Maison Craft แบรนด์ที่นักออกแบบจับมือกับชุมชน สร้างสรรค์งานหัตถกรรมไทยสู่สายตาชาวโลก

 





     เสน่ห์อย่างหนึ่งของประเทศไทยคืองานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ใช้สองมือในการรังสรรค์วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้กลายเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่มีชิ้นเดียวในโลก แต่ด้วยวันและเวลาที่ผ่านไป ทำให้งานหัตถกรรมไทยค่อยๆ จางหายไปตามเวลา เป็นที่น่าเสียดายไม่น้อยถ้างานหัตถกรรมเหล่านี้จะไม่มีอีกต่อไปแต่ 1 ในแบรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นคุณค่าของงานหัตถกรรมไทยคือ Maison Craft ที่ใช้การออกแบบดีไซน์ในสไตล์คนรุ่นใหม่เข้าไปปลุกงานหัตถกรรมไทยในชุมชนมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
               

     เมย์ - เมทินี รัตนไชย ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Maison Craft ได้บอกว่าตัวเธอเองมีความสนใจในงานหัตถกรรมไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งเธอมีโอกาสได้คลุกคลีกับงานหัตถกรรมมากขึ้นเมื่อตอนที่เธอได้ทำงานด้าน Interior Design พร้อมกับเธอได้รู้จักชุมชนหนึ่งที่น่าสนใจในจังหวัดจันทบุรีผ่านเพื่อนของเธอที่เป็นนักเดินทาง ทำให้เธอได้ลงพื้นที่ไปดูและเห็นว่ามีวัสดุที่มีคุณค่าของไทยนั่นคือ ปอ
               

     “ปอ คือวัสดุที่มีคุณค่าของไทยเรา จะขึ้นในน้ำ เจริญเติบโตได้ดีในแถบชายฝั่งทะเลเพราะปอจะชอบน้ำกร่อย เป็นข้อดีของปอคือจะมีเกลืออยู่ในเนื้อ ทำให้ปลวก มด ราอะไรพวกนี้จะไม่ขึ้น ซึ่งการทำหัตถกรรมจากปอเป็นรายได้เสริมของชุมชน ไม่ทำก็ได้ เพราะอย่างที่รู้ว่าจันทบุรีเป็นแหล่งปลูกทุเรียนและผลไม้ที่ดังมาก แต่ว่าการที่ชุมชนเขาอยู่ได้เพราะเขารักในสิ่งที่เขาทำ พอเมย์เข้ามาเห็นตรงนี้ เราก็รู้สึกว่าอยากให้ปอมันไปได้ไกลกว่านี้ เพราะถ้าเขายังทำในรูปแบบเดิม เหมือน 10-20 ปีที่ผ่านมา สักวันมันก็จะหมดไป”
 




ดีไซน์เนอร์ผู้พางานหัตถกรรมไทยไปไกลสู่ต่างประเทศ
               

     หลังจากที่เมย์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนฐานะนักออกแบบและผู้ที่จะพางานหัตถกรรมไปไกลสู่ต่างประเทศ เธอได้ก็นำทักษะต่างๆ ที่เธอมีผสานเข้ารวมกับภูมิปัญญาของชาวบ้านออกมาเป็นผลงานหัตถกรรมไทยที่ดูยกระดับมากขึ้น เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มากขึ้น
               

     “ตัวเราเป็นนักออกแบบ เราก็พยายามที่จะพัฒนาออกมาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีลวดลายมากขึ้น มีสีสันที่เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ตอนนี้จะมีพวกที่รองจาน ที่รองแก้ว หลายไซส์ มีพวก Table Runner เสื่อ และกำลังจะทำโคมไฟในคอลเลคชั่นหน้า เราเข้าไปร่วมกับชุมชน ทำเป็นแบรนด์ขึ้นมา ชุมชนไม่ได้มีความกังวลใจใดๆ ที่เมย์เข้าไปสร้างเป็นแบรนด์เมย์ แทนที่จะสร้างในแบรนด์ชุมชน เขารู้สึกว่าเขายินดี อยากที่จะสนับสนุนเมย์ เพราะเราทำให้สินค้าที่เป็นความภาคภูมิใจของเขาไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ ลูกค้าแฮปปี้ กลับมาซื้อซ้ำ เขาก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเรา เราเอาสิ่งที่เรามีบวกสิ่งที่เขามีรวมกันให้กลายเป็นสินค้าที่ถูกยกระดับมากขึ้น”
 




ไม่ใช่แค่ที่รองจาน แต่คือวิถีชุมชนที่มีคุณค่า
               

     คุณค่าของแบรนด์ Maison Craft คือกระบวนการผลิตที่ถูกถักทอทำออกมาด้วยใจของคนในชุมชน ซึ่งคุณค่าตรงนี้นี่แหละที่ทำให้แบรนด์ Maison Craft เป็นที่ถูกใจลูกค้าต่างประเทศ
               

     “เดิมทีชุมชนเขาก็นำปอมาทำเป็นเสื่อ ด้วยความใช้เวลาค่อนข้างนาน ปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว เพราะปอมันทำได้ครั้งหนึ่ง เก็บได้ครั้งหนึ่ง จากนั้นเก็บมาต้องฉีกเป็นเส้น ฉีกเปลือกมันออกมาให้เป็นเส้นเล็กลง ตากแดดให้แห้ง พอได้ที่ก็จะเอาไปปั่น จนได้เส้นต่อเส้นที่ยาวต่อกันเป็นหนึ่งม้วนที่พร้อมจะนำไปสาน กว่าจะผ่านมาถึงตรงนี้ต้องผ่านคนในหมู่บ้านหลายคนช่วยกัน แต่ละคนก็ทำหน้าที่คนละอย่าง เขาก็เป็นชุมชนที่ไปมาหาสู่กันตลอดเวลา ตอนนี้ตลาดที่ต้องการก็มีจีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส คือเขารู้ว่ามันเป็นสินค้าธรรมชาติและเป็นสินค้าทำมือ ซึ่งทางบ้านเขาไม่มีแบบนี้แล้วทั้งตัววัสดุเองและกระบวนการทำมือด้วย มันเป็นข้อดีในข้อเสียที่บ้านเรายังไม่มีเทคโนโลยีที่เข้าถึงชุมชนขนาดนั้น ลูกค้าเขาเข้าใจในสิ่งที่สื่อสารออกไปมันไม่ใช่แค่ที่รองจาน แต่มันคือวิถีชุมชน คือ Community ของผู้ผลิตที่มีใจรักในงานหัตถกรรมตรงนี้”
 




ใช้งานดีไซน์เข้าไปสร้างรายได้ให้ชุมชน
               

     หลังจากที่แบรนด์ Maison Craft เข้าไปทำงานกับชุมชน สิ่งสำคัญที่สุดคือการอนุรักษ์งานหัตถกรรมที่ทรงคุณค่านี้ไว้และยังทำให้คนอีกมากมายได้มีโอกาสรู้จักความสวยงามของการสานด้วยใบปอ สิ่งที่รองลงคือการที่ชาวบ้านมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
               

     “แน่นอนว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน พอผลิตภัณฑ์ของเราเป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ในแต่ละปีคนในชุมชนก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไปหาตลาดที่อื่น เพราะเรามีลูกค้ามารองรับ ต่อคิวเลย แต่ถือว่ากำลังการผลิตยังน้อยมาก น้อยกว่าความต้องการ ก็อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้การทำแบบนี้ ลูกหลานของแต่ละบ้านถ้าเขาเริ่มสานต่อ เราก็จะใจชื้นขึ้นว่าภูมิปัญญาตรงนี้จะไม่หายไปแน่นอน”
 



               
     นี่คือตัวอย่างของการนำเอาความคิดสร้างสรรค์ การดีไซน์ไปหลอมรวมกับภูมิปัญหาไทยที่หลายคนอาจหลงลืมจนกลายเป็นแบรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่มีกลิ่นอายของชุมชน อย่างแบรนด์ Maison Craft ที่ทำให้งานหัตถกรรมไทยๆ ไปสู่ต่างประเทศได้ด้วยงานดีไซน์และภูมิปัญญาไทยที่แตกต่าง



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น