คุยเรื่องจริงกับผู้ประกอบการที่ต้อง “จำศีล-รัดเข็มขัด” สังเวยความช้ำธุรกิจส่งออกปี’62

TEXT : กองบรรณาธิการ




Main Idea
 
  • มูลค่าส่งออกของโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 62 หดตัวลงครั้งแรกในรอบ 3 ปี! ขณะที่ไทยส่งออกหดตัว 2.9 เปอร์เซ็นต์หรือคิดเป็นกว่า 3,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่ทำให้ประเทศคู่ค้าของไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียและยุโรปส่งออกหดตัว รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท และเศรษฐกิจภายในประเทศ    
 
  • สำหรับผู้ประกอบการส่งออก นี่นับเป็นอีกปีที่หนักหน่วง และต้องเดิมพันความอยู่รอดด้วยสายป่านที่แต่ละคนมี เพราะไม่ว่าจะปรับตัวมากี่กระบวนท่ากี่วิธีก็ดูจะไม่มีทางออกง่ายๆ SME Thailand  ชวนคุยกับผู้ส่งออกที่ต้องรับชะตากรรม “จำศีล-รัดเข็มขัด” สังเวยความช้ำธุรกิจส่งออกปี 62




     ทำไมวันนี้มีข่าวโรงงานปลดพนักงาน และทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก 
               

     แม้หลายคนจะบอกว่า เป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่มี “เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป” และการปิดกิจการก็เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆ ปี ไม่มีอะไรพิเศษหรือ “วิกฤต”
           

     การได้คุยกับ พิบูลย์ มนัสพล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท กู๊ดสตาร์ท จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์จากสิ่งทอ หนึ่งในผู้ประกอบการส่งออกไทยที่กำลังประสบชะตากรรม ยอดขายตก ขาดทุนต่อเนื่องมา 2 ปี รายได้หายไปเกินครึ่ง และแม้แต่ยอดขายในปีนี้เจ้าตัวยังออกตัวว่า “ไม่กล้าคิด” ขณะที่เพื่อนในวงการทยอยปิดกิจการไปนับสิบราย


     เขาจะมีความเห็นต่อสถานการณ์นี้อย่างไร ลองไปเปิดใจและฟังกัน
 


           

     ยุคแห่งความเหนื่อยล้าที่ “ใครทำเยอะก็เจ๊งเยอะ”

               

      “ทำธุรกิจปีนี้มันเหนื่อย มันล้าปีหน้าก็มีแต่จะตกลงอีก มันไม่เกี่ยวกับว่าหนักหรือไม่หนักขึ้น แต่มันเหนื่อย เหมือนปกติเรายกของ 10 กิโล เรายกได้ แต่รู้ว่าหนัก ทีนี้พอเราเหนื่อยมากๆ เข้า เรายกของ 10 กิโล เท่าเดิม แต่เราจะหนักยิ่งกว่าเดิม หนักเพราะเราล้า ตอนนี้นักธุรกิจไทยล้าหมดแล้ว”
           

      ใครจะคิดว่านี่คือคำพูดของพิบูลย์ นักธุรกิจไทยที่ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เคยเป็นผู้ส่งออก 100 เปอร์เซ็นต์ มียอดขายในระดับ 70-80 ล้านบาท และมีโอกาสพบเจอเขาบ่อยครั้งในงานอบรมสัมมนา และการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ที่หลายหน่วยงานจัด เป็น SME นักสู้ ผู้กระตือรือร้นและมีไฟในการทำธุรกิจอยู่ตลอดเวลา แต่ทว่า..ช่างต่างจากคำตอบที่เราได้ยินในวันนี้ 
               

     “ตอนนี้ผู้ส่งออกเจอกับอะไร เราเจอปัจจัยภายนอกที่ตลาดโลกมันตก ยุโรปตก อเมริกากีดกันทางการค้า ญี่ปุ่นตก ญี่ปุ่นเองพยายามย้ายฐานการผลิตจากจีนมาหาไทยหลายปีแล้วแต่ไม่สำเร็จ เพราะของเราแพงกว่าจีน และต้นทุนการขนส่งเราแพงกว่า อเมริกาเราก็สู้เขาไม่ได้เพราะเราแพง อียูมีปัญหาเศรษฐกิจ ตลาดส่งออกโดยปัจจัยภายนอกจึงไม่ดี ปัจจัยภายในประเทศไทยก็ยังไม่ดีอยู่ มาเจอปัจจัยที่สาม คือ 2-3 ปีมานี้มีเรื่องค่าเงินบาทแข็งอีก เลยเป็นยุคที่ ใครทำเยอะ ก็เจ๊งเยอะ” เขาบอกเรื่องจริงที่เล่นงานผู้ส่งออกไทยมาพักใหญ่แล้ว


     พิบูลย์บอกเราว่า ที่ผ่านมามองว่ายังไม่มีมาตรการอะไรที่จะช่วยผู้ส่งออกได้จริงๆ วันนี้เลยเกิดอาการ “ฝีแตก”  หลังจากที่ธุรกิจอั้นมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา วันนี้เลยเห็นภาพของหลายโรงงานที่เริ่มปิดตัว ปลดพนักงาน ปิดการทำงานในบางแผนก และเชื่อว่าหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไปก็จะทยอยปิดตัวลงอีกเรื่อยๆ


     “คนที่อยู่อย่างผมก็ขาดทุนตลอด อยู่ที่ว่าใครจะขาดทุนมากหรือน้อยเท่านั้นเอง อย่างเราเริ่มขาดทุนมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ก็ปีกว่าแล้ว นาทีนี้ไม่ใช่ชั่วโมงวัดใจ แต่มันขึ้นกับว่าสายป่านใครจะยาวกว่ากัน ทีนี้กลุ่มที่สายป่านไม่มีหรือสายป่านสั้นใจมันก็ฝ่อ”
 




     ปรับทุกกระบวนท่าแล้ว แต่ยังไม่เจอยาแรงที่ใช่
 

      ถามว่าที่ผ่านมามีความพยายามในการปรับตัวหรือไม่ สำหรับพิบูลย์ต้องบอกว่าเขาเป็นนักปรับตัวตัวยง ทั้งเข้าอบรมสัมมนามาหลายเวที เข้าร่วมโครงการที่ใครว่าดี ว่าช่วยธุรกิจได้ ทำมาหมดแล้วทั้งพัฒนานวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพให้โรงงาน ทำเรื่อง Lean ลดความสูญเปล่าสร้างองค์กรกระชับ ปรับกลยุทธ์ เรียกว่า “หมดทุกกระบวนท่า” 


     “ปรับไปปรับมาบางทีมันยิ่งเจ๊งนะ เพราะมันไม่ถูกจุด เหมือนกับคุณเป็นโรคร้าย แล้วคุณไปหาหมอแล้วหมอให้ยาแก้ปวดมา มันไม่ได้ช่วย ยกตัวอย่าง คุณไปอบรมออกแบบดีไซน์ของให้สวยมากเลย คนชมหมดว่าสวย แต่ขายไม่ได้ เพราะตลาดตก คุณทำรถหรูคันเบ้อเริ่มเลย แต่คนบอกว่าไม่เอา จะเอารถไฟฟ้าไม่กินน้ำมัน ราคาถูกๆ แล้วถามว่าคุณจะอยู่ยังไง สัมมนาแต่ละทีคุยแต่เรื่องเก่าๆ ทุกวันนี้ถ้าทุกโรงงานไปอบรมกันหมด มันไหม้เกรียมหมดแล้ว” เขาบอก


      แล้วถามว่าทำอย่างไรถึงจะออกจากสถานการณ์นี้ได้ เขาบอกว่าในฝั่งของรัฐบาลอยากให้ดูแลค่าเงินบาทให้สมจริง และต้องรีบดูแล และไม่ออกนโยบายที่ซ้ำเติมคนทำการค้า แต่ต้องเป็นมาตรการที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ผลักดันส่งเสริมให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยถูก ให้ได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องติดกับดักเหมือนในปัจจุบัน
 




     เข้าสู่ยุค “จำศีล-รัดเข็มขัด” พยุงธุรกิจให้ข้ามผ่านวิกฤตไปให้ได้


      ถามถึงสัญญานดีๆ ที่พอจะเป็นความหวังให้ผู้ประกอบการไทย พิบูลย์บอกเราสั้นๆ ว่า “ยังไม่เห็น” แล้วแบบนี้ SME ต้องปรับตัวอย่างไร เขาบอกว่า


     “จำศีล รัดเข็มขัด เพราะคุณไม่มีสิทธิ์จะไปลืมตาอ้าปากในสภาพนี้ ไม่มีทาง คุณไปร่วมในงานแสดงสินค้าก็ขายไม่ได้ เพราะไม่มีคนซื้อ ลองไปดูในตลาดทุกวันนี้เงียบมาก ห้างฯ วันธรรมดาแทบไม่มีคน วันเสาร์อาทิตย์ ที่ขายดีก็แค่ฟู้ดคอร์ด นอกนั้นก็เงียบหมด เหนื่อยกันหมด ซึ่งมองว่าสถานการณ์นี้ยังคงต่อเนื่องไปอีก เพราะยังไม่เห็นสัญญานอะไรที่จะดีขึ้น ฉะนั้นผู้ประกอบการก็ต้องดูแลตัวเอง ตอนนี้ที่ทำได้ดีสุดก็คือจำศีล รัดเข็มขัด เพราะยังไม่เห็นทางออกอะไรที่ดีไปกว่านี้”


      พิบูลย์ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ประกอบการ แต่เขายังเป็นนายกสมาคมคลัสเตอร์สิ่งทอเพชรเกษม เลยเห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนในวงการคนอื่นๆ ด้วย เมื่อถามว่าตอนนี้สุขภาพของแต่ละคนเป็นอย่างไร เขาตอบเราว่า


     “ปิดไปเยอะ ที่ไม่ปิดก็ลดขนาด ลดจำนวนคนลง ที่เริ่มลดขนาด ลดจำนวนคน หรือปิดบางแผนก ก็เตรียมตัวจะเจ๊งกันแล้ว เอาแค่ใน 2 ปีนี้เชื่อว่าปิดกิจการไปเป็นครึ่ง สมาคมเราเองที่มีสมาชิกกว่า 30 โรงงาน ก็ปิดไปแล้วอย่างน้อยกว่าสิบโรงงาน


     ถามว่าตอนนี้พวกเราดูแลกันอย่างไร เราอยู่กันเองแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันดี พวกเรายังพยุงกันอยู่ ถ้าไม่มีพวกเราก็คงตายไปแล้ว มันเหมือนเราเดินไป 10 คน น้ำหมดคนหนึ่ง อีก 9 คนก็ยังแบ่งให้กันกินได้ แต่ถ้าคุณเดินไปเองน้ำหมดคุณก็ตาย ตอนนี้เราแบ่งกันกินอย่างนี้และแลกเปลี่ยนกัน ใครไม่มีอะไร โรงงานนี้มีก็แบ่งกันใช้ไม่ต้องไปซื้อ ก็ยังช่วยเหลือกันได้อยู่ เราถึงยังพออยู่กันได้” เขาบอก
               

     ในวันที่หลายคนออกมาให้กำลังใจบอกให้คนทำธุรกิจ “สู้สู้” แต่พิบูลย์บอกว่า


     “ไม่ต้องมาให้กำลังใจผม เพราะผมจำศีลแล้ว และผมก็ไม่ได้ให้กำลังใจใคร แค่ยอมรับความจริง อะไรจะเกิดก็เกิด อย่าไปคิดมาก มันยิ่งกว่าปลงอีก ลองไปถามพวกนักธุรกิจ เขาจะบอกว่าอย่าถามถึงปีนี้เลย มันไม่สนุกแล้ว คุยเรื่องการค้าเป็นเรื่องที่ไม่สนุก ซึ่งถ้าคนค้าขายไม่ได้สนุกกับการค้า เมื่อไรที่พ่อค้าซึ่งจิตวิญญาณเขาเป็นคนค้าขาย แล้วไม่อยากคุยเรื่องการค้าอีก ประเทศเราจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร ผมถามแค่นี้ ฉะนั้นไม่ต้องให้กำลังใจผม แต่ให้เอาความจริงมาพูดกัน นาทีนี้หมอต้องบอกพวกผมแล้วว่า เป็นโรคมะเร็งแล้วนะ คุณมีโอกาสอยู่ได้อีกกี่เดือนกี่ปี ให้บอกแค่นี้ ไม่ใช่ไปโกหก แล้ว 3 เดือนเราตายโดยไม่รู้ตัว ให้เตรียมตัวดีกว่า รู้ๆ กันไปเลย”


     หากนับจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการชื่อ พิบูลย์ มนัสพล ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ครั้งนี้นับเป็นบทสัมภาษณ์ครั้งแรกที่มีแต่เรื่องหน่วงๆ ตลอดการสนทนา พิบูลย์ บอกเราว่า เขาไม่ได้กำลังให้ข่าว แต่ให้ข้อเท็จจริง และพูดติดตลกในตอนท้ายว่า


     “ไม่รู้ปีหน้าจะยังไปรอดหรือเปล่า ถ้าไม่รอดก็คงไม่ได้สัมภาษณ์กันแล้วนะ”
           

     และนั่นคือประโยคปิดบทสนทนาที่เราได้จากเขาในวันนี้
 
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ