สุดยอดนวัตกรรมแห่งปี! “NARAI LLIF” วัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกสันหลังฝีมือคนไทยที่โลกทึ่ง

TEXT :  กองบรรณาธิการ
PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand





Main Idea
 
  • ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน “วัสดุดามกระดูก” ยังไม่มีผลิตในประเทศไทย เรายังต้องนำเข้าและมีราคาแพง ที่สำคัญยังไม่เหมาะกับสรีระของคนเอเชียอีกด้วย ขณะที่คนไทยประสบอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกแตกหักเป็นจำนวนมาก
 
  • ออโธพีเซีย จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2545 โดยเป็นบริษัทแรกในไทยที่ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ประเภทวัสดุดามกระดูกฝังใน ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากกว่า 140 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทยในปัจจุบัน
 
  • พวกเขาคิดค้นนวัตกรรมวัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกสันหลังชุดนารายณ์ (NARAI LLIF) และนั่นส่งผลให้ “ออโธพีเซีย” สามารถคว้ารางวัล The Best SME Thailand Inno Awards 2019 รางวัลสูงสุดของการประกวดนวัตกรรมแห่งปีในปีนี้มาครอบครองได้สำเร็จ



     บริษัท ออโธพีเซีย จำกัด คือผู้วิจัย พัฒนา ผลิต และจำหน่าย วัสดุดามกระดูก และอุปกรณ์เครื่องมืออื่นๆ ทางการแพทย์ ที่ได้รับมาตรฐาน ISO 13485 และ CE Mark ที่ก่อตั้งโดย วินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม อดีตผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เขามองเห็นโอกาสจากธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์และการรักษาที่ยังคงเติบโตในทุกวิกฤติ โดยเฉพาะวัสดุดามกระดูกที่ยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศไทย สินค้านำเข้ามีราคาแพง และไม่เหมาะสมกับสรีระของคนเอเชีย ขณะที่คนไทยยังประสบอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกแตกหักเป็นจำนวนมาก





     “
ตอนปี 2540 ไม่ใช่รถยนต์อย่างเดียวที่เจอวิกฤต แต่ทุกอย่างล้มหมด ทั้งก่อสร้าง ไฟแนนซ์ ฯลฯ แต่ผมมาดูแล้วว่า มีอยู่ธุรกิจเดียวที่ไม่มีปัญหาก็คือ เครื่องมือทางการแพทย์และการรักษา เพราะไม่ว่าจะเกิดวิกฤตหรือไม่คนก็ยังต้องใช้ ยิ่งเครียดก็ยิ่งต้องรักษา ยิ่งวิกฤตก็ยิ่งเติบโต ตอนนั้นผมสนใจอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวกับกระดูกแตกกระดูกหัก เพราะบ้านเรามีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กันเยอะ และมีอุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกแตกหักเป็นจำนวนมาก แต่ในเวลานั้นยังไม่มีผู้ผลิตวัสดุดามกระดูกในประเทศไทย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และมีราคาที่ค่อนข้างสูง” วินิจบอก


      และนั่นคือที่มาของการก่อตั้ง บริษัท ออโธพีเซีย จำกัด ขึ้นในปี 2545 ซึ่งเป็นบริษัทแรกในไทยที่ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ประเภทวัสดุดามกระดูกฝังใน และได้รับความไว้วางใจจากกว่า 140 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย
 
 

          
     
     เริ่มต้นพัฒนานวัตกรรมที่คนไทยก็ทำได้


     ออโธพีเซีย ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยพวกเขาทำงานร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกชั้นนำของประเทศ ทำให้ได้สินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของแพทย์ และตอบปัญหาของผู้ป่วยอย่างแท้จริง ผลจากการพัฒนานำมาสู่ “นวัตกรรมวัสดุทดแทนหมอนรองกระดูกสันหลังชุดนารายณ์” (NARAI Lateral Lumbar Interbody Fusion : NARAI LLIF)  ผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมแบบเปิดแผลเล็กเข้าทางด้านข้าง ซึ่งช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวกขึ้น ทำให้แผลเล็กลง ลดความเสี่ยงในการผ่าตัด สูญเสียเลือดน้อยลง ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อภายใน ไม่ต้องตัดกระดูกออก เพิ่มโอกาสสร้างกระดูกให้เชื่อมติดกันได้เร็วขึ้น เหมาะสมกับปล้องกระดูกของคนเอเชีย และมีขนาดที่หลากหลาย โดยมีการออกแบบชุดเครื่องมือ และอุปกรณ์พิเศษประกอบด้วยชุดเครื่องมือสำหรับการเตรียมพื้นที่กระดูกให้พร้อม และชุดเครื่องมือสำหรับวัดขนาดหมอนรองกระดูก และใส่ NARAI LLIF ตลอดจนชุดอุปกรณ์ถ่างบาดแผล ซึ่งตอบโจทย์ทั้งแพทย์ ผู้ป่วย และโอกาสธุรกิจใหม่


      “เทรนด์ของการรักษาจะไปในทางที่ให้ผลประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุดคือ ผู้ป่วยเจ็บน้อยที่สุด การผ่าตัดเป็นวิธีการสุดท้ายที่จะรักษา จากผ่าตัดแผลใหญ่เพื่อให้แพทย์ทำงานง่าย ก็มีความพยายามออกแบบเครื่องมือใหม่ๆ มาให้แพทย์ผ่าตัดแผลเล็กลงเพื่อให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลง ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงที่ทำให้ผ่าตัดเล็กลงเรื่อยๆ ตัวนารายณ์เราพัฒนาอยู่เป็นปีกว่าจะออกมา จนตอบโจทย์ทั้งคนไข้ และแพทย์ ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมต่างประเทศเขาอาจเร็วกว่าเรา แต่อุปสรรคคือเวลาทำของใหม่ออกมา เขาจะขายไปทั่วโลก ฉะนั้นเขาจะมีสต็อกของเขาอยู่ส่วนหนึ่ง ก็ต้องขายของที่มีอยู่ก่อนถึงจะเอาของใหม่ออกมาขายได้ ฉะนั้นเวลาสินค้าใหม่มา ประเทศไทยจะไม่มีโอกาสใช้ก่อน นี่จึงเป็นโอกาสของเราที่จะทำของใหม่มาขายก่อนคู่แข่ง และให้โอกาสคนไทยและคนในภูมิภาคนี้ได้ใช้สินค้าใหม่ๆ ก่อนคนอื่น” เขาบอกความมุ่งมั่น
               


      
     
     นวัตกรรมใหม่ขยายโอกาสสู่ตลาดอาเซียน



     ผลลัพธ์จากนวัตกรรมใหม่ คือการมีผลิตภัณฑ์จากการพัฒนาของคนไทย เป็นทางเลือกในการรักษาโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่การทำงานวิจัยร่วมกับแพทย์ไทยซึ่งเป็นผู้ใช้โดยตรงจึงเป็นการสร้างความรู้จักในสินค้าตั้งแต่แรกเริ่ม และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีขั้นตอนการออกแบบวิจัยพัฒนา และการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีสินค้ามีคุณภาพทัดเทียมกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีมาตรฐานรับรองในระดับสากล โดยเฉพาะได้การรับรองมาตรฐานตามระบบ ISO 13485 ซึ่งเป็นมาตรฐานทางการแพทย์ที่ยอมรับกันทั่วโลก อีกทั้งยังมีราคาต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงโอกาสทางการรักษาได้มากขึ้น เนื่องจากเป็นการผลิตและพัฒนาขึ้นเองภายในประเทศ นอกจากนี้ยังมีขนาดที่เหมาะสมกับรูปร่างของผู้ป่วยชาวเอเชีย ซึ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มหลักทั้งในไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดในอนาคต โดยเฉพาะอาเซียนที่ยังไม่มีประเทศใดสามารถผลิตวัสดุศัลยกรรมกระดูกในแบบออโธพีเซียได้
               



      การมาถึงของนวัตกรรมใหม่ ที่ตอบโจทย์ปัญหาในหลายๆ มิติ ทำให้ออโธพีเซียสามารถคว้ารางวัล The Best SME Thailand Inno Awards 2019 รางวัลสูงสุดของการประกวดนวัตกรรมแห่งปี SME Thailand Inno Awards มาได้สำเร็จ วินิจบอกเราว่า นวัตกรรมสำคัญต่อการทำธุรกิจ และเขาเชื่อว่าเราทุกคนสามารถเป็นนวัตกรได้ แค่เปลี่ยนจากการทำอะไรแบบเดิมๆ มาคิดหาวิธีการใหม่ๆ ใช้เวลาสั้นลง ทำให้มันดีขึ้น ก็ถือเป็นนวัตกรรมได้แล้ว ซึ่งนวัตกรรมทำให้เราแข่งขันได้ในโลกธุรกิจ และสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรในโลกที่ท้าทายอย่างวันนี้
 
 



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน