คุยกับนายกสมาคม SE ทำธุรกิจแบบไหนไม่ให้โลกเจ๊ง! ใน 80 ปี

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea


เหตุผลที่ธุรกิจต้องปรับตัวเป็นองค์กรน้ำดี
 
  • ธุรกิจต้องพึ่งพิงการใช้ทรัพยากรโลก ถ้าทรัพยากรหมดธุรกิจก็เจ๊ง
 
  • ธุรกิจต้องดำรงอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์ผู้คนในระยะยาว
 
  • การใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือยคือการกู้คนรุ่นหลังมาใช้
 
  • ถ้าไม่อยากให้โลกเจ๊งในอีก 80 ปี ทุกคนต้องช่วยกันตั้งแต่วันนี้



     ปีนี้พวกเราผ่านจุดคุ้มทุนของการใช้ทรัพยากรโลกไปแล้ว และอยู่ระหว่างการ “กู้” ทรัพยากรคนรุ่นหลังมาใช้  และหากธุรกิจยังคงใช้ทรัพยากรอย่างไม่คิด มุ่งแต่แสวงหารายได้ แต่ไม่ตระหนักถึงการใช้ให้น้อยลง หรือร่วมรับผิดชอบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โลกของเราจะเจ๊ง! ในอีก 80 ปีข้างหน้า
           

      นี่ไม่ใช่คำขู่ แต่คือปรากฎการณ์ที่จะเกิดขึ้นจริง จากคำบอกเล่าของ “ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้โมเดลธุรกิจเป็นกระบวนการในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้มองแค่การสร้างผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงคุณประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและโลกใบนี้ด้วย




           
           
หากโลกเป็นบริษัท ก็คงเป็นบริษัทที่ใกล้เจ๊ง


      ม.ล.ดิศปนัดดา แชร์ให้ฟังว่า การคำนวนทรัพยากรโลกที่สามารถใช้ได้ให้เกิดความเท่าทุนใน 1 ปี พบว่า จะเป็นอาทิตย์แรกของเดือนสิงหาคม แต่ปีนี้เรามาถึงจุดนี้ช้ากว่าปกติ 3 อาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญญานที่ดีขึ้น แต่ดีเพราะโควิดที่ทำให้คนไม่ได้เดินทางไปไหน และไม่ได้ออกไปใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยเหมือนที่ผ่านมา


      “ปีนี้การใช้ทรัพยากรเราถึงจุดคุ้มทุนในอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคม นั่นแปลว่าหลังจากอาทิตย์ที่ 3 เป็นต้นมา เรากำลังกู้ทรัพยากรมาใช้ ถามว่าเรากู้ใคร เราก็กู้คนรุ่นหลัง เราเอาของในดิน เอาไม้ เอาน้ำ เอาทะเล เอาปลาของคนรุ่นหลังมาใช้ เพราะว่าเราใช้เกิน ทีนี้ถ้ามองในมุมของบริษัท หากบริษัทมีงบในการใช้เงินอยู่ 100 บาทต่อปี แต่เราใช้หมดไปแล้วตั้งแต่เดือน 8 ที่เหลือเราต้องกู้ตลอด และกู้อย่างนี้มาเป็นเวลา 10-20 ปี ผมถามว่า บริษัทนี้ยังน่าลงทุนไหม บริษัทนี้ในอนาคตมันจะเจ๊งถูกไหม บริษัทนี้ชื่อว่า Earth Company Limited โลกที่กำลังจะเจ๊ง ซึ่งตอนนี้เขาขีดเส้นไว้ว่าโลกจะเจ๊งในอีก 80 ปีข้างหน้า แต่วันนี้พวกเราเองยังไม่ได้สะท้อนถึงความสำคัญของประเด็นพวกนี้สักเท่าไหร่” เขาบอก





 
 
ธุรกิจต้องยืดอายุการล่มสลายของโลก
 
 

      ในฐานะที่ภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม กิจการทั่วไปอย่าง SME หรือแม้แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ต่างก็มีส่วนในการใช้ทรัพยากรโลกและสร้างผลกระทบกับโลกใบนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ เพราะถ้าโลกเจ๊งในอีก 80 ปี ธุรกิจที่ทุกคนทำก็ต้องถึงคราวล่มสลายไปพร้อมกัน


      “อยากตั้งคำถามถึงผู้ประกอบการทุกท่าน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ ผมถามว่า การหาเพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ในวันนี้ โดยที่เราไม่แคร์สิ่งแวดล้อม ไม่แคร์ประเด็นช่องว่างระหว่างชนชั้น มันจะทำให้ธุรกิจในอนาคตตอบโจทย์ในระยะยาวได้จริงหรือ เพราะถ้าโจทย์ข้อนี้มันไม่ได้ถูกตอบ แล้วธุรกิจที่จะขึ้นมาใหม่ๆ ไม่ได้มีความพยายามที่จะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเหล่านี้ อย่างเช่นตั้งธงว่าฉันจะต้องใช้ทรัพยากรให้น้อยลง การท่องเที่ยวต้องไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมจนเกินไป ถ้าไม่ได้เริ่มต้นจากจุดตรงนี้ ในระยะยาวเราก็จะลำบาก


      แม้กระทั่งเรื่องของการจ้างงานที่เป็นธรรม สวัสดิการทุกๆ อย่างไม่ได้มีแค่สวัสดิการพื้นฐาน แต่ควรมองพนักงาน เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตมีจิตใจ มีครอบครัว เราก็ควรต้องให้เท่าที่เราจะให้ได้ ถ้าเกิดจะต้องแบ่งกำไรบางส่วนมาทำ เราก็ควรพิจารณา ถ้าเราเริ่มที่จะมองธุรกิจแบบนี้ อย่างไรก็เป็นธุรกิจเพื่อสังคม อย่างไรโลกนี้ก็เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งธุรกิจใหม่ๆ ที่จะลุกขึ้นมา ไม่ต้องไปถามตัวเองเลยว่าจะเป็นธุรกิจเพื่อสังคมหรือธุรกิจปกติ เพราะผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้มันเป็นประเด็นพื้นฐานที่ทุกคนควรพิจารณาอยู่แล้ว” เขาย้ำ
 



 
เปลี่ยนเป็นองค์กรน้ำดี ที่คำนึงถึงโลกและสังคมมากขึ้น

 
      เขายกตัวอย่างดอยตุงที่ดูแลอยู่ ซึ่งดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด Business with a heart ทำธุรกิจด้วยหัวใจ และ Profit with purpose ทำธุรกิจให้มีกำไรอย่างมีจุดมุ่งหมาย


      “นี่เป็นไกด์ไลน์ของเรา เราตั้งเป้าหมายว่าดอยตุงจะต้องเป็นองค์กรที่ดี ผลิตภัณฑ์ของดอยตุงจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้โลกใบนี้ดีขึ้น ซึ่งเมื่อพูดอย่างนี้มันอาจจะไม่ได้ผลในวันนี้ แต่นี่คือสิ่งที่เราต้องการจะทำให้เกิดขึ้น
เราพยายามที่จะขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ เพราะเราเองก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้ทรัพยากรเกิน และเรามีความตั้งใจอย่างมากที่จะผลักดันให้วันนั้นของเราออกไปให้นานที่สุด และสุดท้ายคือสามารถใช้ได้ไม่เกิน นี่คือสิ่งที่เราต้องการทํา”


      นายกสมาคม SE บอกว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ธุรกิจต้องพิจารณา เพราะว่าในอนาคตเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องแก้กันไปอีกนาน และมันเป็นปัญหาที่เราผลักไสไม่ได้ มันต้องเกิดขึ้นแน่ๆ


      “ข่าวดีคือพวกเราทุกคนจะตายก่อนถึง 80 ปี จะไม่มีใครต้องเจ็บปวดเพราะเรื่องนี้ แต่ถ้าเกิดใครมีลูก มีหลาน มีเหลนที่จะสืบสกุลต่อไป เขาจะหันมามองแล้วว่า คนรุ่นทวดอย่างเราทำอะไรไว้กับพวกเขา”
 



 
ปรับตัวเปลี่ยนเกมธุรกิจให้สอดคล้องกับอนาคต
 

      แม้วันนี้ภาคธุรกิจจะเจอกับความท้าทายมากมายรวมถึงสถานการณ์โควิด-19 แต่เขาบอกว่า ความต้องการของคนนั้นยังมีอยู่ สิ่งนี้ไม่ได้เปลี่ยนไป คนยังต้องการที่จะกินอาหาร ยังต้องการจับจ่ายใช้สอย ยังต้องการสินค้าและบริการ เพียงแต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ “วิธีการ” ซึ่งเราต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสิ่งที่เปลี่ยนไปนี้


      “อนาคตเราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่วันนี้เราเริ่มเห็นเทรนด์ของออนไลน์ เริ่มเห็นเทรนด์ของ Machine Learning เทรนด์ AI  เรื่องความสำคัญของ Data ที่แทนที่จะอยู่ในเรื่องของพฤติกรรมแต่เป็น Data ที่ซ่อนอยู่ในแง่ของดิจิทัลต่างๆ สิ่งสำคัญคือใครบ้างที่จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ แล้วมาสร้างให้กลายเป็นแผนธุรกิจที่จะตอบโจทย์ตัวเองได้ ผมว่าอันนี้สำคัญ และเรามีโอกาสที่จะมีมิลเลียนแนร์ มีเศรษฐีเงินล้านเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้อีกเยอะมาก เพียงแต่ในวันนี้อาจจะยังจับหลักไม่ได้ ว่าวิธีการในการเล่นเกมแบบใหม่นี้เป็นอย่างไร เพราะทุกวันนี้กระดานมันล้ม แต่ถ้าเกิดเราสามารถจับหลักตรงนี้ได้ ผมเชื่อมั่นมากๆ ว่า จะเป็นโอกาสที่จะเกิด S-Curve ใหม่ หรือวิธีการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งจะสร้างโอกาสให้พวกเราได้อีกเยอะมาก”


      สำหรับการทำธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งแตกต่างไปจากธุรกิจทั่วไป และมีเป้าหมายที่มุ่งไปทางการสร้างคุณประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลกำไร เขาบอกว่า ทำให้ SE ส่วนใหญ่ต้องประสบปัญหาในการขยายธุรกิจของตัวเองโดยประเด็นหลักคือเรื่องของต้นทุน ที่อาจจะสู้ธุรกิจอื่นไม่ได้ เพราะ SE ต้องแข่งขันในตลาดปกติ ทำให้คนที่มีทุนมากกว่าหรือมีแบรนด์ที่ดีกว่าก็จะต่อยอดได้ง่ายกว่า รวมถึงปัญหาด้านการเข้าถึงตลาดที่ไม่ว่าจะเป็นค้าส่งหรือค้าปลีก ที่ต้องไปต่อสู้กันเรื่องต้นทุนและราคา ไม่ใช่ผลลัพธ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขามีอยู่ ซึ่งเหล่านี้ล้วนกดดันให้ธุรกิจ SE ในประเทศไทยเติบโตได้อย่างยากลำบากมาก






      และนั่นคือภารกิจของสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand) ที่เขาบอกว่า จะทำให้ SE ได้รวมกันเป็นเครือข่าย การไปคุยกับบริษัทขนาดใหญ่หรือหน่วยงานต่างๆ ก็จะมีพลังและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น สามารถเชื่อม SE ให้เข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น เข้าถึงการอบรม การสนับสนุนจากหน่วยงาน ได้บ่มเพาะธุรกิจ เข้าถึงข้อมูลด้านกฎหมาย และข้อมูลการวิจัยตลาด ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาด และทำให้กิจการอย่าง SE สามารถขยายและเติบโตได้มากขึ้น  ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 30 ราย จากจำนวน SE ทั่วประเทศที่คาดว่ามีอยู่ที่หลักร้อยราย


      “ในฐานะนายกสมาคมสิ่งหนึ่งที่อยากทำคือเราต้องการสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานราชการ ให้ได้เห็นถึงความสำคัญของธุรกิจเพื่อสังคม และมันไม่ควรเป็นธุรกิจทางเลือกด้วย แต่ควรเป็นธุรกิจที่ได้รับความสนใจ มีคนฉายสปอร์ตไลท์ลงมาให้เห็นเพราะว่าธุรกิจนี้ช่วยแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ปัญหาที่ภาคธุรกิจสร้างขึ้น หรือปัญหาบางส่วนที่ภาครัฐอาจจะเข้าไม่ถึง ซึ่งตรงนี้เราสามารถเป็นตัวเชื่อมประสานที่จะบูรณาการการพัฒนาประเทศของเราให้ดียิ่งขึ้นกว่านี้” เขาบอกในตอนท้าย
 

      ถ้าโลกจะต้องเจ๊งในอีก 80 ปี ในฐานะคนทำธุรกิจที่ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรของโลกใบนี้ ก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับตัวเองเพื่อให้เป็นองค์กรน้ำดีที่ใส่ใจโลกและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นกิจการทั่วไป หรือธุรกิจเพื่อสังคม ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน คืออยากสร้างธุรกิจที่ “ยั่งยืน” ด้วยกันทั้งนั้น





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น