ก้าวข้าม Comfort Zone สร้างเครดิตในใจลูกค้า ตำรากู้วิกฤตสไตล์ O&B

TEXT : กองบรรณาธิการ

PHOTO : ฝ่ายภาพ SME Thailand 




Main Idea           
 
 
  • สถานการณ์อาจสร้างวีรบุรุษ หรือพลิกชื่อเสียงของแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืน แต่ไม่ใช่สำหรับกรณีของรองเท้าแบรนด์ O&B ผู้สร้างตำนานรองเท้า 50 เฉดสี ที่ไม่หยุดมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า อดทนเก็บสะสมแต้มต่อเนื่อง เมื่อถึงวันฟ้าเปิด ยอดขายก็หลั่งไหลมาเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จ
 
  • ไม่ใช่ว่าขายรองเท้าแล้ว จะต้องขายรองเท้าไปทั้งปีทั้งชาติ ในอนาคตแบรนด์ O&B จะก้าวข้าม Comfort Zone ไปผลิตสินค้าอะไรก็ได้ เพราะแบรนด์มีเครดิตที่ดี ไม่ว่าจะผลิตอะไร ลูกค้าก็เชื่อมั่นในคุณภาพ และพร้อมสนับสนุน




      8 ปีที่เติบโตโลดแล่นขายรองเท้าอยู่บนโลกออนไลน์ ก่อนจะขยายมาเปิดหน้าร้าน “รรินทร์ ทองมา” เจ้าของแบรนด์รองเท้า O&B บอกว่าไม่มีวันไหนเลยที่จะไม่ทำงานอย่างหนัก ยิ่งช่วงโควิด-19 ระบาด ยิ่งทำงานหนักกว่าเดิม เวลาทุกนาทีหมดไปกับการคิดกลยุทธ์หรือวิธีใหม่ๆ ที่จะทำให้ได้สินค้าที่ดี ในราคาที่ดี และถูกใจลูกค้ามากขึ้น
               





      เพราะตั้งแต่ต้นเลือกช่องทางการขายที่ถูกต้อง ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ช่วยปูทางความสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง โดย O&B เป็นแบรนด์รองเท้าแบรนด์แรกๆ ที่บุกเบิกขายในเฟซบุ๊ก รวมทั้งสื่อโซเชียลต่างๆ ที่เกิดไล่หลังกันมา เช่น อินสตาแกรมและไลน์ แต่เหนืออื่นใด คีย์ซัคเซสที่ผลักดันให้ O&B ขึ้นไปติดท็อปแบรนด์ในกลุ่มรองเท้าแฟชั่นผู้หญิง ทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์คือ การมีสินค้าที่ดี
               

      “ต่อให้อยู่ในช่องทางที่ถูกต้อง มีบริการที่ดี ทำการตลาดเก่ง มีดาราเป็นแบ็กอัพ ก็ไม่สู้การมีสินค้าที่ดีเป็นพื้นฐาน ตัวเองเป็นคนคลั่งไคล้รองเท้ามากๆ เราเลยเข้าใจว่าจะทำสินค้าอย่างไรให้ผู้บริโภครู้สึกว่า นี่เป็นรองเท้าที่ดีที่สุดเท่าที่เคยใส่มา อีกอย่าง Business Model ก็ต้องถูกต้องด้วย ช่องทางไหนจะทำให้คุณขายดี และได้กำไรจริงๆ แม้ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด”





      อย่างการดีไซน์รองเท้าแบบเดียวกันให้ออกมา 50 เฉดสี ก็มาจากความชอบสีสันของรรินทร์ล้วนๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาบทวิเคราะห์การตลาดใดๆ เพราะผู้หญิงย่อมเข้าใจในผู้หญิงด้วยกัน เพศหญิงซื้อสินค้าด้วยอารมณ์ อย่าได้ถามหาเหตุผล แต่เธอก็ยอมรับว่าที่คอลเลกชันนี้ขายดีแบบถล่มทลาย ส่วนหนึ่งก็เพราะโชคด้วย


      “ช่วงแรกที่เราลงแรงไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า การทำพรีเซนเทชัน มันอาจจะยังคงไม่ค่อยเห็นผลนัก แต่เรามีหน้าที่ทำสิ่งที่ดีออกมาเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าจุดไหน โมเมนตั้มมันจะเหวี่ยงไปในทิศทางที่สูงขึ้นแบบเท่าตัว มันไม่ใช่สามล้อถูกหวยที่ดังชั่วข้ามคืน แต่มันเป็นเรื่องของการทำงานอย่างหนัก อย่างใส่ใจ อย่างต่อเนื่อง”


      ย้อนกลับไปในช่วงล็อกดาวน์ประเทศ สถานการณ์บีบบังคับให้หน้าร้านของ O&B จำนวน 5 ใน 6 สาขา ที่มีทำเลตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าจำต้องปิดตัวลงชั่วคราว รรินทร์ยอมรับว่ามีเครียดบ้าง แต่สุดท้ายคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจต้องมีสติ และมีกำลังใจที่ดี โดยหันไปโฟกัสช่องทางที่สามารถทำเงินได้จริงในเวลานั้น ซึ่งก็คือช่องทางออนไลน์ที่แจ้งเกิดและเติบโตมา โชคดีเป็นของเธอที่ทีมงานปรับตัวไว ช่วยกันระดมความคิดทำสิ่งที่แปลกใหม่ แม้กระทั่งผลิตสินค้าที่ไม่ใช่รองเท้า ออกมารับกับดีมานด์ของผู้บริโภค ณ เวลานั้น






      “แต่ก่อนเราอาจจะทำงานแบบ Comfort Zone มากเกินไป ทำอะไรออกมาก็ขายได้ พอสถานการณ์เปลี่ยนไป เราตกอยู่ในภาคบังคับที่ต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ อย่างช่วงโควิดจะทำอะไร ก็ต้องทำให้เร็ว ไม่ต้องคิดมาก ไม่เน้นลงทุนเยอะ แต่ต้องเร็ว แล้วดูว่าเวิร์กหรือเปล่า ถ้าไม่เวิร์กต้องรีบเปลี่ยน


      เป็นกรณีศึกษาเหมือนกันว่าเราทำรองเท้ามาตลอด แต่วันหนึ่งเราต้องมาทำหน้ากากอนามัย ซึ่งมีผลตอบรับที่ดีมาก แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภครักแบรนด์เราจริง มันเป็นเครดิตที่เราทำไว้ดีด้วย ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในแบรนด์สูงว่าอะไรก็ตามที่ O&B ทำ มีคุณภาพที่ดีหมด พูดได้เลยว่ามันเป็นการกินบุญเก่าของแบรนด์ เพราะเรานำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับลูกค้ามาโดยตลอด”


     รรินทร์บอกว่าการก้าวออกจากโซนปลอดภัย ทำให้ธุรกิจเติบโตไปอีกขั้น ในฐานะเจ้าของธุรกิจ เธอมองเห็นตลาดและช่องทางการขายใหม่ๆ และในฐานะที่ควบตำแหน่งดีไซเนอร์ด้วย โลกแฟชั่นยังมีอะไรสนุกๆ ให้ได้คิดและทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป โดยไม่จำกัดกรอบของธุรกิจไว้ที่รองเท้าแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับเพื่อน SME เธอมีคำแนะนำในการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ว่า…





      “การขายของบนโลกออนไลน์…ไม่ยาก มันอาศัยการทำงานอย่างต่อเนื่อง ความใส่ใจกับรายละเอียดอย่างรอบด้าน ดังนั้น SME ต้องอดทน ถ้าช่วงไหนสินค้าขายไม่ดี ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว เปิดหูเปิดตากับเครื่องมือใหม่ๆ รวมทั้งศึกษา Success Case ของแบรนด์ดังในต่างประเทศว่าเขาประสบความสำเร็จมาได้อย่างไร และจะปรับตัวไปในทิศทางไหน เพราะกว่าที่แต่ละแบรนด์จะก้าวขึ้นมาในระดับท็อป ล้วนผ่านการทำงานหนักหนาสาหัสทั้งสิ้น”
แล้วคุณล่ะพร้อมที่จะทำงานหนัก เพื่อความสำเร็จแล้วหรือยัง?
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน