“Booktopia” ร้านหนังสือต่างจังหวัด ที่ลูกค้ายอมขับรถไกลกว่า 200 กม. เพื่อมาช้อป

TEXT :  สุรางรัก แจ้งคำ
PHOTO : Mae Nam Mee Kang





Main Idea

 
  • “บุ๊คโทเปีย” ร้านหนังสืออิสระแห่งลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี ที่เปิดดำเนินการมากว่า 13 ปี และมีรูปแบบการทำธุรกิจในแบบเฉพาะของตัวเอง จนมีลูกค้ายอมขับรถไกลกว่า 200 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ เพื่อมาซื้อหา
 
  • อะไรคือ สิ่งที่ร้านหนังสือเล็กๆ แห่งนี้ ใช้มัดใจลูกค้าไว้ได้ แม้ในยุคที่สื่อดิจิทัลกำลังก้าวเข้ามาอย่างเต็มตัว และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างทยอยปิดตัวลง







     ในขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ต่างทยอยปิดตัวลงจากแผงขายจนแทบจะเหลือนับหัวได้ แต่ทว่าทำไมร้านหนังสือเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองเงียบสงบอย่างจังหวัดอุทัยธานีกลับกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 แถมมีลูกค้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนกรุงเทพฯ ที่ยอมขับรถเดินทางไกลกว่า 200 กิโลเมตร เพื่อมาซื้อหนังสือที่นี่


     อะไรทำให้ร้านหนังสือแห่งนี้แตกต่างและอยู่รอดทวนกระแสมาได้จนถึงทุกวันนี้ ลองไปทำความรู้จักกับ ‘บุ๊คโทเปีย’ (Booktopia)  ร้านหนังสืออิสระแห่งลุ่มแม่น้ำสะแกกรังกัน



 

แง้มบานประตูสู่ร้านหนังสือ

           
     “จุดประสงค์แรก คือ อยากเปิดร้านหนังสือ และอยากกลับมาอยู่บ้าน..”

     วิรัตน์ โตอารีย์มิตร หรือ “พี่อ้วน” คอลัมนิสต์และนักเขียนเจ้าของนามปากกา “ญามิลา ปลาอ้วน วนาโศก”  เจ้าของร้านเล่าที่มาของบุ๊คโทเปียให้ฟัง





     “บังเอิญช่วงนั้นกระแสสโลว์ไลฟ์กำลังมา และเป็นยุคที่สื่อออนไลน์ต่างๆ ตั้งแต่ Hi5 ต่อด้วย Facebook ก็เข้ามาพอดี ทำให้การสื่อสารไม่ยากเหมือนแต่ก่อน โดยเราสามารถสื่อสารกับลูกค้าหรือผู้อ่านได้ง่ายขึ้น วิธีการที่ทำตอนนั้น คือ ใช้ความรู้ที่ได้จากการทำนิตยสารมาเขียนบทความ เขียนบทสัมภาษณ์เล็กๆ บ้าง เพื่อสื่อสารออกไป ซึ่งช่วงแรกก็ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่ แต่ทำไปทำมากลับเวิร์ก เริ่มมีกลุ่มลูกค้าที่เคยเป็นแฟนหนังสือและติดตามผลงานมาก่อน แวะเวียนมาเยี่ยมบ้าง จากนั้นก็บอกต่อๆ กันมา ทำให้เริ่มมีกลุ่มลูกค้าใหม่ทยอยเข้ามาเรื่อยๆ จนถึงวันนี้”
               

     พี่อ้วนท้าวความหลังให้ฟัง ก่อนจะเล่าถึงการทำงานของบุ๊คโทเปียที่ดำเนินมากว่า 13 ปี ซึ่งอาจพอสรุปให้เห็นได้ว่าอะไร คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านเติบโต ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้านักอ่านมาถึงทุกวันนี้ได้



 
  • คัดสรรสิ่งที่ใช่ ให้ลูกค้าที่ใช่

     สร้างคาแรกเตอร์ตัวเอง จากสิ่งที่ชอบ จนกลายเป็นเอกลักษณ์
 

     “หนังสือที่ขายส่วนใหญ่ในร้านเราจะเป็นพวกวรรณกรรม ปรัชญา ประวัติศาสตร์ รวมถึงหนังสือจากสำนักพิมพ์อารีมิตร ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ของทางร้านเอง เพื่อตีพิมพ์หนังสือภายในเครือ ทั้งผลงานของพี่เองและนักเขียนที่เราตั้งใจคัดสรรมา โดยในช่วงแรกเราก็เคยทำเหมือนร้านหนังสือเปิดใหม่ทั่วไป ที่เวลามีหนังสืออะไรออกมาใหม่ก็ให้สายส่งเอามาให้หมด แต่ปรากฏว่าพอเอาเข้าจริงแล้วทำไม่ได้ เพราะหนังสือบางประเภทเราก็ไม่ได้อยากขาย หรือบางทีขายยากด้วย เพราะไม่ใช่สไตล์เรา จากนั้นมาจึงพยายามเลือกหนังสือเข้ามาขายเอง ส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือที่เราชอบและอยากอ่านเองด้วย ซึ่งพอเรารู้จักหนังสือ ก็สามารถแนะนำให้กับผู้อ่านได้ ซึ่งร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่มีสาขาเยอะๆ อาจแนะนำไม่ได้ เพราะเขาใช้พนักงานขาย ไม่ใช่นักอ่าน และจากแนะนำหนังสือมันก็เป็นการพูดคุยอย่างอื่นต่อมาเรื่อยๆ ด้วย เหมือนหนังสือเป็นสื่อ





     ซึ่งตรงนี้มองว่าเป็นส่วนสำคัญ การได้สร้างบุคลิกที่ชัดเจนของตัวเองขึ้นมา จะทำให้ลูกค้ารู้เลยว่าถ้ามาที่บุ๊คโทเปียเขาจะต้องเจอกับหนังสือประเภทไหน สามารถเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะเขาเชื่อในทัศนคติของเราไปแล้ว เชื่อในสิ่งที่เราเลือกให้ นี่อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรามีแฟนประจำ เพราะเขารู้ว่ามาแล้วจะได้อะไร เราไม่ได้คิดสู้ร้านหนังสือใหญ่ๆ แต่ทำตามเซนส์ตัวเองว่าอยากให้เป็นแบบไหน เราจะไม่มีบัตรสมาชิก แต่เราจะลดราคาที่ลดได้ เอาจากสายส่งน้อยลง คือ ได้น้อยลงหน่อย เพื่อลดให้คนอ่าน 5 - 10 เปอร์เซ็นต์ หนังสือบางเล่มออกมาหลายปีแล้ว แต่เราก็ยังโชว์ไว้ เพราะอยากให้คนได้เลือกอ่าน การขายหนังสือดีๆ ได้สักเล่มหนึ่ง เป็นความสุขใจอย่างหนึ่งที่ได้รับ”

 
  • สร้างคอมมูนิตี้ สร้างแฟนตัวยง
     
     เปลี่ยนลูกค้าให้กลายเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง

 




     “เวลาใครเข้ามาที่ร้านสิ่งแรกที่ทำ คือ เราจะชวนเขาคุยก่อน อย่างน้อยๆ ก็เป็นการทักทาย ทำให้ไม่เกิด Dead air หรือช่องว่างต่อกัน ลูกค้าที่เข้ามาร้านเรา ส่วนใหญ่พอได้ลองคุยกันสักพัก ก็จะคุยกันยาวเลย ทำให้สนิทกันเร็วขึ้น จากลูกค้าก็กลายมาเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง จากนั้นก็จะแนะนำบอกต่อกันเป็นทอดๆ ทำร้านหนังสือไม่ใช่ธุรกิจที่หวังรวยได้ แต่มีมูลค่าหลายอย่างที่เกิดขึ้นได้จากตรงนี้ ซึ่งเรามองว่าการสร้างให้เกิดชุมชนความเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นสิ่งจำเป็นและดีทั้งต่อเราเองหรือพื้นที่ตรงนั้น ซึ่งอาจนำไปสู่การพัฒนาหรือช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอนาคตต่อไปได้


     ทุกวันนี้ลูกค้าส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่เข้ามา คือ มาจากกรุงเทพฯ เขามาอุทัยฯ เพื่อตั้งใจมาหาเราเป็นหลักเลย บางทีไม่ใช่แค่มาซื้อหนังสือ แต่อยากมาถ่ายรูปด้วย อยากมาเช็คอิน มาเจอมาพูดคุยกัน สิ่งที่ทำให้เขาชอบเวลามาร้านเรา คือ ชอบความไม่เป็นระเบียบ รกๆ หน่อย ชอบเพลงที่เปิด บรรยากาศ แสงไฟ การพูดคุยเป็นอย่างนี้ตลอด วันดีคืนดีก็มีแฟนหนังสือหอบหนังสือมาให้เซ็นก็มี ต้องขอบคุณพวกเขา เราอยู่ได้ก็เพราะมีนักอ่านแบบนี้ ความจริงหนังสือจะซื้อที่ไหนก็ได้นะ แต่เขาก็เลือกที่จะมาหาเรา มาสนับสนุนเรา”
 



 
  • ทอดสะพาน สานต่อกิจกรรม

     ทำให้คนมาอย่างต่อเนื่อง มาแล้ว ก็หาเรื่องมาอีก
 

     “นอกจากขายร้านหนังสือ เรายังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้วย อย่างน้อยๆ ปีละครั้งสองครั้ง อาทิ งานเปิดตัวหนังสือให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในวงการได้มาสัมมนาพูดคุยกัน บางทีก็รวมตัวกันไปทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกัน เช่น ทำนาปลูกข้าว สอนหนังสือเด็ก พาไปนอนอ่านหนังสือที่ห้วยขาแข้ง ฯลฯ ซึ่งเรามองว่ากิจกรรมเป็นสิ่งที่ดีนะ มันคือ การเชื่อมผู้คน เชื่อมสังคมข้าหากัน ถ้าแค่ตั้งหน้าตั้งตาขายเพื่อเอาเงินอย่างเดียว มันน่าเบื่อ เราเลยอยากทำกิจกรรมเหล่านี้ขึ้นมาด้วย ซึ่งพอมีกิจกรรมขึ้นมาก็เหมือนเป็นการสร้างโอกาสให้เขากลับมาหาเราได้บ่อยขึ้นด้วย
               






     ในอนาคตยังไม่ได้คิดจริงจังว่าจะทำอะไรเพิ่ม แต่อาจเปิดร้านอีกสักแห่งที่กรุงเทพฯ ก็ได้ เพราะเรามีบ้านอยู่ที่โชคชัย 4 ด้วย จากที่เอากรุงเทพฯ มาไว้อุทัยฯ สร้างสีสันความคึกคักให้กับเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เราอาจเอาอุทัยฯ ความสงบ แบบนี้ ความเรียบง่ายแบบนี้ไปไว้ที่กรุงเทพฯ บ้าง เผื่อมีคนอยากมาหาเรา แต่ไม่มีเวลา ตั้งชื่อว่า ‘บุ๊คโทเปีย บางกอก’ ก็ได้”


     และนี่คือ เรื่องราวของร้านหนังสือที่ชื่อว่า “บุ๊คโทเปีย” อาจเป็นตัวอย่างของธุรกิจเล็กๆ แห่งหนึ่งที่สามารถประสบความสำเร็จได้ในหนทางของตัวเอง แต่หากลองมองให้ดีความจริงแล้วหลักแนวคิดของบุ๊คโทเปียสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกธุรกิจเลยทีเดียว ขอเพียงแค่รู้ในสิ่งที่ทำ รู้ความต้องการของตนเอง และมีความตั้งใจดี แค่นี้ทุกอย่างก็สามารถสำเร็จได้ไม่ต่างกัน
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น