ส่องโอกาสตลาดหมื่นล้าน ‘ธุรกิจบริการผู้สูงอายุ’

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : ปกรณ์ พลชัย




Main Idea
 
  • พลเมืองผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 
  • จำนวนผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม เวลาเดียวกันก็สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ด้วย โดยปัจจุบันมีธุรกิจบริการผู้สูงอายุที่จดทะเบียนอยู่กว่าพันราย นอกระบบอีกประมาณ 4 พันราย มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่หลักหมื่นล้านบาท
 
  • ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดนี้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1.5 เท่า จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์  ตลอดจนทัศนคติที่เปลี่ยนไปของครอบครัวไทยที่มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น




     การเพิ่มขึ้นของพลเมืองผู้สูงวัย เป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุอยู่ที่กว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ทั่วโลกไม่ว่าจะยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน หรือแม้แต่สิงคโปร์ ก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วเช่นเดียวกัน  จำนวนผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม แต่เวลาเดียวกันก็ได้สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นด้วย
               




      นายแพทย์ ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย บอกถึงโอกาสที่มาพร้อมกับตลาดผู้สูงอายุว่า ผู้สูงอายุต้องการการดูแล ซึ่งการดูแลที่ดีที่สุดคือที่บ้านหรือศูนย์พักพิง โดยการดูแลที่บ้านต้นทุนจะสูง โดยเฉพาะหากเป็นกรณีผู้สูงอายุติดเตียงก็ต้องใช้คนดูแลมากกว่าหนึ่งคน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสูงขึ้น จึงมีธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เข้ามาแก้ปัญหานี้คือธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของผู้สูงอายุชาวไทยและต่างชาติอย่างมาก




     “วันนี้การส่งเสริมให้เกิดสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุที่มีมาตรฐาน ผู้สูงอายุไปแล้วมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ต้องมีบริการสำหรับผู้สูงอายุที่อาจมีรายได้น้อย ไม่มีญาติดูแลด้วย รวมถึงต้องส่งเสริมกระบวนการดูแลผู้สูงอายุที่ตกงานหรือเกษียณให้มีรายได้ โดยการมาทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุในสถานบริการผู้สูงอายุ ส่งเสริมการทำกิจการหรือสถานที่พักฟื้นอย่างสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (Day Care) เป็นชมรม
สำหรับผู้สูงอายุ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เหล่านี้เป็นต้น” นายแพทย์ ฆนัท บอก


     การเติบโตของตลาดผู้สูงวัย นำมาสู่โอกาสธุรกิจการดูแลผู้สูงอายุ ที่กำลังเป็นหนึ่งดาวเด่น โดยมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีธุรกิจบริการผู้สูงอายุที่จดทะเบียนอยู่กว่าพันราย นอกระบบอีกประมาณ 4 พันราย มีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่หลักหมื่นล้านบาท ครอบคลุมทั้งสถานดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน (Day Care) บ้านพักผู้สูงอายุ (Retirement Home ) บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (Home Care) ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) สถานฟื้นฟูผู้สูงอายุ และกลุ่มโรงพยาบาล โดยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 1.5 เท่า จากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์  ตลอดจนทัศนคติที่เปลี่ยนไปของครอบครัวไทยที่มีความรู้ความเข้าใจและนิยมนำพ่อแม่มาฝากสถานดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น




     อย่างไรก็ตามการเข้ามาในธุรกิจนี้ไม่ง่าย นายแพทย์ ฆนัท บอกเราว่า เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนจึงมีความเข้มงวดเรื่องมาตรฐานการให้บริการ มีพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพดูแลอยู่ ผู้ที่จะเข้ามาทำจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจ ขณะที่ผู้เล่นที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดการแข่งขันเรื่องราคา ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการ และนั่นกระทบต่อธุรกิจโดยรวมด้วย ตลอดจนความท้าทายเรื่องบุคลากรโดยเฉพาะคนดูแลผู้สูงอายุที่ยังคงขาดแคลน ซึ่งนี่เป็นพันกิจของสมาคมที่จะให้ความรู้ทั้งกับสมาชิกและคนที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง


     “คนที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ เขาต้องศึกษาข้อมูลเรื่องกฎหมายกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ให้ลึกซึ้งก่อน ขณะที่การลงทุนอาจต้องศึกษาเรื่องสถานที่ให้พร้อม เพราะหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้คือโลเคชั่นที่ดี ซึ่งก็คือการอยู่ในพื้นที่ที่สงบ ร่มรื่น สามารถสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อเอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ก็จะตอบโจทย์ลูกค้าได้มาก ซึ่งสมาคมฯ พร้อมให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่สนใจในธุรกิจนี้ เพื่อที่จะลงทุนได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น ขณะที่สมาชิกสมาคมฯ เอง เราก็มีการจัดอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการ และผู้ดูแลผู้สูงอายุด้วย” เขาบอก


     ปัจจุบัน สมาคมส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุไทย มีสมาชิกประมาณ 200 ราย ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 300 ราย โดยตั้งเป้าเป็น 500 รายใน 3 ปี ส่วนพันธกิจในปีนี้คือการผลักดันให้สมาชิกเข้าสู่มาตรฐานสถานประกอบการ ความปลอดภัยและการให้บริการ ตามประกาศกฎกระทรวงของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ขณะเดียวกันก็มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความมั่นคงในการประกอบธุรกิจ ผ่านการจัดอบรมต่างๆ มีโครงการพี่สอนน้องให้ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้ถ่ายทอดความรู้สู่ผู้ริเริ่มธุรกิจใหม่ รวมถึงการส่งเสริมการขยายลูกค้าสู่กลุ่มชาวต่างชาติมากขึ้นด้วย ซึ่งยังมีโอกาสอีกมากในอนาคต





     การมาถึงของสังคมผู้สูงอายุยังเป็นความท้าทายของประเทศไทย แต่ก็เป็นโอกาสที่ธุรกิจบริการผู้สูงอายุจะได้เติบโตขึ้น เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไปด้วย
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​