‘แหล่งท่องเที่ยว-แมลงศัตรูพืช-พืชท้องถิ่น’ สู่เครื่องสำอางนวัตกรรมสุดว้าว! ที่ไทยทำได้

TEXT : กองบรรณาธิการ
 

 
 
Main Idea
 
 
  • นวัตกรรมทำอะไรได้มากกว่าที่คิด แม้แต่การหยิบเอาแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง แมลงศัตรูพืช วัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร หรือแม้แต่พืชท้องถิ่นที่เคยเป็นจุดขายในสินค้าแฟชั่น ก็สามารถสร้างสรรค์เป็นเครื่องสำอางสุดว้าวได้
 
  • การทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยุคใหม่ นอกจากจะต้องมีจุดขายที่น่าสนใจแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับต้นทางของวัตถุดิบด้วยว่า มีคุณภาพ มีปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้งาน และยังต้องมีส่วนเกื้อหนุนชุมชนและสังคมไปพร้อมกันด้วย




 
 
     น้ำพุร้อนเค็ม ในอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญและเป็นสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 2 แห่งของโลก วันนี้พวกมันถูกนำไปพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบสำหรับผิวหน้าแบรนด์ “Thara”  ที่มีทั้ง สเปรย์น้ำแร่ ซีรัมบำรุงผิว ครีมกันแดด และผลิตภัณฑ์เพื่อผิวกาย สะท้อนความไม่ธรรมดาของนวัตกรรมเครื่องสำอางไทยยุค 4.0  ที่กำลังไปได้ไกลกว่าที่ใครๆ คิด 




     นี่คือหนึ่งในผลงานจากโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น (Thai Cosmetopoeia)  โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร  เพื่อใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสร้างคุณค่าจากทรัพยากรธรรมชาติ และอัตลักษณ์ในชุมชน เนรมิตเป็นสินค้าต้นแบบระดับพรีเมียม พร้อมขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความยั่งยืน 


     “วันนี้ผู้คนให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องของ พืช สัตว์ และวัสดุทางธรรมชาติ แต่จากการที่เราทำงานวิจัยมา พบว่า เวลาที่ผู้ประกอบการจะนำเทคโนโลยีไปผลิตมักจะติดปัญหาเรื่องของวัตถุดิบ คือคุณภาพวัตถุดิบไม่มีความสม่ำเสมอ มากไปกว่านั้นคือวัตถุดิบบางตัวที่นักวิจัยใช้ในทำการวิจัย ยังเป็นพืชหายาก ต้องไปเก็บมาจากป่าซึ่งผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ปัญหานี้หมดไป เป็นไปได้ไหมที่เราจะนำพืชป่ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกและขยายพันธุ์ได้ โดยใช้วิทยาการทางการเกษตรเข้ามาช่วย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ๆ มาทดแทนพืชที่มีปัญหาในเรื่องตลาด เพื่อขายได้ราคาสูงขึ้น เกษตรกรก็จะมีอาชีพสร้างรายได้ เวลาเดียวกันก็ทำให้มีวัตถุดิบป้อนสู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย”





     “สายันต์ ตันพานิช” รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) บอกจุดเริ่มต้นของแนวคิด ก่อนจะมาเป็นโครงการ Thai Cosmetopoeia จาก วว. ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา และยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ 
 
 
  • น้ำพุร้อนเค็ม สู่เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้าสุดปัง  

     ความน่าสนุกของการเชื่อมโลกเครื่องสำอางเข้ากับนวัตกรรม คือการคิดโจทย์จาก “เอกลักษณ์ชุมชน” ในแต่ละท้องถิ่น จังหวัดไหนมีอะไรเป็นของดีของเด่น ที่พื้นที่อื่นไม่มี ก็จะเริ่มทำการวิจัยสรรพคุณจากจุดนี้ 


     “อย่าง น้ำพุร้อนเค็ม เราเริ่มจากหาเอกลักษณ์ของพื้นที่ก่อน  โดยเรามองว่าถ้าเป็นพืชส่วนใหญ่จะแย่งกันเยอะ  แต่น้ำพุร้อนเค็มของกระบี่ จากการไปรีวิวเราพบว่า นี่คือแหล่งน้ำพุร้อนเค็มแห่งที่ 2 ของโลก และแหล่งเดียวในประเทศไทย เพราะฉะนั้นมันขายได้ มันยูนีค เราก็เอาความยูนีคนี้ขึ้นมาดูแล้วไปทำการวิจัย เพื่อดูว่ามีสรรพคุณอะไรที่เอามาต่อยอดเป็นเครื่องสำอางได้ จนเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบสำหรับผิวหน้าในเวลาต่อมา”




     ในเชิงวิทยาศาสตร์ น้ำพุร้อนเค็ม มีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่มีผลดีต่อผิวในด้านการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และให้ความชุ่มชื้นต่อผิว มีคุณสมบัติในการสมานแผลได้ดีกว่าสารสกัดจากว่านหางจระเข้  เมื่อมาพัฒนาสู่เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้า  หลังทำการทดสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์สภาพผิวหน้าสามมิติที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน เช่น VISIA และ ANTERA 3D ทั้งก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์ พบว่า ริ้วรอยลดลงและสีผิวเรียบเนียนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำพุร้อนเค็มอย่างชัดเจน 


     และนี่คือผลลัพธ์จากการเชื่อมโลกนวัตกรรมเข้ากับเอกลักษณ์ในชุมชนที่พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นในวันนี้


 
  • เครื่องสำอางจากศัตรูพืชอย่างหอยทาก   

     นอกจากน้ำพุร้อนเค็ม ในปีที่ผ่านมา วว. ยังลงพื้นที่ในจังหวัดนครนายก เพื่อศึกษาหอยทากพันธุ์เม็กซิกัน ในการสกัด “เมือกหอยทาก” ที่นิยมกันในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางยุคนี้


     “เราเริ่มจากไปพัฒนาโปรดักต์จากเมือกหอยทาก ซึ่งเป็นการคิดร่วมกับผู้ประกอบการ โดยทำออกมาเป็นเซรัม จากเมือกหอยทาก โดยหอยทากนั้นเป็นศัตรูพืช มันกัดกินพืชของเกษตรกร จะทำอย่างไรที่ไม่ใช่ไปฆ่าทิ้งเฉยๆ แบบนั้นก็เปล่าประโยชน์ เราจึงเอาจุดตรงนี้มาพัฒนาต่อ โดยเราสามารถแก้ปัญหาการทำลายพืชเกษตรของเกษตรกรได้ อีกอันที่สำคัญคือ เรานำหอยทากมาเลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แล้วให้เกิดลูก ให้ลูกกินพืชที่ปลอดสารเคมีเป็นอาหารเพื่อให้ได้ตัววัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพมาใช้ ซึ่งจากจุดนี้ทำให้เกิดอาชีพใหม่ที่เป็นงานที่ไม่หนัก ทำให้คนเฒ่าคนแก่ที่เกษียณอายุแล้วในชุมชนที่เขาไม่สามารถทำไร่ทำนาได้ สามารถมาทำงานตรงนี้ได้ จึงเป็นการแก้ปัญหาไปถึงต้นน้ำได้ด้วย” เขาบอก


 
  • ขยะทางการเกษตร ก็เป็นสรรพคุณในเครื่องสำอางได้

      หลายคนเมื่อนึกถึงเพชรบูรณ์อาจจินตนาการถึงมะขามหวานแสนอร่อย ซึ่งในอดีตนิยมขายเป็นฝัก แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการจะใช้วิธีแกะเปลือกเทาะเมล็ดแล้วเรียงเป็นเนื้อนวลสวย สิ่งที่เหลือเป็นขยะก็คือ “เม็ดมะขาม” ที่ถ้าไม่ทิ้งเป็นขยะก็ต้องขายไปในราคาที่ถูกแสนถูก


     “ที่ผ่านมาเม็ดมะขามเป็นของเหลือทิ้ง ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทญี่ปุ่นมารับซื้อเกษตรกรกิโลกรัมละ 5 บาท เราก็ตามไปดูว่าเขาเอาไปทำอะไร พบว่าเขาเอาไปสกัดสารจากเม็ดมะขาม เหมือนที่เราทำอยู่ จากที่รับซื้อไปกิโลกรัมละ 5 บาท  เขาไปสกัดสารปรากฏว่าขายได้กิโลละ 3 หมื่นถึงแสนบาท มูลค่ามันเพิ่มขึ้นมาขนาดนี้ แล้วที่เราทิ้งไปอีกเท่าไร”


     สายันต์ บอกเราว่า สารสกัดจากเม็ดมะขาม  สามารถทำเป็นเซรัมบำรุงผิวหน้า ที่มีสรรพคุณดีกว่าหรือเทียบเท่ากับเม็ดองุ่นที่ขายกันอยู่ในท้องตลาด เพียงแต่เม็ดองุ่นหายาก ทว่าเม็ดมะขามบ้านเรามีจำนวนมากมายมหาศาล 


     “แน่นอนว่าเม็ดมะขามหวานก็ต้องเพชรบูรณ์เท่านั้น และสองมันเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งมาเพิ่มมูลค่า เป็นการจัดการขยะให้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้” เขาบอก


 
  • ครามจากฮ่อมสู่เฉดสีในเครื่องสำอาง

     ในวันนี้โลกของเครื่องสำอางไทยก้าวไปไกลกว่าที่คิด โดยปีนี้ วว. ลงพื้นที่จังหวัดแพร่เพื่อศึกษาพืชท้องถิ่นอย่างฮ่อม สู่การพัฒนาเป็นสารสีในเครื่องสำอางสำหรับแต่งหน้า หรือคัลเลอร์เมคอัพ 


     “จากฮ่อมที่จังหวัดแพร่ซึ่งส่วนใหญ่ก็นึกถึงแค่เอาไปทำเสื้อผ้า ซึ่งเขาทำกันมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่เราสามารถทำเป็นเครื่องสำอางแต่งหน้าได้ ซึ่งมันมีความแปลก และขายได้ ซึ่งทุกคนน่าจะได้เห็นในไตรมาสสองของปีนี้” 


     สายันต์ บอกเรื่องสนุกๆ ที่ วว. กำลังทำ หลังปีที่ผ่านมา ดำเนินโครงการไปแล้ว 4 จังหวัด เซ็น MOU ไปแล้ว 22 หน่วยงาน โดยในปีนี้ตั้งเป้าที่จะเฟ้นหาเอกลักษณ์ชุมชนสู่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ที่ 10 ผลงาน เพื่อยกระดับความพร้อมของเครื่องสำอางไทย ให้มีศักยภาพก้าวไกลในระดับโลก


     “ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะเปลี่ยนตัวเองจากการทำเครื่องสำอางเคมีมาสู่ธรรมชาติ โดยใช้วิธีประสานงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัยว่าพืชตัวไหนดีก็เอามาทำ ซึ่งตลาดต้องการไหมไม่รู้ และพืชพวกนี้มีซัพพลายเชนที่ดีไหมก็ไม่ทราบ บางทีสรรพคุณดีมากเลย แต่พอไปสืบต้นตอพบว่า หายากมาก ทำให้ต้องกลับมาคิดใหม่ วว.พยายามพลิกวิธีคิดให้ผู้ประกอบการ โดยเขาอาจมาทดสอบกับเราก็ได้ แต่เราก็จะคุยปัญหากับเขาต่อว่า ที่มาของวัตถุดิบเหล่านี้คุณต้องคอนเซิร์นด้วยนะ ถ้าคุณมีอยู่แล้วไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีเรายินดีประสานต่อให้ เพราะว่า วว. เราร่วมมือกับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติอยู่แล้ว เพื่อให้ต้นน้ำได้ด้วย สำหรับผู้ประกอบการที่อยากนำนวัตกรรมไปใช้พัฒนาสินค้าของตัวเองจริงๆ ไม่ได้จำกัดว่า ต้องเดินเข้ามาหา วว.เท่านั้น เพราะมีหลายหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้อยู่ แต่ในส่วนของ วว. เราพยายามพัฒนาแต่ละโปรเจ็กต์ให้ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อที่จะนำพาทุกภาคส่วนให้โตไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักวิจัย บริษัทก็ขายของได้ และหน่วยงานก็ตอบโจทย์นโยบายรัฐได้อย่างครบถ้วน ที่สำคัญเป็นโครงการที่ไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริงด้วย เพื่อยั่งยืนไปทั้งซัพพลายเชน เราอยากมองไปข้างหลังแล้วเห็นว่ามันงอกงาม” สายันต์ ย้ำเป้าหมายของพวกเขาในตอนท้าย


     ในโลกยุคใหม่ การใช้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถเพิ่มแต้มต่อให้กับธุรกิจ SME ได้ แม้แต่อัตลักษณ์ในท้องถิ่นที่หลายคนมองข้ามไป ก็สามารถนำมาพลิกโฉมสินค้าธรรมดาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ที่สร้างโอกาสเติบโตไม่รู้จบให้กับธุรกิจ SME ในยุคนี้ 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น