​จับคู่ธุรกิจ...ทางลัดเปิดตลาดใหม่ ช่วย SME โตเร็ว!







     ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้วสำหรับงาน SME Matching Day 2018 มหกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ครั้งใหญ่ของปีนี้ ซึ่งจัดโดยธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับบริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยงานดังกล่าว นับได้ว่าเป็นทางลัดที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้พบกับคู่ค้า ซึ่งเป็นช่องทางจัดจำหน่ายทั้งไทยและต่างประเทศรวม 20 ช่องทาง เพื่อนำไปสู่การขยายโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้น


 

SME แห่จับคู่ธุรกิจงาน SME Matching Day 2018

     ด้วยระยะเวลา 2 วันของการจัดงาน มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจมากกว่า 1,200 ราย เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของเอสเอ็มอีที่อยากเพิ่มโอกาสและช่องทางตลาดใหม่ๆ ให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศ โดยผ่านช่องทางค้าปลีก-ค้าส่ง อาทิ ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป, เอฟเอ็น แฟคทอรี่ เอ้าท์เลท, แม็คโคร, สพาร์, เล้งเส็ง ซูเปอร์สโตร์, เดอะมอลล์ กรุ๊ป, จิฟฟี่, แม็กซ์มาร์ท, และท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ลาซาด้า, แม็คโครคลิก, ทีวีไดเร็ค ออนไลน์ช้อปปิ้ง และทเวนตี้โฟร์ ช้อปปิ้ง รวมถึงกลุ่มช่องทางตัวแทนจำหน่าย เช่น สหพัฒน์
ขณะเดียวกันเมื่อโลกก้าวสู่ยุคไร้พรมแดน การขยายโอกาสสู่ต่างประเทศ สามารถเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และงานนี้เอสเอ็มอีจะมีโอกาสต่อยอดไปสู่ตลาดโลกได้ โดยผ่านช่องทางออนไลน์ของต่างประเทศ อย่าง shop.com.mm อีคอมเมิร์ซของเมียนมา, tiki.vn อีคอมเมิร์ซของเวียดนาม, SFBest.com กลุ่มโลจิสติกล์ของจีน, VIP.com อีคอมเมิร์ซของจีน, eBay.com อีคอมเมิร์ซของอเมริกา และ GoSoKo.com อีคอมเมิร์ซจากกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก





     ทั้งนี้ ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังที่ทำให้เกิดงานดังกล่าว สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เพราะธนาคารกสิกรไทยตระหนักดีว่า การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แค่เรื่องเงินทุนอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ต้องมีแรงสนับสนุนในหลายๆ ด้านด้วยกัน และหนึ่งในนั้น คือ การหาตลาด โดยให้เอสเอ็มอีได้มีโอกาสเลือกช่องทางที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายและขยายตลาดได้มากขึ้น


     โดยที่ผ่านมาการจัดงาน SME Matching Day ทั้ง 3 ครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมจับคู่ธุรกิจไปแล้วกว่า 2,000 ราย และปีนี้จำนวนผู้สมัครก็มีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งนอกเหนือจากการจับคู่ธุรกิจแล้ว อีก 2 กิจกรรมไฮท์ไลท์ที่มีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจได้ นั่นคือ การสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และการให้คำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เป็นพันธมิตรในการจัดงานดังกล่าว
 




เชื่อมโยง + ร่วมมือ = ความสำเร็จ SME ยุค 4.0

     สำหรับงาน SME Matching Day 2018 ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “SME ก้าวไกลสู่ตลาดโลก”      โดยย้ำกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่เป็นเศรษฐกิจระบบเปิด การค้าขายในเวทีโลกจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เอสเอ็มอีต้องมีภูมิคุ้มกัน ขณะเดียวกันก็ต้องใช้โอกาสนี้ในการสร้างการเติบโต เพราะเศรษฐกิจระบบเปิดจะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งในยุคที่ตลาดถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ดิจิทัล ทุกอย่างอยู่บนมือถืออย่างรวดเร็ว การแข่งขันมีความรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำให้เกิดความเข้มแข็งจากภายใน


     การเชื่อมโยง (Connection) และการร่วมมือ (Collaboration) เป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความเข้มแข็งได้ ทั้งนี้อาจจะเป็นความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการด้วยกัน หรือจะเป็นผู้ประกอบการกับลูกค้า หรือผู้ประกอบการกับคู่ค้าต่างๆ ก็ได้ โดย 2 สิ่งนี้จะนำมาซึ่งแนวคิดใหม่ๆ รูปแบบธุรกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากวันนี้เกมการแข่งขันได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีผู้ชนะและผู้แพ้ ทุกคนสามารถชนะด้วยกันได้ (Win-Win) แต่การจะทำให้ความร่วมมือและการเชื่อมโยงเกิดขึ้นได้นั้น ผู้ประกอบการต้องเข้าถึง เข้าใจ และมีทักษะที่จะใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจ และสำคัญที่สุดยุคนี้ ไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคของปลาเร็วกินปลาช้า ดังนั้นผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ตลอดเวลา และปรับตัวให้เร็วที่สุด
 




ทรัพย์สินทางปัญญา แต้มต่อสร้างศักยภาพธุรกิจ
               
     องค์ความรู้ ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องใช้สร้างศักยภาพให้ธุรกิจ ซึ่งในงาน SME Matching Day 2018 จัดให้มีสัมมนาหลากหลายหัวข้อที่จะติวเข้มให้กับผู้ประกอบการ โดยเริ่มต้นจากหัวข้อ “ทรัพย์สินทางปัญญา ก้าวสำคัญ SME” โดย ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังมีความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถเตรียมตัวที่จะทำการค้ายุคใหม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วทรัพย์สินทางปัญญา สามารถช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจได้ เพียงแต่ผู้ประกอบการต้องมองให้ครบรอบด้าน โดยวงจรชีวิตของทรัพย์สินทางปัญญา จะประกอบไปด้วย การสร้างสรรค์งาน การคุ้มครอง การส่งเสริมให้เกิดการซื้อขาย และการบังคับใช้สิทธิ์
               




     สำหรับการสร้างสรรค์งาน (Creation) ก่อนคิดวิจัย สร้างสรรค์งานใดก็ตาม จำเป็นที่จะต้องรู้ก่อนว่ามีใครทำสิ่งนั้นแล้วหรือยัง โดยผู้ประกอบการสามารถเช็กข้อมูลดังกล่าวนี้ จากฐานข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ เมื่อสร้างสรรค์งานได้แล้ว จะมาสู่ขั้นตอนการคุ้มครอง (Protection) ซึ่งในเรื่องของการคุ้มครองนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่ “ลิขสิทธิ์” เหมาะสำหรับงานศิลปะ วรรณกรรม หนังเพลง หรือจะเป็น “สิทธิบัตร” จะคุ้มครองสินค้าที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรม “เครื่องหมายการค้า” คุ้มครองตราสินค้า แบรนด์ “ความลับทางการค้า” คุ้มครองข้อมูลที่มีมูลค่าทางธุรกิจ เป็นความลับที่คนอื่นไม่รู้ เป็นต้น
               

     นอกจากนี้ ในวงจรของทรัพย์สินทางปัญญา ยังมีเรื่องของการส่งเสริมให้เกิดการซื้อขาย (Commercial) เป็นลักษณะของการขายไอเดีย หรือสิ่งที่คิด เพื่อให้ผู้อื่นไปลงทุนผลิตต่อ และสุดท้ายคือ การบังคับใช้สิทธิ์ (Enforcement) โดยตามกฎหมาย ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิทธิส่วนบุคคล หากจะดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เจ้าของสิทธิ์จะต้องไปเริ่มกระบวนการทางกฎหมาย คือการแจ้งความ ถึงตรงนี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ย้ำว่าผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา อย่าปล่อยให้ผู้อื่นละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง และในทางกลับกันต้องไม่ไปละเมิดผู้อื่นด้วย


 

ติดปีกธุรกิจ SME ให้สำเร็จด้วย E-commerce

     ในยุคนี้หากใครมองข้ามช่องทางออนไลน์ นั่นคือการปิดประตูความสำเร็จ ถอดจากกรณีศึกษาของ OfficeMate หากว่าวันนี้ OfficeMate ยังทำธุรกิจแบบดั้งเดิม ขายหน้าร้านเพียงอย่างเดียวก็คงโตไม่ได้ถึงพันล้าน วรวุฒิ อุ่นใจ ผู้บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายเครื่องเขียน องค์กรสำนักงาน ในช่วงเริ่มต้นวรวุฒิ เล่าว่าออฟฟิศเมทยังเคยเป็นแค่ห้องตึกแถวเล็กๆ เท่านั้น จนได้พัฒนามาเป็นการขายผ่านแคตตาล็อก ล่าสุดได้มีการทำเว็บไซต์และเข้ามาทำ E-commerce อย่างจริงจัง เพราะธุรกิจตอนนี้ไม่ทำออนไลน์ไม่ได้แล้ว ถ้าไม่ทำตั้งแต่วันนี้ วันข้างหน้าอาจจะตกเวทีธุรกิจไปได้ง่ายๆ
               

     การทำออนไลน์ในยุคนี้ง่ายกว่าสมัยก่อนมาก เนื่องจากมีระบบโลจิสติกส์ที่เข้ามารองรับ ไม่ต้องมีระบบขนส่งของตัวเองอีกต่อไป แต่สิ่งสำคัญในการขายสินค้าออนไลน์คือเรื่องของ Content โดยเฉพาะ Product Content จะทำอย่างไรให้ลูกค้าเห็นภาพและเข้าใจสินค้าถึงแม้จะไม่ได้เห็นของจริง วรวุฒิจึงได้เน้นย้ำว่า Content จะต้องมีพลังดึงดูดมากพอถึงจะทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าของคุณได้ นอกจากการสร้าง Demand ให้ลูกค้าต้องการสินค้าของคุณบนโลกออนไลน์แล้ว สิ่งสำคัญมากกว่านั้นคือการสร้าง Supply Chain Management หรือกระบวนการหลังการขายที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาซื้อสินค้าซ้ำอีก  นอกจากนี้การทำ E-commerce ยังมีหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการพาธุรกิจเข้าไปอยู่ใน Marketplace ต่างๆ เช่น Lazada, Shopee การสร้างเว็บไซต์ของตัวเองไปจนถึงการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งทุกคนต้องเริ่มทำตั้งแต่ในวันนี้ เพราะหากอนาคตที่จีนบุกเราอย่างเต็มที่ ในวันนั้นเราอาจจะไม่มีที่ยืนอีกต่อไป
 




อินเดียในมุมใหม่ โอกาสที่ท้าทาย SME
               

     การก้าวไปสู่ตลาดใหม่ๆ ถือเป็นอีกช่องทางให้เอสเอ็มอีได้เติบโต โดยเฉพาะ “ตลาดอินเดีย” แต่เมื่อพูดถึงอินเดีย หลายคนอาจนึกภาพความเสื่อมโทรมและชนชั้น หรือมองแค่มุมของศาสนา การไปแสวงบุญ แต่แท้ที่จริงแล้วอินเดียมีอะไรมากกว่านั้น อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ได้พูดถึงอินเดียในมุมมองใหม่ที่ใครหลายคนอาจจะไม่เคยรู้
               

     “อินเดียมีอะไรดีกว่าที่คุณคิด เขาใหญ่กว่าเรา 6 เท่า บางคนมักจะคิดถึงการแสวงบุญที่อินเดียไปรัฐพิหารที่ยากจนสุดๆ ส่วนมุมไบก็เจริญสุดๆ เหมือนกัน บ้านที่แพงที่สุดในโลก อยู่ที่อินเดียของมหาเศรษฐีที่ชื่อ Mukesh Ambani รวยที่สุดในอินเดีย บ้านราคาสามหมื่นกว่าล้าน ที่ครบทุกอย่างในนั้น เวลาจัดเลี้ยงจะส่ง Private Jet มารับเชฟจากไทยไปทำอาหาร มีทีมสปาไทยอยู่ในบ้าน 4 คน นี่คือความรวยแบบอินเดีย”
      
         



     โดยอดุลย์ได้บอกว่าประเทศไทย คือ Destination หรือจุดหมายปลายทางที่คนอินเดียชอบมากที่สุด ยิ่งสินค้าที่เป็น Made in Thailand ยิ่งถูกใจคนอินเดีย นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นสถานที่แต่งงานที่คนอินเดียนิยมมากที่สุดอีกด้วย ในแต่ละปีจะมีบ่าวสาวชาวอินเดียมาแต่งงานกว่า 300 คู่ เลยทีเดียว ล่าสุดประชากรของอินเดียอยู่ที่ประมาณ 1,324 ล้านคน มีคนฐานะปานกลางขึ้นไปอยู่ที่ 400 ล้านคน คนอินเดียมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 27 ปี ทำให้ส่วนใหญ่จึงเป็นคนวัยแรงงาน มีกำลังในการซื้อสินค้า และด้วยความที่อินเดียเป็นประเทศที่ใหญ่ แต่ละรัฐก็เหมือนเป็นหนึ่งประเทศ มีภาษา วัฒนธรรม พฤติกรรมที่ต่างกันไป มีทั้งคนรวยและคนจน ทำให้ในอินเดียมีกลุ่มตลาดที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับคุณจะเจาะตลาดกลุ่มไหน สินค้าเหมาะกับใครกลุ่มที่น่าสนใจมากคือกลุ่ม Hi-end เพราะมหาเศรษฐีในอินเดียที่มีรายได้สูงมากมีเกือบสองแสนคน พวกเขามักจะชอบสินค้าที่มีชิ้นเดียวในโลก สินค้าที่ซื้อได้ก่อนคู่แข่ง สินค้าที่ต้องแย่งกันซื้อ
               

     สิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจกับอินเดียคือทัศนคติ ก่อนอื่นคุณจำเป็นต้องปรับทัศนคติของตัวเอง เปิดรับพวกเขาให้มากขึ้น แล้วคุณจะค้นพบว่าอินเดียมีอะไรมากกว่าที่คุณคิด

 


พลิกโฉม SME ด้วย Digital Transformation
               

     ในยุคนี้เรื่องของดิจิทัล คือเรื่องใหญ่ที่จะช่วยให้ธุรกิจสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เก๋าเกมมาอย่างยาวนาน หรือแม้แต่ Startup เกิดใหม่ที่ใช้ดิจิทัลมาแก้ไขปัญหา อย่าง 2 ธุรกิจนี้ “สมใจ” ร้านขายเครื่องเขียนที่เปิดมากว่า 60 ปี และ “Freshket” แหล่งรวมวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารบนโลกออนไลน์


     เริ่มต้นกันที่ร้านสมใจ โดยทายาทรุ่นที่ 3 นพนารี พัวรัตนอรุณกร ได้ใช้ดิจิทัลเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจจากเดิมที่มีแต่หน้าร้าน จนตอนนี้ได้เปิดสาขาล่าสุดบนโลกออนไลน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากที่จะมีสมใจบนโลกออนไลน์แล้ว นพนารียังได้พัฒนาธุรกิจจากดั้งเดิมที่ไม่ได้มีระบบบริหารภายในมาทำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ระบบที่ช่วยจัดการงานต่างๆ ขององค์กร เช่นเรื่องจัดการสต็อกสินค้า รับเข้ามา ขายออกไป ทำให้การทำงานของร้านสมใจที่มีหลายสาขา มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
               

     ส่วนการเปิดสาขาบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งที่นพนารีบอกว่ามันเป็นเทรนด์ ถ้าไม่เริ่มทำในวันนี้ วันข้างหน้าก็ต้องทำอยู่ดี โดยความยากที่สุดคือการจัดเตรียมข้อมูลเนื่องจากสินค้าของร้านสมใจมีประมาณ 60,000 SKU (Stock Keeping Unit) จึงต้องใช้เวลาเลือกสินค้า จัดทำข้อมูลค่อนข้างนาน อีกเรื่องที่สำคัญในการขายบนออนไลน์ คือการคงความเป็นมืออาชีพในเรื่องของบริการ จะมีการเทรนพนักงานในการตอบลูกค้าด้วยความรวดเร็ว ให้ข้อมูลต่างๆ ที่ลูกค้าต้องการ ท้ายที่สุดคือการทำ Content ที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า
               




     ทางด้านของ Freshket ที่พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์ เริ่มต้นจากการรับรู้ปัญหาของร้านอาหารต่างๆ ที่มีความยุ่งยากในการรับส่งออเดอร์ หาวัตถุดิบในการทำธุรกิจ ลูกค้าหาซัพพลายเออร์ยาก ซัพพลายเออร์เจอลูกค้ายาก Freshket จึงเข้ามาเติมเต็มช่องว่างระหว่างคน 2 กลุ่มด้วยการเป็นแพลตฟอร์มที่รวมของสด ของแห้ง วัตถุดิบสำหรับร้านอาหารหรือจะเรียกว่าตลาดสดออนไลน์ก็ยังได้ ความน่าสนใจของ Freshket คือความสะดวกในการใช้งาน ที่ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งานจริงๆ เช่น แม่ครัว คนสั่งซื้อวัตถุดิบ นอกจากนี้ยังสะดวกด้วยการออกบิล ใบอินวอย ใบเสร็จแบบอัตโนมัติ ไม่ต้องมาเสียเวลาแบบวิธีสั่งของดั้งเดิมอีกต่อไป ลูกค้าสามารถคลิกเลือกซื้อสินค้า ระบุวันและเวลารับสินค้า จากนั้นรอรับสินค้าและค่อยจ่ายเงินทีหลัง ซึ่งสะดวกและรวดเร็วสำหรับร้านอาหารเป็นอย่างมาก
               

     ล่าสุด Freshket ได้พัฒนาไปอีกขั้นด้วยแพลตฟอร์มที่ชื่อ Freshket insight ที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับเจ้าของร้านและผู้ใช้งาน เปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ดูข้อมูลการสั่งซื้อย้อนหลัง สั่งของอะไร เท่าไหร่ ราคาสินค้าขึ้นลงเท่าไหร่ เพื่อช่วยให้เขาจัดการการสั่งซื้อสินค้าได้ง่ายยิ่งขึ้น ช่วยในการกำหนด Food cost ของร้านอาหารได้อีกด้วย
               

     และนี่ก็เป็นเพียงแค่ 2 ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจการ ความสำคัญของดิจิทัลไม่เพียงแค่ทำให้การทำงานง่ายขึ้น เข้าถึงลูกค้าง่ายขึ้น แต่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้ธุรกิจของคุณเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง 
               

     ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือสิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับกลับไปจากงาน SME Matching Day 2018 เห็นไหมว่า แค่มางานเดียว อนาคตทางธุรกิจของคุณอาจเปลี่ยนไปตลอดกาล
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

“ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน