​“กล้าล้ม” กฎเหล็กเปลี่ยนเพื่อรอด! สไตล์ FOOD PASSION







     FOOD PASSION (บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด) วันนี้ หรือ บริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด เมื่อ 30 ปีก่อน เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ถูกคุกคามจากเทคโนโลยีดิจิทัลจนต้องปรับตัวเองให้พ้นภาวะวิกฤตดังกล่าว ด้วยการทรานส์ฟอร์มตัวเองจากธุรกิจครอบครัว (Family Business) มาสู่องค์กรมืออาชีพ ที่เน้นความชัดเจนทั้งเรื่องโครงสร้างองค์กรและวิสัยทัศน์ (Vision) ที่ต้องการให้ฟู้ดแพชชั่นเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นอยู่เสมอ และถือว่าคนนั้นคือตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าโลกจะผันไปในทิศทางใดก็ตาม
 

     ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารเจน 2 ของธุรกิจ เล่าให้เราฟังถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของฟู้ดแพชชั่นที่เริ่มพันธกิจเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยการปฏิวัติตัวเองจากภายใน ทั้งในแง่แนวคิดของคนในองค์กร ตลอดจนโครงสร้างการทำงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าโดยมีอาหารเป็นสื่อกลาง
 


Cr: FOOD PASSION


     “กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงของเรา เรียกว่าเปลี่ยนตั้งแต่เชิงกลยุทธ์ โดยเรามองไปในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้าว่า ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงเราต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งก็เริ่มจาก 1.เรามีการแบ่งธุรกิจออกเป็น 80 : 20 โดย 80 เปอร์เซ็นต์จะยังโฟกัสอยู่ที่ธุรกิจหลักของเราในการทำการบริการจัดการร้านบาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซบฮัท และฮอตสตาร์ แต่เราจะมีอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่ไปศึกษาและมองการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
 

     “โดยจุดที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองคือ สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเราที่คอยทำลายล้างเรา (Disruption) มันมีเยอะมากขึ้น ซึ่งถ้าเราไม่เปลี่ยน ไม่ Disrupt ตัวเอง เราก็จะโดน Disrupt ถ้ามองในมุมหนีตายอาจเป็นเชิงลบหน่อย อย่างเมื่อก่อนเรามีคู่แข่งแค่ 200 ร้าน ตอนนี้แข่งขันกันที่ 2 หมื่น 2 แสน ร้านค้า ใครมีครัวทุกคนสามารถเปิดร้านอาหารได้หมด สั่งผ่านแอปพลิเคชันก็ยังได้เลย แน่นอนว่า ในช่วงที่ผ่านมาเรามีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นก็จริง แต่เราก็ถูกตามจี้ด้วยเช่นกัน นั่นคือเหตุผลที่เราจะอยู่เฉยต่อไปไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ฟู้ดแพชชั่นเราจะไม่มองมุมลบ แต่เรามองมุมบวก มุมบวกของเราก็คือ นี่คือโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมให้เกิดขึ้น”
 

     หัวใจสำคัญที่ทำให้ฟู้ดแพชชั่นประสบความสำเร็จในการทรานส์ฟอร์มตัวเองนอกเหนือจากเรื่องของเทคโนโลยี ชาตยาบอกเราว่า คือเรื่องคน โดยการเติมเต็มความคิด (Mindset) ของพนักงาน ให้เข้าใจลึกซึ้งถึงคำว่า โลกเปลี่ยนเร็ว ฉะนั้นเราต้องปรับตัวเองให้เร็วด้วย
 
 
     “เราใส่แนวคิดให้คนเข้าใจว่า เมื่อโลกเปลี่ยนเร็ว เราก็ต้องคิดเร็ว ทำเร็ว ล้มเร็ว ล้มไปข้างหน้า และต้องล้มให้ถูก ล้มเสร็จก็ลุกเพื่อไปต่อ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward เป็น Mindset ให้คนของเรากล้าล้ม เราเชื่อว่าไม่มีองค์กรไหนที่ตั้งเป้ามาให้คนทำงานเพื่อล้มเหลวหรอก ส่วนใหญ่ก็ต้องการทำให้สำเร็จทั้งนั้น เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น แต่ Mindset แบบ Disruption คือ คุณทำงานล้มเหลวได้เลย แต่คุณต้องล้มแล้วไปข้างหน้านะ ล้มแบบถูกทิศถูกทาง และต้องลุกให้เร็วด้วย แล้วค่อยๆ ไปต่อ เพราะถ้าเราเข้าใจความเป็นจริงของการทำงาน มันเป็นไปไม่ได้ที่ทำแล้วถูกเลย สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างรุนแรง (Radical Change) อย่างในปัจจุบันนี้”
 


     

     ทิศทางการทรานส์ฟอร์มของฟู้ดแพชชั่นเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า การยอมรับความจริงและลุกขึ้นสู้คือ หนทางเดินไปข้างหน้าบนโลกที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ได้ ฉะนั้นการปรับแนวคิดของคนในองค์กรเพื่อให้เกิดทักษะความสามารถให้ทันกับการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ คือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะต่อสู้ในยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านดิจิทัลนี้ได้อย่างแท้จริง
 

     “ความท้าทายของเราในการทรานส์ฟอร์มองค์กรมีอยู่ 3 ระดับ โดยถ้ามองในมุมระดับคนที่ทำงาน ซึ่งเขาอาจจะไม่คุ้นเคยกับวิธีคิดที่เราสร้างให้เขา เช่น เขาอาจจะคิดว่าล้มเหลวได้ด้วยเหรอ รวมถึงความรู้ด้านดิจิทัลที่เขาจะต้องใช้ แต่เราโชคดีที่องค์กรเรามีคน GEN Y อยู่เยอะพอสมควร ทำให้เขาพอเข้าใจเรื่องของดิจิทัลอยู่บ้าง แต่ยังต้องเติมอีกมาก ส่วนระดับกลาง พอเริ่มมีไอเดีย งานเดิมก็จะมีเยอะขึ้น สิ่งใหม่ก็ต้องทำ ความท้าทายของคนกลุ่มนี้ก็คือ ทรัพยากรที่จำกัด ทั้งเรื่องจำนวนคน จำนวนเงิน งบประมาณ ซึ่งเราก็ไม่ได้มีเงินมากมาย ก็ต้องมาคิดว่าจะจัดสรรอย่างไร จะเลือกทำอะไรและไม่ทำอะไร ต้องทำอะไรก่อนหลัง"
 

     “ส่วนความท้าทายของระดับบน คือเราอยู่กับความชัดเจนมาตลอดว่า เราทำธุรกิจร้านอาหารเราต้องเติบโตแบบนี้ พอมองภาพชัดว่า ร้านอาหารจะขายอาหารยังไงให้ลูกค้าชื่นชอบ หรือว่าคู่แข่งเราคือใคร แต่พอมาเป็นยุคนี้ คู่แข่งอาจไม่ใช่คู่แข่งคนเดิม แต่อาจจะเป็นคู่แข่งที่มาจากอุตสาหกรรมอื่นก็ได้ เช่น อาจมาจากธุรกิจพลังงานแต่มาทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งคู่แข่งจากภายในและนอกประเทศ ฉะนั้นอุปสรรคหรือความท้าทายในระดับบน มันจะคลุมเครือมาก ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แล้วที่ทำลงไปถูกต้องหรือเปล่า สิ่งที่ต้องทำคือ การเรียนรู้ที่จะทำงานอยู่บนความคลุมเครือของอนาคตเช่นนี้ให้ได้”





     รูปแบบการทำงานของฟู้ดแพชชั่นเพื่อให้ทันกับโลกยุคใหม่ พวกเขาเน้นการทำงานแบบทีมเล็ก ทำเร็ว โดยได้ตั้งหน่วยงานด้านนวัตกรรม (Innovation) ขึ้นมาในองค์กร ซึ่งนี่คือ 20 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่า จะเป็นอนาคตของฟู้ดแพชชั่นขนานแท้ โดยพวกเขาตั้งเป้าให้เป็นไอเดียนวัตกรรมใหม่อย่างสิ้นเชิง (Radical Innovation) เพื่อเป็นเหล่าทัพหน้าในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้ฟู้ดแพชชั่น
 

     “เราวางแผนธุรกิจแบบ Long Term ไว้ที่ 3 ปี โดยแบ่งการทำงานที่เน้น Innovation ออกเป็น 4 เฟส เฟสแรกเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจ Innovation ทำความเข้าใจโลกของการถูก Disrupt เฟสที่ 2 เรียกว่า Product Market Fit การนำโปรดักต์ออกสู่ตลาด เฟสที่ 3 คือ Scale Up หรือช่วงของการขยายตัว โดยเป็นการโตแบบ S-Curve เส้นโค้งรูปตัวเอส ที่เริ่มมีผู้ใช้จำนวนมหาศาล และเฟสที่ 4 เป็นเรื่องของ Culture เรื่องของคน ซึ่งปัจจุบัน เราทำเฟส 1 กับ 4 คู่กัน เพราะเราต้องการให้คนตระหนักรู้ถึงคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ซัดเข้ามานี้ว่า เราจะอยู่เฉยๆ ให้คลื่นซัดมาแล้วกลืนหายไป หรือเราจะกระโดดขี่คลื่นนั้น"
 

     “ทุกวันนี้เราก็ทำแล้ว ผ่านหน่วยงานในองค์กรของเรา ขณะเดียวกันเราก็สร้าง Mindset ที่ถูกต้อง ให้ความรู้เขา สร้าง Culture ว่าการล้มเหลวแบบไปข้างหน้าเป็นอย่างไร เพราะอยากให้มีคนกล้าทำ และกล้าล้ม ล้มเร็ว และล้มถูก ดีกว่าทั้งองค์กรไม่มีใครกล้าลงมือทำอะไรเลย”





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น