ease around แปลงงานศิลป์ ให้กลายเป็นงานขาย







      บ่อยครั้งที่เรามักเห็นงานศิลปะชิ้นสวย กลับกลายเป็นได้แค่ภาพแขวนประดับโชว์อยู่ในพิพิธภัณฑ์ อาคารสำนักงานต่างๆ แต่จะเป็นอย่างไรหากงานศิลปะดีๆ ชิ้นหนึ่งสามารถกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงอยู่ในชีวิตประจำวัน  เข้าถึงและจับต้องได้ง่ายขึ้น ease around คือ แบรนด์ที่ตอบโจทย์ในข้อนี้
 
      ป้อ – ชัยวัฒน์ อุทัยกรณ์ และตาล – วริษฐา จงสวัสดิ์ สองหนุ่มสาวผู้มีแนวคิดและความตั้งใจอยากนำชิ้นงานศิลปะงานดีไซน์เข้ามาใส่ไว้ในชีวิตประจำวัน ด้วยข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อสร้างทุกวันให้เป็นวันพิเศษสำหรับตัวเองและคนที่ชื่นชอบงานในรูปแบบเดียวกัน

      “ผมและแฟนเราทำงานในแวดวงงานออกแบบด้วยกันทั้งคู่ เราคิดทำแบรนด์ ease around ขึ้นมา เพราะอยากให้มีงานดีไซน์ในแบบที่เราชอบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยผลิตออกมาในรูปแบบข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพราะอยากทำทุกวันให้เป็นวันดีๆ สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถมีความสุขจากชิ้นงานเล็กๆ ที่เราสร้างขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นบนโต๊ะทำงาน ห้องนอน หรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้าน”ป้อกล่าว





      ease around เปิดตัวขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ทำออกมาส่วนใหญ่จะสื่อไปในแนวทางการสร้างความสุข ให้แง่คิดเล็กๆ ในการดำเนินชีวิต ผลงานที่ทำออกมาปัจจุบันมีอยู่ 4 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่ 1.ชุดโปสการ์ด 2018 I’m gonna make you good to me เป็น Postcard ปฏิทินสามารถใช้งานได้หลากหลายจะเป็นการ์ดแนบกับของขวัญหรือเขียนส่งความสุขทางไกลก็ได้ 2.ปฏิทินผ้าปี 2018 'My Fav. Ordinary' ที่มีภาพวาดประกอบบอกเล่าเรื่องราวความธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน 3.ชุดโปสการ์ด Love Still คอลเลกชันโปสการ์ดภาพวาดตัวละครในหนังรัก 9 เรื่องที่ไม่ได้จบแบบ happy ending พร้อม Quote จากหนังเรื่องนั้นๆ และ4.โปสเตอร์ผ้า Love Still ที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากหนังรัก 9 เรื่องเช่นกัน ใช้สำหรับตกแต่งผนังห้องหรือมุมโปรด

      โดยการออกแบบชิ้นงานในแต่ละคอลเลกชันนั้นจะมีการคิดคอนเซปต์ ถอดความเหมือนเช่นการทำงานโปรเจกต์หรือสร้างงานศิลปะขึ้นมาชิ้นหนึ่ง จากนั้นจึงค่อยมองหาวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ด้วยลายเส้นตัวการ์ตูนที่เรียบง่าย เส้นน้อย สีน้อย แต่เน้นอารมณ์ภาพ





      “ก่อนสร้างงานขึ้นมาสักชิ้น เราจะคิดคอนเซปต์ขึ้นมาก่อนถึงเรื่องราวที่ต้องการสื่อสาร แก่นของเรื่อง ว่าจะพูดเรื่องอะไรในโปรเจกต์นี้ อย่างตัวชุดหนังรัก 9 เรื่องที่คิดออกมา คือ ตอนนั้นเป็นช่วงใกล้วันวาเลนไทน์ เราก็มาคิดว่าความรักแบบไหนที่จะเป็นที่จดจำและถูกใจคนทั่วไปมากที่สุด เลยมาจบที่ว่าน่าจะเป็นความรักที่ไม่สมหวัง เพราะคนเราน่าจะจดจำความเศร้าได้มากกว่าความสุข จากนั้นก็ดูว่ามีหนังเรื่องอะไรบ้างที่มีเนื้อหาแบบนี้ สร้างธีมขึ้นมาและก็วาดเป็นรูปออกมา จากนั้นค่อยมาคิดหาวัสดุว่าจะทำใส่ในอะไรดี ถามว่าคุ้มค่าไหมที่ทำแบบนี้ ผมมองว่าคุ้มนะ เมื่อเปรียบเทียบสินค้าชนิดเดียวกัน แต่พอบวกงานดีไซน์เข้าไป มันทำให้เพิ่มมูลค่าขึ้นมาได้เยอะเลย ถึงจะใช้เวลาในการทำนานกว่า ซึ่งผู้ใช้ก็จะรู้สึกดีกับตัวสินค้ามากกว่าด้วย เพราะสิ่งที่เขาได้ไม่ใช่เพียงแค่ฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่เหมือนได้ซื้อประสบการณ์ซื้อความสุขให้กับตัวเองด้วย ผมรู้สึกว่า ease around เป็นแบรนด์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการทำธุรกิจกับงานศิลปะ คิดถึงตัวเอง แต่ก็คิดถึงคนอื่นด้วย”





      ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สินค้าของ ease around สามารถขายได้ราคามากกว่าสินค้าในประเภทเดียวกัน เนื่องจากนำงานดีไซน์มาสร้างเป็นมูลค่าเพิ่ม มีการคิดและออกแบบมาแล้ว

      “สินค้าในตอนนี้สำหรับโปสการ์ดเราจะขายอยู่ที่ชุดละ 250 บาท และโปสเตอร์ผ้า 350 บาท ราคาที่ตั้งไว้จะอิงกับกลุ่มเป้าหมายที่วางไว้ด้วยว่าเรากำลังสื่อสารกับใครอยู่ ลูกค้าที่เข้ามาส่วนใหญ่ เขาจะรู้ว่ากำลังซื้ออะไรอยู่ ไม่ใช่แค่สินค้า แต่คือ งานดีไซน์งานศิลปะชิ้นหนึ่ง คนส่วนใหญ่ที่มาเป็นลูกค้าเรา คือ คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง นักศึกษาหรือคนวัยทำงานตอนต้น และกว่าครึ่ง คือ ลูกค้าต่างชาติ ซึ่งผมมองว่าทุกวันนี้กลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ เริ่มให้ความสำคัญกับงานดีไซน์และศิลปะมากขึ้น มองศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ไม่ได้อยู่แค่ในพิพิธภัณฑ์หรือแกลลอรี่ ฉะนั้นเขาจึงเปิดรับสินค้าประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น ease around เราเข้ามาในช่องว่างการตลาดตรงนี้พอดี”


      ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ ease around จำหน่ายอยู่ที่ร้าน happening shop และในสื่อออนไลน์ต่างๆ เว็บไซต์ขายงานศิลปะ โดยในอนาคตป้อคาดหวังว่าอยากให้แบรนด์ของเขาพัฒนาเติบโตขึ้นมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นอะไร แต่ยังคงอยู่ในหมวดสินค้า Home & Living

      “เราไม่อยากจำกัดตัวเองว่าต้องเป็นอะไร ยังสนุกกับการลองทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ แต่ก็คาดหวังให้มันเติบโต ทั้งตัวผมเองหรือแบรนด์เอง เพราะส่วนหนึ่งของการทำ ease around คือ เพื่อพัฒนาตัวเองเหมือนกัน เพราะผมกับแฟนเองก็ทำงานด้านดีไซน์เหมือนกัน ถ้าเราสามารถทำแบรนด์ให้ดีได้ ก็น่าจะเข้าใจคนที่ทำงานดีไซน์ด้วยกัน ซึ่งก็จะส่งผลดีต่องานประจำของผมด้วยเหมือนกัน”




      นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่สามารถหาความลงตัว จุดกึ่งกลางระหว่างงานศิลปะและธุรกิจให้ดำเนินไปพร้อมๆ กันได้

Facebook : easearound


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น