SME ปรับตัวอย่างไร? ในวันที่ ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ เจอศึกหนักรอบทิศ พิษรอบด้าน!

TEXT : กองบรรณาธิการ
 

 
Main Idea
 
  • ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี! ที่ร้อยละ 2.0  ส่งออกสินค้าอาหารมีมูลค่าที่ 1.02 ล้านล้านบาท หดตัวลงที่ร้อยละ 3.8  จาก 3 ปัจจัยหลัก ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก  การแข็งค่าของเงินบาท และราคาอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง
 
  • จีนก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์  โดยมีมูลค่า 150,749  ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0  แทนที่กลุ่มประเทศ CLMV
 
  • แนวโน้มปี 2563 การส่งออกในรูปเงินดอลล่าร์สหรัฐ ประเมินว่าจะมีมูลค่าราว 34,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ส่วนมูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยมีโอกาสหดตัวลงร้อยละ 0.3 จนถึงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5  คาดอยู่ระหว่าง 1.02 –1.06 ล้านล้านบาท
 
 
 
     “ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี! โดยลดลงร้อยละ 2.0 เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ  รายได้ครัวเรือนลดลง  และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น บวกกับภาคการส่งออกที่หดตัวลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว พิษจากเงินบาทแข็งค่า และราคาส่งออกสินค้าอาหารที่ลดลงกระทบต่อรายได้เข้าประเทศ”
               

     นี่คือ สถานการณ์เบาะๆ เบาๆ ที่รายงานจาก 3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหาร อย่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความสาหัสสากรรจ์ในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารของไทย ที่พ่นพิษมาตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน จนล่วงเข้าสู่ปี 2563 นี้
               

     สิ่งที่ผู้ประกอบการ SME อยากรู้ ไม่ใช่แค่วันนี้พวกเขากำลังเจอกับอะไร แต่คือคำตอบและทางออกที่จะฟันฝ่าความสาหัสของสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้ วันนี้ SME Thailand จะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน



                           
  • พิษ “ค่าเงินบาท” ฉุดตัวเลขส่งออกอาหารไทยลดลง
               
     “อนงค์  ไพจิตรประภาภรณ์” ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม บอกถึงสถานการณ์ด้านการส่งออกอาหารของไทยในปี 2562  ว่า มีมูลค่า 1,025,500 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 3.8 ในรูปเงินบาท แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2  ในรูปดอลล่าร์สหรัฐ  ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 401,300 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 0.1 โดยสินค้าอาหารส่งออกหลัก 6 รายการ ที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ ข้าว (-22.0 เปอร์เซ็นต์)  น้ำตาลทราย (-13.7 เปอร์เซ็นต์)  ปลาทูน่ากระป๋อง (-6.0 เปอร์เซ็นต์)  แป้งมันสำปะหลัง(-2.8 เปอร์เซ็นต์)  กุ้ง (-9.2 เปอร์เซ็นต์)  และสับปะรด (-15.7 เปอร์เซ็นต์) 


     อย่างไรก็ดียังมีสินค้า 4 รายการ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่ (+0.8 เปอร์เซ็นต์)  เครื่องปรุงรส (+4.0 เปอร์เซ็นต์)  มะพร้าว (+3.8 เปอร์เซ็นต์) และอาหารพร้อมรับประทาน (+4.6 เปอร์เซ็นต์)   ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก  การแข็งค่าของเงินบาท และราคาอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง เป็น 3 ปัจจัยหลักที่ฉุดมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารไทยให้ลดต่ำลง


     “ในปี 2562 ที่ผ่านมา จีนก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แทนที่กลุ่มประเทศ CLMV โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารไปจีนมูลค่า 150,749  ล้านบาท  มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.7 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด มีสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าผักและผลไม้  ไก่สดแช่แข็ง รวมถึงกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง หากพิจารณาจากตลาดส่งออกหลักทั้ง  7 ตลาด ได้แก่ จีน CLMV ญี่ปุ่น อาเซียนเดิม สหรัฐฯ สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ(MENA) จะพบว่ามีเพียงตลาดจีน (+34.0เปอร์เซ็นต์ )  MENA (+3.7 เปอร์เซ็นต์)  และสหรัฐฯ (+0.5 เปอร์เซ็นต์)  ที่มีการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ส่วนตลาดอื่นๆ หดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก  โดยภาพรวมการค้าอาหารโลกในปี 2562 ประเมินว่ามีมูลค่าราว 1.318 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือหดตัวลงร้อยละ 0.6” อนงค์กล่าว
             


 
  • เตรียมรับความท้าทายต่อเนื่องในปี 2563
               
     ผ่าน 2562 มาอย่างยากลำบากแล้วผู้ประกอบการอาหารยังจะเจอศึกหนักอะไรต่อในปี 2563 ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร บอกปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมอาหารในปีนี้  ได้แก่ 1.ต้นทุนการผลิตและการขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน หากสงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ปะทุและลุกลาม  2.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit  เพราะจะเกิดความไม่ชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์สินค้า เงื่อนไขการค้า 3.ภัยแล้งจะกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบในประเทศลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น  กระทบต้นทุนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป  4. สินค้าอาหารของไทยบางรายการได้รับผลกระทบจากการถูกสหรัฐฯ ตัด GSP โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจำพวกพาสต้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกี๊ยว เป็นต้น 5. ภัยคุกคามจากการขยายตัวของสินค้าอาหารที่ผลิตจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์(Plant-based food product)  ที่มีต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเล 
               

     “การที่ค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง จึงอาจเป็นได้ทั้งปัจจัยสนับสนุน หรืออาจเป็นปัจจัยเสี่ยง คือ 1. มีแนวโน้มอ่อนค่าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนผ่อนคลายลง ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในเงินบาท  และ 2.แนวโน้มแข็งค่าขึ้นหากเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการของภาคธุรกิจ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่บ่งชี้กำลังซื้อ ตลาดแรงงานและตัวเลขตำแหน่งงานใหม่ รวมทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นต้น โดยค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้มูลค่าส่งออกอาหารไทยเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 35,000 ล้านบาท”



                           
  • ปีแห่งการอยู่รอดด้วยความยาวของสายป่าน
               
     “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกเราว่า ในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มอาหาร ถือว่าได้รับผลกระทบที่หนักหน่วง โดยสาเหตุหลักมาจากเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท ที่ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารเสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่มีสินค้าใกล้เคียงกันอย่างมาก
               

     “ปัญหาค่าเงินบาทส่งผลต่อราคาอาหาร เนื่องจากเวลาส่งออกไปขายต่างประเทศ มันไม่ใช่มีแค่สินค้าของประเทศไทยประเทศเดียว แต่เรายังมีเพื่อนบ้านที่ทำสินค้าคล้ายคลึงกับเราที่สามารถทดแทนกันได้ ซึ่งกดดันราคาตลาดส่งออก ทีนี้พอค่าเงินบาทของเราแข็งขึ้นซึ่งในความเป็นจริงก็ควรจะบวกราคาขึ้นไปตามค่างินบาทเพื่อที่จะไม่ให้ขาดทุน แต่กลายเป็นว่าพอโดนกดดันเรื่องราคาจากคู่แข่งเราก็ต้องยอมขายในราคาเดิมต่อไป ซึ่งนั่นแปลว่าผู้ประกอบการไทยได้เงินน้อยลง พูดง่ายๆ ว่า สองปีที่ผ่านมาสินค้าใดก็ตามที่ไม่เคยปรับราคาขึ้นเลย ยังขายราคาเดิมเป็นดอลลาร์สหรัฐ นั่นแปลว่า เงินคุณหายไปแล้ว 17-18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในการส่งออกนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่าปกติแล้วมาร์จิ้นในการส่งออกใครทำได้เกินสองหลักนี่ถือว่าเก่งมาก ยิ่งกิจการใหญ่ที่เน้นผลผลิตเยอะๆ แล้วแข่งขันกันรุนแรง บางทีมาร์จิ้นแค่ 3-4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง” วิศิษฐ์ บอก
               

     นั่นคือเหตุผลที่เขาบอกว่า ช่วงที่ผ่านมา SME ไทยหลายราย อยู่ได้ด้วยสายป่าน เรียกว่าใครสายป่านยาวก็ยืดอายุได้นานหน่อย ทว่าถ้าปีนี้หากสถานการณ์ยังมีความต่อเนื่องแบบนี้ต่อไป และยังแก้ปัญหาเรื่องค่าเงินไม่ได้ ในขณะที่ SME ไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้ เขาคาดการณ์ว่าจะมี SME ที่ต้องปิดตัวลงหรือเลิกกิจการมากขึ้น
               

     “ในสองปีที่ผ่านมาเหมือนความพยายามดึงเวลาไว้ว่าเดี๋ยวมันคงจะดีขึ้น แต่ถ้ามันยังไม่ดีขึ้นอีกก็อาจจะมีหลายรายที่ต้องคิดใหม่ และมีโอกาสปิดตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผ่านมา” เขาย้ำ



             
  • เปลี่ยนเกมธุรกิจ มองโอกาสใหม่ที่ยังมีอยู่

     วิศิษฐ์ บอกเราว่า ในการปรับตัวของผู้ประกอบการอาหารในวันนี้ต้องเป็นการคิดใหม่ หากผลิตภัณฑ์เดิมไม่เวิร์คก็ต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ตลาดเดิมไม่ไหว ก็ต้องหาตลาดใหม่ที่ต่ออายุธุรกิจไปได้


     “ในปีนี้ SME มีโอกาสปิดตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งการปิดตัวนี้อาจไม่ได้หมายถึงการปิดกิจการลง แต่เป็นการปิดตัวจากผลิตภัณฑ์เดิมที่ทำอยู่ซึ่งแข่งขันไม่ได้แล้ว เปลี่ยนมาทำธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความถนัดเดิมที่เขามีและยังมีโอกาสในตลาด  ส่วนหนึ่งคือเขาอาจจะต้องเปลี่ยนตลาดใหม่ จากเดิมขายต่างประเทศ เมื่อแข่งขันไม่ได้เพราะเรื่องค่าเงิน ก็อาจหันมาทำตลาดในประเทศมากขึ้น แต่สิ่งที่ท้าทายคือ ก็ต้องมาเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นเดียวกัน แต่ด้วยความที่อาหารยังมีการเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในแง่ของอาหารสด  รวมถึงกลุ่มผลไม้สดต่างๆ พวกนี้ยังเติบโตได้  รวมดถึงกลุ่มร้านอาหารที่ยังคงเติบโตดี โดยได้อานิสงส์จากตลาดนักท่องเที่ยวที่ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงเป้าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจจากนี้ กลุ่มอาหารกับท่องเที่ยวจะต้องเข้าไปสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น ฉะนั้น SME ที่ทำส่งออกในช่วงที่ผ่านมาแล้วเริ่มไม่ไหว ปรับกลยุทธ์ทุกทางแล้วยังไม่ดีขึ้น ยังเหลือช่องทางนี้ที่สามารถเอาความถนัดของตัวเองมาทำได้ แต่ก็คงต้องลดขนาดธุรกิจลงมา (Downsizing)  และทำตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นกลุ่มสินค้าที่มีความสดมากขึ้น เพื่อที่จะยังพอไปต่อได้ในสถานการณ์เช่นนี้”
               

     เมื่อถามว่าสถานการณ์นี้จะยาวนานหรือไม่ วิศิษฐ์บอกเราว่า การบริโภคของโลก และการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน คือ ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อชะตากรรมของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่คสบคุมไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่ SME ไทยพอจะทำได้ ก็คือต้องปรับตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น



             
  • รู้ทันเทรนด์เปลี่ยนไปจับตลาดแห่งความหวัง
               
     ด้าน อนงค์  ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร บอกต่อว่า แม้ในปีนี้ยังมีปัจจับหลายอย่างที่ท้าทายการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มอาหาร แต่ก็ยังเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ พัฒนาตัวเองและนำพาตัวเองไปสู่โอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะการหันไปจับตลาดอาหารที่เป็นเทรนด์ของโลก เช่น สินค้าอาหารเกี่ยวกับสุขภาพ สินค้าด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสวัสดิภาพสัตว์ เป็นต้น
               

     “ผู้ประกอบการอาหารบ้านเราต้องปรับตัวไปสู่ กลุ่มอาหารที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Functional Food) อาหารสำหรับอนาคต พวกอาหารแปรรูป และกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) ที่สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคยุคนี้ที่ไม่มีเวลา ในกลุ่มที่เน้นส่งออก ต้องส่งเป็นวัตถุดิบให้น้อยลง แต่แปรรูปให้มากขึ้น และให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละกลุ่ม มากขึ้น รวมถึงการเจาะตลาดที่เฉพาะกลุ่ม (Niche Market)  เช่น อาหารสำหรับผู้สูงอายุ หรืออาหารที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลมากขึ้น เช่น อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ เป็นต้น”
               

     ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร บอกเราอีกว่า วันนี้ SME อาจเจอกับความท้าทาย แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ปรับตัว และมองหาจุดเปลี่ยนที่จะพลิกธุรกิจของตัวเองให้ไปได้ไกลกว่าเดิม
               

     “วันนี้ SME ต้องเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง และต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้มากขึ้น ต้องมองหาสิ่งที่จะมาช่วยเสริมเติมแต่งและยกระดับตัวเองขึ้นไป กระตือรือร้น เข้าหาแหล่งทุนให้ได้ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลก็มีทุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกองทุนของ SME D Bank ที่มีเงินให้ไปเปลี่ยนเครื่องจักร พัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเปลี่ยนแพ็กเก็จจิ้งต่างๆ รวมถึงของธนาคารออมสิน และ ธกส. ที่พร้อมเข้ามาช่วยเหลือ SME เพียงแต่ขอให้มีความกระตือรือร้น ใฝ่รู้ สอบถาม และหาข้อมูล พยายามบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการ และพัฒนาตัวเองไปตลอด จะรอให้ใครมาช่วยเหลือตลอดคงไม่ได้ แต่วันนี้ SME ต้องช่วยเหลือตัวเองด้วย” เธอย้ำในตอนท้าย
               

     นี่นับเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ยังมีโจทย์ใหญ่ให้ต้องรับมืออย่างหนักหน่วง แต่ในขณะเดียวกันก็นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ลุกมาเปลี่ยนขยับและปรับตัวเอง เพื่อออกจากบ่วงกับดักเก่าๆ ไปแสวงหาโอกาสในตลาดใหม่ๆ 
               

     เหมือนที่เขาว่ากันว่า ถ้าไม่มีอุปสรรค ไม่เจอกับปัญหา เราก็คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเสียที
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน