รวมกันเราอยู่! ถอดสูตรรบ SME ขนส่งและโลจิสติกส์ ในวันที่โควิดปลุกธุรกิจตื่น

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย
 
 

 


Main Idea
 
 
  • โควิด-19 ทำให้ธุรกิจขนส่งและเดลิเวอรีกลับมาคึกคัก ทั้งยังเติบโตได้กว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ทว่าเมื่อมองภาพรวมของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์กลับได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายย่อยอย่าง SME
 
  • SME เป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่ได้ให้บริการทั่วประเทศ แต่จะมีความเก่งและความถนัดในพื้นที่ ทางออกของผู้เล่นในสนามนี้คือการรวมตัวกัน เชื่อมต่อความเชี่ยวชาญของแต่ละรายและสร้างมาตรฐานการให้บริการร่วมกัน
 
  • ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องสนับสนุนเรื่องของการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับเชื่อมโยงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในประเทศ เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเอื้อให้สามารถทำงานที่ถนัดได้ดียิ่งขึ้น
 
  
              
     นับตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ภาพของธุรกิจขนส่งในสายตาคนทั่วไปถูกมองว่าเป็นขาขึ้น ยุคทอง หลังเห็นรถขนส่งของแบรนด์ต่างๆ วิ่งนำส่งสินค้าถึงหน้าประตูบ้านกันอย่างคึกคัก อานิสงส์จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่กับบ้าน ทำงานที่บ้าน สั่งอาหารเดลิเวอรีและซื้อสินค้าออนไลน์กันเป็นกิจวัตร ผลักดันให้บริการส่งพัสดุด่วนและเดลิเวอรีเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยโตเกินกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บางรายก็ขยับไกลถึงกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ


     ทว่านั่นเป็นเพียงบางส่วนของอุตสาหกรรมนี้เท่านั้น เพราะเมื่อมองภาพรวมของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ กลับพบว่าชะลอตัวลงมาตั้งแต่ปี 2562 เพราะภาวะเศรษฐกิจและภัยแล้งที่ทำให้สินค้าเกษตรลดน้อยลง ส่งผลให้การขนส่งมีปริมาณและกิจกรรมลดลงตามไปด้วย บวกการมาถึงของโควิด-19 ที่เป็นแรงกระแทกครั้งใหญ่ส่งผลกระทบต่อผู้เล่นในอุตสาหกรรมให้ยิ่งยากลำบากเท่าทวีขึ้นในวันนี้




 
  • โควิด-19 อาจไม่ใช่โอกาสทองของโลจิสติกส์ระดับ SME        

     “ปิยะนุช สัมฤทธิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิ่มซี่เส็งโลจิสติกส์ จำกัด และรองนายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ฉายภาพผลกระทบที่ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ต้องประสบในช่วงที่ผ่านมา โดยภาวะวิกฤตโควิด-19 ทำให้การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากมีพิธีการหรือกระบวนการที่มากขึ้น มีของกองอยู่ท่าเรือที่เข้า-ออกประเทศไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ ไม่ว่าจะเป็น Freight Forwarder (ตัวแทนผู้ส่งสินค้า) ผู้ทำหน้าที่พิธีการด้านศุลกากร รวมถึงธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ ที่ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น เพราะประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้า-ส่งออกเป็นหลัก สร้างผลกระทบมหาศาล คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์


     เมื่อมองมาถึงภาพการขนส่งในประเทศ พบว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือผู้ประกอบการ SME ซึ่งมีอยู่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้ประกอบการขนส่งในประเทศไทย เป็นรายเล็กที่มีรถขนส่งอยู่ประมาณ 50-100 คัน มีการบริหารจัดการแบบเถ้าแก่จึงปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ทัน





     “พฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ก่อนโควิด-19 เราเห็นสัญญาณบางอย่างซึ่ง SME ก็มีความคิดที่จะปรับตัว เริ่มเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ บางคนกำลังอยู่ในแผน แต่พอโควิด-19 เข้ามา มันเหมือนเป็นสึนามิ การเตรียมจะปรับตัวจึงไม่ทันการ คนที่ได้โอกาสคือคนที่เตรียมตัวพร้อมก่อนแล้ว ดีมานด์ที่เข้ามาในช่วงโควิด-19 มากกว่าซัพพลาย กลายเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มที่ส่งพัสดุด่วนที่มีอยู่เพียงไม่กี่แบรนด์ แต่ SME ไม่ใช่กลุ่มนี้ คนที่ให้บริการส่งด่วนไม่ใช่ SME จะเป็นรายใหญ่ที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีเทคโนโลยีขั้นสูงกว่า SME ฉะนั้นเขาจึงเข้าถึงตลาด เข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า” ปิยะนุชเล่าถึงโจทย์ที่ท้าทายของผู้ประกอบการรายเล็กในวันนี้


     จุดอ่อนของ SME คือการเป็นรายเล็กที่ไม่ได้ให้บริการทั่วประเทศ แต่ทว่าจะมีความเก่งและความถนัดในพื้นที่ เช่น ขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปยังภูเก็ต แล้วกระจายสินค้าไปทั่วจังหวัดภูเก็ต อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เป็นต้น แต่ผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการบริการแบบ One-stop service ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้บริโภคอยากจะได้บริการที่ครบจบในเจ้าเดียว สามารถส่งได้ทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ และทำให้ทุกอย่าง นี่จึงเป็นกำแพงสำหรับผู้ประกอบการขนส่งระดับ SME


     “การต่อสู้ของผู้ประกอบการโลจิสติกส์รายเล็กเป็นเรื่องที่ยากลำบากขึ้นทุกวัน วันนี้เราจะต้องเป็น Customer Centric ถ้า SME บอกว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญโลจิสติกส์ในพื้นที่ก็สามารถพูดได้ แต่จะไม่มีลูกค้ามาใช้บริการ เพราะสิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่จุดนั้น ลูกค้าต้องการความสะดวก ราคาไม่แพง ต้นทุนไม่สูง มีมาตรฐานการให้บริการที่ดีและต้องดีขึ้นไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่ SME ต้องตอบโจทย์ให้ได้” เธอบอก
 



 
  • ‘รวมกันเราอยู่’ วิถีรอดผู้ประกอบการรายเล็ก

     วันนี้เจอศึกหนัก แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ระดับ SME ก็มีความตื่นตัวและตระหนักถึงเรื่องการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาพบว่าสมาชิกของสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สะท้อนความเป็นกลุ่มก้อนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้


     “ต้องเข้าใจว่า SME คือคนที่มีทุนน้อย ฉะนั้นการจะทำอะไรก็ต้องทำแบบองคาพยพ ถ้าไม่มีคนเชื่อมที่ดี ไม่มีสะพานที่ดี รัฐไม่เข้ามาช่วย เขาก็ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร สมาคมฯ ก็ทำเท่าที่เราพอทำได้คือ รับฟังปัญหา แก้เท่าที่จะแก้ได้ แต่ผู้ประกอบการต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน ต้องสามารถบอกได้ว่าเขาควรจะไปต่ออย่างไร แล้วจะมีมาตรการสนับสนุนอย่างไรบ้าง”


     ในฐานะหนึ่งผู้เล่นที่อยู่ในสนามนี้ ปิยะนุชเสนอความเห็นว่า รัฐบาลควรสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับเชื่อมโยงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในประเทศ เป็นเครื่องมือเพื่อเอื้อให้พวกเขาทำงานที่ถนัดได้ดียิ่งขึ้น





     “วิธีนี้จะเป็นการสอนให้ผู้ประกอบการตกปลา ต่อให้จะเป็นการลงทุนที่แพง แต่ถ้าดูจากจำนวนผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์บ้านเราที่มีอยู่เป็น 10,000 ราย นั่นเท่ากับว่าต้นทุนเฉลี่ยจริงๆ ไม่ได้สูง และยังสามารถช่วยรักษาธุรกิจเหล่านี้ให้ไปต่อได้อีกด้วย มองว่านี่เป็นจังหวะที่ดี ถ้าภาครัฐเข้ามาในจังหวะนี้ เอาเครื่องมือที่ดี เอาระบบใส่เข้าไป พยุงให้ธุรกิจผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ เชื่อว่า SME ไทยจะกลับมาเข้มแข็งได้ทันที” เธอสะท้อนความคิด
 
  • ส่องอนาคต เปิดทางไปต่อของโลจิสติกส์ไทย
              
     วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปแล้ว ฉะนั้นภาพของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน หากอยากไปต่อผู้ประกอบการก็ต้องขยับ โดยปิยะนุชได้ให้ข้อแนะนำไว้ว่า
 

     1. ต่อไปนี้ผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ต้องสามารถส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค ถึงบ้านผู้บริโภคได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ถ้าผู้ประกอบการรายใดทำได้ก็เท่ากับจะมีตลาดในทันที


     2. หลังจากนี้ยังเชื่อว่าผู้ประกอบการขนส่งต้องบริหารจัดการต้นทุน คือ ทำ LEAN กำจัดส่วนเกินของการบริหารจัดการแบบเดิมออกไป ใครที่ยังใช้แรงงานมาก และเป็นแรงงานที่ไม่มีทักษะ ทำผิดบ้างถูกบ้าง ก็ต้องเร่งปรับตัว ใครที่ทำคลังสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้าแล้วใช้แรงงานเป็นหลักจะต้องทบทวนตัวเอง เพราะว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นเยอะมาก และอนาคตแรงงานจะหายากขึ้น ขณะที่แรงงานต่างชาติอาจจะลดลงอีกด้วย





     3. ผู้ประกอบการขนส่งต้องเชื่อมต่อกับคลัสเตอร์อื่นๆ ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการคลังสินค้า เกษตรกร อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งการจะเชื่อมกับคนอื่นนั้นทำได้ด้วยข้อมูล หรือ Big Data เช่น การเก็บข้อมูลลูกค้ารายหนึ่งว่าจะสั่งสินค้าทุกวันใด หรือจัดทำระบบอัจฉริยะเพื่อดูว่าสินค้าในสต็อกของลูกค้าใกล้หมดเมื่อไร ซึ่งจะช่วยทำให้เราสามารถบริหารจัดการและประหยัดต้นทุนได้เพิ่มขึ้นด้วย
 

     ปิยะนุชย้ำว่า ไม่มีใครเก่งกว่าผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญอยู่ในพื้นที่ เมื่อมีการขยับอย่างเต็มตัวเชื่อว่าจะทำให้มูลค่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่มีมูลค่าถึง 18 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หรือกว่า 700,000 ล้านล้านบาท ขยับปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากโควิด-19 จะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้มูลค่าโลจิสติกส์มีโอกาสขยับเพิ่มถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีได้ในอนาคต และนั่นคือโอกาสของ SME ที่จะได้อานิงสงส์จากผลลัพธ์นี้ด้วย
 
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน