“เตมเป” อาหารจากโลกมุสลิม ที่กำลังโด่งดังในหมู่คนรักสุขภาพ

Text & Photo : sir.nim





Main Idea
 
  • “เตมเป” อาหารพื้นบ้านของชาวอินโดนีเซีย ผลิตจากถั่วเหลืองหมัก จากเชื้อราที่มีประโยชน์ เป็นแหล่งสารอาหารประเภทโปรตีน วิตามินบี 12 และเกลือแร่ ปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มคนรักสุขภาพ และวัยทำงาน
 
  • “Bavashi Tempe” หนึ่งในแบรนด์ผู้ผลิตเตมเปของเมืองไทย จังหวัดปัตตานี ที่แปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ เตมเปสด เตมเปขนมอบกรอบ บาร์เตมเป เตมเปข้าวสังข์หยด ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงกินเจปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์




     สิ่งหนึ่งที่เรามักได้เห็นในช่วงกินเจ คือ แต่ละปีมักมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารเจ อาหารมังสวิรัติ หรืออาหารปลอดเนื้อสัตว์ใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับการกินเจปีนี้ที่อยากแนะนำให้รู้จัก ก็คือ “เตมเป” อาหารของชาวมุสลิมที่ใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนรักสุขภาพอยู่ในขณะนี้ เป็นตัวเลือกที่น่าลิ้มลอง ไปจนถึงโอกาสใหม่ทางธุรกิจในตลาดอาหารสุขภาพที่น่าสนใจด้วย
               

     “ร้านเตมเป ปัตตานี” คือ ผู้ริเริ่มผลิตเตมเปในเมืองไทยเมื่อ 7 ปีก่อน ตั้งแต่สมัยที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเตมเป จนปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยมและถูกพูดถึงจำนวนมากในหมู่คนรักสุขภาพอยู่ในขณะนี้



               

     สุวัฒนา ลิ้มยุ่นทรง หนึ่งในเจ้าของร้านเล่าให้ฟังว่า เตมเป คือ หนึ่งในอาหารพื้นบ้านของชาวอินโดนีเซีย ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามกว่าร้อยละ 80 โดยเกิดจากการนำถั่วเหลืองมาหมักด้วยเชื้อรา Rhizopus oligosporus (โรไซปัส โอลิโกสปอรัส) ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีประโยชน์ ทำให้เกิดเส้นใยสีขาวช่วยยืดถั่วเหลืองให้ติดกันแน่นจนเป็นก้อน จากนั้นจึงนำไปประกอบอาหารต่างๆ เพื่อใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ โดยวิชาญ อนิสงค์ สามีของเธอได้มีโอกาสไปศึกษาที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อกลับมาจึงได้นำมาลองทำขาย เนื่องจากเห็นว่าในขณะนั้นยังไม่ค่อยมีการผลิตในเมืองไทย และน่าจะมีโอกาสในตลาดคนไทยมุสลิม โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส
               




     “ช่วงแรกนั้นเรามองว่าเตมเปน่าจะได้รับความนิยมในหมู่คนมุสลิมในไทย เนื่องจากคนอินโดนีเซียเองส่วนใหญ่ก็นับถือศาสนาอิสลามเหมือนกัน และใช้ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คิดเนื่องจากเขายังไม่ค่อยคุ้นเคยในรสชาติ และด้วยวิถีของคนจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้ชอบลองอะไรใหม่ๆ และยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องลอง  อายุการเก็บรักษาก็ไม่นานด้วย เราจึงลองเข้าไปปรึกษากับหน่วยงานรัฐ ซึ่งก็ได้ทาง NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) เข้ามาช่วยพัฒนาปรับปรุงสูตรให้ได้มาตรฐานมากขึ้น เพราะนอกจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว การผลิตในช่วงแรกนั้นเราก็ทำแบบพื้นๆ ตามสูตรที่ได้รู้มา ไม่ได้มีการนำหลักวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ ทำให้บางครั้งอาจมีปัญหาไม่พึงประสงค์บ้าง เช่น เหม็นกลิ่นแอมโมเนียจากยีสต์ที่นำมาใช้หมัก ขอบถุงมีราดำเกิดขึ้น พอลูกค้าเห็นก็ไม่กล้ารับประทาน แต่พอได้รับความช่วยเหลือตรงนี้ ทุกอย่างก็ดีขึ้น อายุการเก็บรักษาก็ดีขึ้น ทำให้เราสามารถขยายตลาดและขนส่งไปยังพื้นที่ไกลๆ ได้”
               




     นอกจากจะได้รับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อสามารถผลิตให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ร้านเตมเป ปัตตานีก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของตลาดให้มากขึ้นด้วย โดยการนำเตมเปไปแปรรูปเป็นอาหารรูปแบบต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น อาทิ เตมเปอบกรอบ บาร์เตมเปที่ผสมธัญพืช เตมเปข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นวัตถุดิบขึ้นชื่อของภาคใต้ แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงตัวต้นตำรับที่เป็นเตมเปสดไว้ด้วย และตั้งชื่อแบรนด์ว่า “Bavashi Tempe” (บาวาชิ เตมเป) หมายถึง พ่อครัว





     จากการนำเตมเปมาพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ทั้งตลาดคนรักสุขภาพและบุคคลทั่วไป และกลายผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต้องการของตลาด อย่างในช่วงกินเจปีที่แล้วที่ผ่านแบรนด์มียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว โดยปัจจุบันมีลูกค้าเป็นคนกรุงเทพฯ สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ คือ กลุ่มคนรักสุขภาพและคนวัยทำงานที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ





     สุวัฒนากล่าวว่าปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการหันมาผลิตเตมเปเพิ่มมากขึ้น ในส่วนตัวธุรกิจของเธอและสามีเอง ก็ได้มีการต่อยอดรับผลิต OEM ด้วย โดยนอกจากผลิตที่ปัตตานีแล้ว อนาคตยังวางแผนที่จะขยายการผลิตมายังจังหวัดราชบุรี เพื่อให้สามารถขนส่งได้ใกล้กับกรุงเทพฯ รวมถึงส่งไปยังจังหวัดในภูมิภาคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย โดยที่สินค้ายังสดใหม่อยู่


      “จริงๆ แล้วประโยชน์ของเตมเปมีเยอะมาก นอกจากเป็นโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ ในเตมเปยังมีเกลือแร่ และวิตามินบี 12 ค่อนสูงมาก ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง และระบบการย่อยอาหาร ความจริงแล้วการกินเตมเปไม่ได้ยากเลย เราสามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะผัด แกง ทอด ยำ อะไรก็ได้ ใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ได้เลย ซึ่งพอกระจายออกไปให้ผู้บริโภคได้รู้จักมากขึ้นแล้ว วันหนึ่งเราจะมองกลับมาที่ตลาดมุสลิมที่เป็นเป้าหมายแรกของเราด้วย เพราะยังไงเราก็ยังมีความเชื่อว่าต้องไปได้ดี และเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ อย่างคนมุสลิมเองมีช่วงหนึ่งที่เขาต้องเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เขาก็สามารถนำเตมเปที่เราพัฒนาสูตรให้ยืดอายุเก็บรักษาได้นานยิ่งขึ้น พกพาไปได้ด้วย ทำให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น”





     ปัจจุบัน Bavashi Tempe ในภาคกลางมีจำหน่ายแล้วที่ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างเครือเซ็นทรัล สำหรับเตมเปสดที่เป็นต้นตำรับจะจำหน่ายอยู่ที่ชิ้นละ 45 บาท (200 กรัม) โดยสามารถเก็บในช่องแช่แข็งในอุณหภูมิติดลบ 21 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 – 3 เดือน และในอุณหภูมิตู้เย็นธรรมดาเก็บได้ 15 วัน
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเพื่อเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น