วิชั่น “สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล” พลิกตำราพา SME ข้ามวิกฤตด้วยการคิดอย่าง..เสือ

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand




Main Idea
 
 
  • “สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล” คืออดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่คลุกคลีกับผู้ประกอบการ SME ไทยมาอย่างยาวนาน แม้ในวันนี้ที่ผันตัวเองไปเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชน แต่เขายังคงแบ่งภาคมาทำงานเพื่อ SME อยู่เสมอ
 
  • ในวันที่เกิดวิกฤตไวรัสโควิด-19 ความรู้และประสบการณ์ในอดีตกลายเป็นเรื่องเก่าที่เอามาใช้แก้สถานการณ์ไม่ได้ ท้าทายการทำธุรกิจของ SME  ถึงเวลาพลิกตำราสู้เพื่อก้าวข้ามวิกฤตไวรัส ด้วยการคิดอย่าง..เสือ




  
      SME Thailand : หลังประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้ประกอบการ SME จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้รอดพ้นจากสถานการณ์นี้

 




      สุวรรณชัย : หลายคนคงไม่นึกไม่ฝันว่าจะเจออะไรที่มาแรงและหนักหน่วงขนาดนี้ รอบนี้เชื่อว่าเราคงคิด
เหมือนกันว่า ตำราหรือประสบการณ์ในอดีตมีหลายเรื่องมากที่ไม่สามารถเก็บมาใช้ได้ แต่ใครที่พร้อมเอาความรู้และประสบการณ์นั้นมาพลิกตะแคงตัวเองได้เร็ว มีความยืดหยุ่นสูง กล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างรวดเร็วก็จะได้เปรียบ มองว่าสิ่งแรกที่เราจะเห็นเลยคือ อยู่ดีๆ เราก็กลายเป็น Touchless Society หรือสังคมไร้การสัมผัส เพราะเรากลัวการติดต่อจากการสัมผัส การซื้อสินค้าเองอย่าง คนขายกาแฟ ขายอาหารก็เริ่มมีมาตรการโดยต้องมีการสวมถุงมือ จ่ายเงินบนถาด ผมว่า Touchless Society เป็นสิ่งที่ตื่นขึ้นมาอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเราไป


      ต่อมาคือ Cashless Society สังคมไร้เงินสด ซึ่งมาระยะหนึ่งแล้วใครที่เคยไปเมืองจีนก็คงเห็นภาพนี้ แต่วันนี้มันมาเร็วขึ้น แล้วจะเห็นเลยว่าเครือข่ายของธุรกิจรายใหญ่ก็มีการเคลื่อนไหวอยู่ในระบบของ Cashless  กันมากขึ้น
นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้เห็นสิ่งหนึ่งนั่นคือ จิตวิญญาณของความเป็นคนไทยที่ชัดเจนขึ้น จะเห็นเลยว่าคนไทยมีการช่วยเหลือผู้อื่นและแบ่งปันกันมากขึ้น ผมใช้คำว่า Selfless Society  คือเห็นตัวเองน้อยลงและเห็นคนอื่นมากขึ้น กลายเป็นว่าธุรกิจอะไรก็ตามพี่สามารถมองเห็นคนหมู่มากแล้วมีส่วนร่วมในการสร้างความสำเร็จไปด้วยกัน ลดตัวตน ลดความเห็นแก่ตัวลง ธุรกิจแบบนี้จะเกิดขึ้นมากมาย ไม่ใช่ Sharing Economy หรือธุรกิจที่ Sharing แบบในอดีตอีกแล้ว แต่จะเป็นเรื่องของการที่เราจะ Open Network Collaboration สร้างเครือข่ายความร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นข้อดี


      นอกจากนี้ในเรื่องของการออกแบบสินค้าจะเป็น Seasonless คือไม่มีฤดูกาล แต่จะเป็นการพลิกแบบรายเดือน รายสัปดาห์ คือต้องหาความต้องการของลูกค้าให้เจอ ผลิตได้ไว ขายออกมาได้เร็ว เจอกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ใช่ ขณะที่สินค้าจะเป็น Timeless คือใช้ได้นาน ใช้ได้ทน ไม่ได้เป็นแฟชั่นจ๋า เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าเปลี่ยนแปลงไป คราวนี้เราในฐานะ SME จะเกาะการเปลี่ยนแปลงในแต่ละเรื่องนี้ได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับแต่ละคนแล้วว่าที่ผ่านมาช่วงที่ธุรกิจมันดีอยู่ เรามีการเตรียมความพร้อมตัวเองอย่างไร พอมาถึงช่วงที่ธุรกิจไม่ดี อย่าง 3 เดือนที่ผ่านมาที่รุนแรงหนักๆ เรามีการปรับเปลี่ยนตัวเองได้ไวแค่ไหน ซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน”
 





       SME Thailand : โควิดเป็นเหมือนสึนามิลูกใหญ่ที่เข้ามากระทบกับ SME  ซึ่งหลายคนหลายธุรกิจก็คงไม่ได้เตรียมกำแพงตั้งรับไว้หรือมองวิเคราะห์ปัญหารุนแรงที่เข้ามากระทบแบบไม่ทันตั้งตัว มองว่าวิกฤตครั้งนี้ หนักเกินไปหรือไม่สำหรับผู้ประกอบการ SME บ้านเรา

 

      สุวรรณชัย : ผมว่าครั้งนี้หนักกับทุกคนไม่ใช่แค่ SME ยิ่งรายใหญ่ยิ่งหนักกว่าด้วยซ้ำไป ในร้อยปีไม่น่าจะเจออะไรที่กระแทกแรง เร็วและหนักขนาดนี้ แต่ระหว่างที่องค์กรใหญ่โดนกระทบเนื่องจากเขามีเงินทุนสูงกว่า SME ฉะนั้นวิธีคิด วิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็จะแตกต่างจากเรา แต่ SME คนเราก็น้อยอยู่แล้ว เรามีการควบคุมค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าจะเป็นแรงกระทบที่รุนแรง ผมขอเปลี่ยนสไตล์เป็นคิดอย่างเสือก็แล้วกัน ว่าถ้าเป็นการคิดแบบผม ผมจะพยายามมองเชิงบวกและหาโอกาสที่มีอยู่ที่จะสามารถหาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม อย่างที่ผ่านมาเรามีปัญหาเรื่องการเงิน แทนที่เราจำเป็นต้องควบคุมการเงินให้รัดกุม ให้เปลี่ยนเป็นว่า เราจะมาสร้างความยืดหยุ่นทางด้านการเงินได้อย่างไรบ้าง เม็ดเงินที่มีจำกัดเราจะใช้อย่างไร อันนี้สำหรับกลุ่มที่พอมีเงินเหลืออยู่แม้จะไม่มากก็ตาม แต่ก็ยังมีข้อดี


      ต่อมาสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดแข็งของ SME นั่นคือเรามีเครือข่ายของเรา ซึ่งการจะทำ Business ถ้าเรามี Partner ที่ชัดเจน ที่แข็งแรง แล้วจับมือกับคนนั้นให้ชัดขึ้น โค-ครีเอทร่วมกันไปเลย ระหว่างที่ต่างคนต่างมีเม็ดเงินที่จำกัด เราจะครีเอทอะไรขึ้นมาเพื่อตอบสนองลูกค้าที่ใช่ของเราได้บ้าง ตอนนี้ใครที่มีลูกค้าชัด มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัด ที่ใช่และยังติดต่อเราอยู่ยังเป็นลูกค้าของเราอยู่ เราต้องดูแลพวกเขาให้ดี อันนี้เป็นเรื่องที่เป็นแนวทางในการรับมือกับปัจจุบันได้ดีที่สุด
 




      SME Thailand : สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่อาจมีข้อจำกัดในการทำธุรกิจ บางคนพอมีสภาพคล่อง พอที่จะกู้เงินเข้ามาใช้ได้ แต่บางคนก็แทบทำอะไรไม่ได้เลย ที่ท้อแท้และเลิกกิจการไปเลยก็มี มีข้อแนะนำสำหรับ SME ที่อยู่ในสภาพเหมือนหนูติดจั่นเช่นนี้หรือไม่

 
 
       สุวรรณชัย : ผมว่าอยากให้เริ่มต้นจากการที่ SME ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มให้มากขึ้น สื่อสารองค์กรของตัวเองให้ชัดเจน สมัยก่อนอาจต้องใช้งบประมาณเยอะแยะ แต่ปัจจุบันมีดิจิทัลแพลตฟอร์ม ให้สเกลธุรกิจใหม่ผ่านโลกดิจิทัลที่ใช้งบประมาณน้อยลง ไปอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ชัดขึ้น ผมว่าเป็นทางออกเบื้องต้นก่อนเลยว่าได้ ถ้าใครที่ยังไม่ได้เกาะกระแส Digitalization หรือการปรับธุรกิจให้อยู่ในโลกของดิจิทัลจะลำบาก แล้วตอนนี้ยิ่งเป็นเหมือนตัวกระตุ้นเตือน เรียกว่า ถ้าไม่ทำไม่ได้อีกต่อไป  โดยที่ตรงกันข้ามเราอาจจะกลับมาได้เปรียบก็ได้ ด้วยความที่ประสบการณ์บนออนกราวด์ของเราจะเป็นตัวหล่อหลอมให้เรามีอาวุธติดตัวมากมาย แต่ว่าบังเอิญยังไม่สามารถเอาองค์ความรู้ตรงนั้นมาใช้ในโลกดิจิทัลได้เท่านั้น ก็ถือโอกาสนี้เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความกังวลเป็นความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ที่เรายังไม่คุ้นชิน แล้วจับมือกับคนที่เขาเก่งกว่าเราในเรื่องนั้น เช่น คนรุ่นใหม่ที่เก่งทางด้านดิจิทัลเราจะเห็นไอเดียใหม่ๆ อีกเยอะมาก ในความคิดของผมถ้าถามว่าโลกที่เปลี่ยนแปลงตอนนี้ มีสิ่งใดที่น่าจะช่วยเราได้ดีที่สุด ผมว่าคือการหาเวทีใหม่ๆ ให้กับตัวเอง ไปอยู่กับคนรุ่นใหม่แล้วเอาโลกดิจิทัลมาใส่ในตัวเรา


      อีกจุดหนึ่งเราเห็นตัวอย่างของ SME ในปัจจุบันที่น่าชื่นชมมาก ที่สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส สิ่งแรกเลยจึงอยากให้ SME กลับมามองตัวเองว่า จุดแข็งสูงสุดของเราอยู่ที่เรื่องไหน ผมยังเชื่อในทฤษฎีสร้างจุดแข็ง เสริมจุดแกร่ง คือระหว่างที่เราท้อ ระหว่างที่เราแย่ เราไปดูข้อมูลแล้วกลับมาวิเคราะห์ตัวเองและประเมินตัวเองอีกรอบหนึ่งว่า จุดที่เราสามารถสร้างจุดขายหรือความแตกต่าง แล้วส่งประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ของเราได้ มีตรงไหนบ้าง แล้วเราเอาตรงนั้นมาขยายไปถึงผู้คน สร้างความน่าจดจำ แต่สำคัญคือต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย สังเกตว่าทุกคนที่รอดมาได้ในช่วง 3-4 เดือนนี้ เขาไม่ใช่แค่สร้างกระแสหรือสร้างความประทับใจระยะสั้นเท่านั้น แต่เขาตอกย้ำต่อเนื่องจนแบรนดิ้งเกิดขึ้นมา แล้ววิกฤตรอบนี้จะเห็นได้ชัดเลยว่า ใครสร้างแบรนด์ที่แข็งแรงในอดีต จะเป็นตัวที่ทำให้สามารถต่อยอดและแข็งแรงต่อไปได้ในวิกฤต
 




      SME Thailand : หลังเกิดโควิด-19 SME แบบไหนถึงจะอยู่รอดและแบบไหนที่ไม่สามารถไปต่อ อะไรเป็นสิ่งที่ SME ควรปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจยังคงอยู่ได้อย่างแข็งแกร่งหลังจากโควิด-19 จบลง
 

      สุวรรณชัย  : ผมว่า SME ที่อยู่ได้ ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดวิกฤตก็ตาม คือ SME ที่ปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา ปรับเปลี่ยนตัวเองตามสถานการณ์ มีความยืดหยุ่นสูง และมีวินัยทางการเงิน มีกลยุทธ์ด้านการตลาด และรู้ว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นอย่างไร แล้วใช้กลยุทธ์ทางการตลาดนั้นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า SME ที่จะอยู่รอดคือ SME ที่มีความแข็งแรงไม่ว่าจะเป็น Personal Brand หรือว่าแบรนด์ของสินค้า แบรนด์ขององค์กร มองว่า คนที่ให้ความสำคัญในเรื่องของแบรนด์ดิ้งจะอยู่รอดและเติบโตต่อไปได้ ส่วน SME กลุ่มสุดท้ายที่น่าจะเป็นหัวใจเลยคือ SME ที่รู้เรื่องดิจิทัลและนำมาใช้  ให้ความสำคัญกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม


       แต่คราวนี้สิ่งเดียวที่เราไม่สามารถกำหนดได้เลยก็คือ จังหวะของชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน ตรงนี้มันนอกเหนือตำรานอกเหนือประสบการณ์จริงๆ เราเห็นคนเก่งหลายคนมาผิดจังหวะก็ไม่ใช่ ไม่โดนอยู่ดี ผมจึงเชื่อว่าเรื่องจังหวะก็สำคัญ
              

      อยากจะฝาก SME เรื่องหนึ่งคือ อยากให้พวกเราช่วยกันสร้างคัลเจอร์ของตัวเอง ไม่ว่าเราจะมีพนักงานมากน้อยแค่ไหนก็ตาม อยากให้สร้างวัฒนธรรมที่เป็นเรา เพื่อที่เวลาองค์กรเติบโตไปแล้วมีคนใหม่เดินเข้ามาจะสามารถแทนที่ได้เลยโดยไม่ต้องมากังวลในอดีตที่จะต้องแสวงหากำไรเป็นตัวหลัก ฉะนั้นระหว่างที่เรากำลังแสวงหาโอกาสไปสู่อนาคตที่ใช่ของตัวเอง อย่ากให้ค่อยๆ สร้างปลายทางที่คนไปพร้อมกับเรา ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมของเราและองค์กรของเราให้ได้ ผมเชื่อว่าตรงนี้มันจะผลักดันกลไกทำให้เราได้คนเก่งๆ เข้ามาสร้างธุรกิจใหม่ๆ ของเราต่อไปได้ในอนาคต


      เรามีข้อด้อยอะไรเรารู้ตัวเองอยู่แล้ว ก็เปลี่ยนข้อนั้นให้เป็นจุดแข็ง โดยใช้ทักษะความเป็นผู้นำของตัวเอง พยายามกลับมาดูว่า เราจะเป็นผู้นำองค์กรแบบไหน เราจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยแพสชั่นหรือขับเคลื่อนด้วยอะไร ตอนนี้ การหากำไรมันยาก การสร้างรายได้ใหม่ก็ยากรองลงมา แต่การควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งแรกที่เราคิดถึง แต่เราจะควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างไรไม่ให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ แล้วไม่ไปควบคุมเสียจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เลย ความเป็นผู้นำของแต่ละคนจึงต้องใช้อย่างเต็มที่ ให้ทุกคนที่ทำงานกับเราเห็นกลไกเดียวกันนี้ ถ้าไม่ใช่ก็แปลว่าต้องเริ่มหาทิศทางใหม่
 





       SME Thailand : อยากให้ฝากข้อแนะนำและกำลังใจให้กับผู้ประกอบการ SME ที่กำลังประสบปัญหาโควิด-19 อยู่ในขณะนี้


      สุวรรณชัย : สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ไม่มีใครรู้มาก่อน และเป็นแรงกระแทกที่น่าจะเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดลูกหนึ่งของชีวิตคนหนึ่งคนที่เคยเจอมาเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME เรา ดังนั้นระหว่างที่มันเข้ามาโดยไม่รู้ตัว สิ่งหนึ่งที่เรามีก็คือหัวใจนักสู้ของตัวเราเอง ประกอบกับความรู้ต่อเนื่องที่เรียนรู้มา การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคตรวมถึงกำลังใจของคนรอบข้างที่จะมาแบ่งปันและสู้ไปด้วยกัน


      ผมเชื่อว่าครั้งนี้เราจะผ่านมันไปได้ เพราะคนไทยมีสิ่งหนึ่งที่มองว่ามากกว่าคนอื่นในโลก นั่นคือความคิดสร้างสรรค์ ถ้าความคิดสร้างสรรค์เราไม่หยุดอยู่กับที่ เอาความคิดสร้างสรรค์มารวมกับเทคโนโลยี รวมกับระบบปฏิบัติ การบริหารจัดการ มารวมกับสิ่งต่างๆ ให้ได้ แล้วเดินหน้าไปด้วยกัน เชื่อว่าพี่น้อง SME ที่ผมรู้จักหลายคนตอนนี้ ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันอยู่วงนอกพอสมควร ภาครัฐเองก็มีกลไกใหม่ๆ ที่รอหลังโควิด หลายๆ คนก็ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูล มีส่วนร่วมรับฟัง SME ช่วยกันสื่อสารเชิงบวก ส่งกำลังใจเชิงบวก แล้วเดินหน้าไปเพื่อเอาสิ่งดีๆ เหล่านั้นกลับมาที่ตัวเรา แล้วส่งไปพร้อมกับทุกคนในประเทศไทย ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน
 


 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น