รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ นักวิจัยไทยผู้สร้างฟาร์ม AI ไปตั้งบริษัทในญี่ปุ่น และทำเงินร้อยล้านใน 3 ปี!

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • แม้ไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจ แต่การเป็นนักวิจัยที่มีความมุ่งมั่น เข้าใจ และแพสชั่นอย่างแรงกล้า ก็ทำให้ใครคนหนึ่งประสบความสำเร็จขึ้นมาได้
 
  • เช่นเดียวกัน “รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์”  CEO บริษัท ListenField  นักวิจัยไทยที่ไปตั้งบริษัทในญี่ปุ่น ด้วยแพสชั่นที่อยากนำเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปแก้ปัญหาให้กับภาคการเกษตร ใครจะคิดว่าจากกิจการเล็กๆ จะกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลักร้อยล้านบาทได้ในเวลาเพียง 3 ปี!



     นี่คือเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง
               

      เธอเป็นอดีตนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology : AIT) ที่เคยร่วมทำวิจัยระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบสภาพดินฟ้าอากาศเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร (Food Safety) ใน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อปี 2550  และมีผลงานวิจัยออกมาอย่างต่อเนื่อง
               




     ด้วยแพสชั่นที่อยากเห็นภาคเกษตรของไทยได้รับการพัฒนา เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนญี่ปุ่น เธอจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ที่ Chubu University เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น โดยผลงานวิจัยที่ใช้ทำธีสิสในครั้งนั้น คือ API Integration Platform  สำหรับภาคการเกษตรโดยเฉพาะ ซึ่งทำการศึกษาและทดลองใช้กับเกษตรกรในญี่ปุ่น


     ใครจะคิดว่าผลงานดังกล่าวจะถูกรัฐบาลญี่ปุ่นนำไปใช้ในโครงการระดับชาติที่ชื่อ Agricultural Reform หรือการปฏิรูปภาคเกษตรของญี่ปุ่น เมื่อปี 2557  และจุดนั้นเองที่ปูทางการเป็นผู้ประกอบการไทยในประเทศญี่ปุ่นของเธอคนนี้          
               

      เรากำลังพูดถึง “รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์”  CEO บริษัท ListenField Inc. (www.listenfield.com ) ที่ก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่นเมื่อปี 2560  ด้วยฝีมือของคนไทย และการเป็นนักวิจัยเต็มสายเลือดไม่ใช่นักธุรกิจ


     เธอบอกว่าที่อยากตั้งกิจการในญี่ปุ่น เพราะอยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า การเป็นนักวิจัยนั้นก็สามารถเจริญเติบโตได้ และเด็กไทยที่จบจากญี่ปุ่นเองก็ไม่จำเป็นต้องไปเป็นลูกจ้างในบริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น แต่สามารถเป็นผู้ประกอบการที่เติบโตในญี่ปุ่นได้เช่นกัน ขณะเดียวกันเมื่อทำไปถึงจุดหนึ่ง ก็ยังสามารถนำความรู้และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศเราได้อีกด้วย
 




     แต่ทว่าการเป็นผู้ประกอบการในญี่ปุ่นไม่ได้ง่าย เธอบอกว่า ต้องผ่านบททดสอบอะไรหลายๆ อย่าง เธอตัดสินใจไปชวนอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ซึ่งใบเบิกทางสำคัญที่ทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้น ก็คือการเรียนจบจากญี่ปุ่น และทำโปรเจ็กต์ด้านนวัตกรรมซึ่งไปสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นในเวลานั้นพอดิบพอดี


     บริษัทเล็กๆ ที่ชื่อ ListenField จึงปรากฏตัวขึ้นบนแผ่นดินญี่ปุ่น  โดยทำเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล บริหารจัดการข้อมูลและสร้างโมเดลเพื่อประเมินความเสี่ยงของภาคเกษตรในญี่ปุ่น โดยมีลูกค้าหลักเป็นรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือกลุ่ม Service Provider   (บริษัทผู้ให้บริการ)  ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นกลุ่มชุมชนเกษตรกรรม (Farm Community) ซึ่งเป็นลักษณะที่เกษตรกรเป็นเจ้าของที่นาตัวเอง มารวมกลุ่มกัน โดยมีผู้บริหารจัดการฟาร์มทำหน้าที่วางแผนการเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี สอดรับกับความต้องการของตลาด เรียกว่า เหมือนเป็นผู้ดูแลในฝั่งของธุรกิจให้กับเกษตรกรอีกทอดหนึ่ง ซึ่งนั่นคือลูกค้าเป้าหมายของเธอ






     จากกิจการเล็กๆ ปัจจุบัน ListenField มีนักวิจัยอยู่ 6 คน รวมพนักงานทั้งบริษัทมีอยู่ที่ 15 คน โดยรัสรินทร์ไม่ได้เป็นแค่ CEO เท่านั้น แต่เธอยังทำงานวิจัยที่เธอรักอย่างต่อเนื่อง ถามว่าคนจำนวนแค่นี้ แถม CEO ก็ยังเป็นนักวิจัยเสียด้วย แล้วธุรกิจจะโตไปได้แค่ไหน คำตอบคือ กิจการเล็กๆ โตต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี และมีมูลค่าธุรกิจ ณ ปัจจุบัน ที่กว่าร้อยล้านบาท!


     ในปีที่ผ่านมาธุรกิจยังขยายจากประเทศญี่ปุ่น มาจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย และกำลังขยายธุรกิจมาสู่การทำฟาร์ม AI  (แอปพลิเคชัน FarmAI  ฟาร์มเอไอ-เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ) ให้กับภาคเกษตรของไทยได้ใช้ด้วย ซึ่งผลงานดังกล่าว ยังทำให้ ListenField  เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการเศรษฐกิจสีเขียว ที่ได้รับรางวัล SEED Low Carbon Award 2019 และร่วมแสดงผลงานใน งานประชุมเชิงวิชาการ SEED Symposium 2020 ที่ประเทศไทย ที่ผ่านมาอีกด้วย


     เมื่อถามว่า ทำไมนักวิจัยซึ่งไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย ถึงสามารถทำกิจการให้ประสบความสำเร็จได้ เธอบอกว่าทุกอย่างล้วนผ่านการเรียนรู้ โดยเธอเริ่มทำธุรกิจด้วยความคิดที่ว่าทำสิ่งที่สนุกและเป็นประโยชน์ แต่พอวันหนึ่งที่กระโดดเข้ามาทำแบบเต็มตัว เธอบอกว่าต้องหาจุดร่วมที่จะสร้างความ วิน-วิน ให้เกิดขึ้นให้ได้ นั่นคือ ลูกค้าได้ประโยชน์ แต่เธอในฐานะคนทำธุรกิจก็ต้องอยู่ให้ได้ด้วยเช่นกัน นั่นคือต้องสร้างโมเดลในการหารายได้ที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ด้วย


     เธอย้ำว่า ตลอดเส้นทางที่เดินไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ต้องผ่านความยากลำบากมาทั้งนั้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การทำงานในทุกวันต้องเรียนรู้ ต้องเข้าใจในสิ่งที่ทำ และต้องอยู่กับสิ่งที่ทำจริงๆ ที่สำคัญคือต้องไม่เอาผลลัพธ์ทางธุรกิจมาเป็นที่ตั้งอย่างเดียว เพราะเธอย้ำว่า ความสุขของคนเราอาจไม่ใช่อยู่ที่การได้เงินมาแล้วซื้ออะไรให้ตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วคนเราจะหลั่งสารแห่งความสุขได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อเราได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น เธอจึงมองว่า บางทีการได้ทำสิ่งที่ตัวเองรู้สึกสนุก แล้วสิ่งนั้นสามารถไปทำประโยชน์เพื่อใครได้ด้วย นั่นต่างหากคือความสำเร็จที่เธอปรารถนา  


     และบางที “มูลค่าทางธุรกิจ” ก็อาจเกิดจาก “มูลค่าความสุข” ที่เรามี เหมือนที่เธอและ ListenField พิสูจน์ให้เห็นแล้วในวันนี้


     การเป็นผู้ประกอบการในญี่ปุ่น สอนการทำงานเป็นเครือข่าย และเติบโตไปด้วยกัน ด้วยความร่วมไม้ร่วมมือกัน เธอบอกว่าในโลกปัจจุบันนี้ไม่มีใครที่จะชนะไปทุกสิ่ง แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกัน โดยเราต้องรู้ตัวเองว่าตัวเรามีจุดเด่นอะไร แล้วก็ต้องมองให้ออกว่าเพื่อนของเรามีจุดเด่นอะไรที่เราไม่มี แล้วมาร่วมมือและแบ่งปันกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน โดยไม่ต้องเสียเวลาไปทำในสิ่งที่ไม่ถนัด เพราะทุกอย่างล้วนมีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรด้านเวลา เงิน และคน


     เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคต เธอบอกแค่ว่า อยากเห็นว่าสิ่งที่พวกเธอทำ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ กับภาคเกษตรของประเทศไทย ซึ่งหากทำได้ นั่นเท่ากับความฝันและความตั้งใจของเธอตลอดที่ผ่านมาได้บรรลุผลสำเร็จแล้ว
 





Did you know
 

      รัสรินทร์ ตั้งชื่อบริษัทของเธอว่า “ListenField” (ลิสเซินฟิลด์) ซึ่งให้ความหมายว่า การฟังเสียงธรรมชาติ เธอบอกว่า นี่สะท้อน DNA ของพวกเธอที่เริ่มต้นจากการฟังเสียงของธรรมชาติด้วยระบบเซ็นเซอร์ เมื่อฟังจึงทำให้เข้าใจปัญหา และสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ จนก่อเกิดมาเป็นธุรกิจ เลยเป็นที่มาของการฟังเสียงธรรมชาติ ฟังสิ่งรอบๆ ตัว  


     นอกจากนี้เป้าหมายของ ListenField  คือการนำความสุขมาให้กับเกษตรกร ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องเข้าใจเกษตรกรเสียก่อน เลยเป็นการฟังเสียงของธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรด้วยความเข้าใจ


     ในอีกมุมหนึ่ง ListenField ต้องการเป็น Networking Nature by Innovation  การสร้างเครือข่ายธรรมชาติด้วยนวัตกรรม จึงเป็นการฟังธรรมชาติที่นำนวัตกรรมเข้ามาเสริม ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย มาเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกษตรกรรับรู้ และข้อมูลจากตัวเกษตรกรเอง เพื่อส่งต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กลับไปให้เกษตรกรได้บริหารจัดการฟาร์มของพวกเขาได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน