบริการ จะถูก Disrupt หรือคุกคามจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น โดยแฝงเข้ามาทางช่องทางออนไลน์และเทคโนโลยี นั่นหมายความว่าต่อให้ลูกค้าในบ้านเราซื้อสินค้าจากต่างประเทศไม่เป็น ผู้ประกอบการต่างประเทศเขาก็พร้อมที่จะเข้ามาหาเอง และพยายามทำทุกอย่างให้ง่ายขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้สะดวกขึ้น เช่น เปิดขายผ่านเฟซบุ๊กได้ง่ายๆ เหมือนที่พ่อค้าแม่ค้าไทยทำกันอยู่ กระทั่งการจ่ายเงิน การขนส่ง ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น เหมือนกับการซื้อของในไทยทุกอย่าง โดยรูปแบบจะผิดไปจากการสั่งซื้อสินค้าผ่าน e-Commerce สมัยก่อน ที่อยากจะได้สินค้าสักชิ้น ก็ต้องเข้าเว็บไซต์ต่างประเทศ อ่านภาษาอังกฤษ เพื่อไปค้นหา หรือต้องหาวิธีสั่ง วิธีชำระเงินที่ยุ่งยาก
 




     “ล่าสุดอีกตัวอย่างที่ผมเพิ่งไปเห็นมาคือ การปลอมตัวของเว็บไซต์เว็บหนึ่ง ซึ่งความจริงเป็นเว็บไซต์ที่มาจากจีน แต่กลับปลอมตัวว่าเป็นเว็บไซต์จากเยอรมนี โดยทำทุกอย่างขึ้นมาเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ถ้าคนไม่สังเกตดีๆ ก็คิดว่าน่าจะใช่ แต่พอลองอ่านจริงๆ แล้วจะรู้ว่าไม่รู้เรื่อง เพราะใช้ Google Translate แปลมา จากนั้นก็มาทำโฆษณาแปลเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง เพื่อให้เวลาลูกค้าเซิร์ชหาข้อมูลจะได้เจอเขา พอลูกค้าสนใจลองกดเข้าไปดูที่เว็บไซต์เห็นว่าเป็นหน้าเว็บภาษาอังกฤษ็น็ปำมาจากเยอรมนี ก็เกิดความเชื่อถือ นี่คือหนึ่งในลักษณะของการแทรกซึมเข้ามาของผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยก่อนหน้าที่จะมีออนไลน์การค้าขายส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เกือบทั้งหมด พอออนไลน์เริ่มเข้ามา ผู้ประกอบการรายเล็กก็เริ่มเข้ามาแบ่งพื้นที่ตลาด โดยสามารถเข้าไปสั่งสินค้ามาขายได้เหมือนที่รายใหญ่ทำ แต่ในวันนี้ผู้ประกอบการรายเล็กของไทยกลับโดนรายเล็กจากจีนไล่กินอีกทอดหนึ่ง กลายเป็นจากแต่ก่อนเราไปขอแบ่งซื้อสินค้าจากเขามาขาย แต่ตอนนี้เขากลับเป็นผู้กระโดดเข้ามาขายให้กับลูกค้าของเราโดยตรง”
 

     สำหรับในด้านธุรกิจบริการนั้น โดยส่วนใหญ่มักมีข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และเขตแดน เป็นตัวช่วยป้องกันการคุกคามจากผู้ประกอบการต่างประเทศที่จะเข้ามา แต่ในที่นี่หมายถึงเฉพาะบริการที่ต้องมีการเดินทาง มีการพบปะหน้าลูกค้า เพื่อให้บริการเท่านั้น แต่สำหรับบริการที่ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างสามารถรับงาน-ส่งงานกันได้ทันที โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยคือ รูปแบบธุรกิจที่ค่อนข้างจะได้รับผลกระทบมากและถูกคุกคามจากผู้เล่นในต่างประเทศ
 

     “ธุรกิจบริการที่จะถูกคุกคามในอนาคต ที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้คือ รูปแบบบริการที่สามารถทำงานได้ทันที โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ไม่ต้องมีการเดินทางไปหา และไม่ต้องยึดติดกับภาษา ยกตัวอย่างเช่น บริการรีทัชภาพ บริการเขียนโปรแกรม บริการวิเคราะห์ข้อมูล เกือบทุกชนิดผู้จ้างงานและผู้รับงานไม่ต้องเดินทางไปหากันก็ได้ เพียงแค่มีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการส่งงาน ซึ่งบริการเหล่านี้เองที่จะถูกผู้ประกอบการต่างชาติค่อยๆ แทรกซึมเข้ามา ฉะนั้นเห็นได้ชัดว่าบางครั้งมันไม่ใช่แค่การคุกคามอย่างเดียว แต่เป็นเพราะดีมานด์หรือความต้องการของลูกค้าในเมืองไทยเองที่วิ่งไปหาตลาดต่างประเทศด้วย ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างที่ดีกว่า พูดง่ายๆ ว่า ต่อไปอะไรที่สามารถปรับให้อยู่ในรูปดิจิทัลและส่งไฟล์ด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เดี๋ยวอีกสักพัก ไม่นานก็จะโดนทำอะไรบางอย่างเหมือนกัน”
 


 

   จากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเทรนด์การทำธุรกิจในอนาคต ผรินทร์แนะวิธีที่ SME จะใช้รับมือและสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องคือ การแสวงหาตลาด หรือผู้บริโภคตัวจริงของแบรนด์ให้เจอ
 

     “เมื่อฐานคู่แข่งเปิดกว้างมากขึ้น วิธีการที่จะทำให้ SME รายเล็กๆ อยู่รอดได้ โดยไม่ต้องไปแข่งกับคนหมู่มาก ก็คือหาบ่อเล็กของตัวเองให้เจอ และเป็นปลาใหญ่ให้ได้ หาบ่อที่ไม่มีใครมายุ่ง และเราเป็นปลาใหญ่ที่กินทุกตัวในบ่อนั้น จากนั้นก็ค่อยปรับตัวไปเรื่อยๆ หมั่นดูแลรักษาบ่อเล็กของตัวเองให้ดี ดูสิบ่อจะแห้งไหม มีกบเขียดไหลเข้ามาไหม พยายามหากลุ่มลูกค้าที่รักเรา และอยู่ในพื้นที่ของเรา การสร้างเอกลักษณ์ก็อาจเป็นวิธีหนึ่ง แต่ต้องดูด้วยว่าเอกลักษณ์ที่มีนั้น ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการหรือเปล่า ไม่ใช่มีเพื่อให้ต่างจากคนอื่นอย่างเดียว สำคัญที่สุดคือ ต้องหาลูกค้าให้เจอ และเอาสิ่งที่เขาต้องการไปให้เขา”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ