รวม 5 แบรนด์สุดปัง! ที่สร้างวีรกรรมสุดเซอร์ไพรส์ จนถูกพูดถึงมากสุดในปี 2020

TEXT : กองบรรณาธิการ





     เรียกว่าเป็นอีกปีสุดหินที่อาจไม่คาดคิดมาก่อน สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจทั้งไทยและทั่วโลกที่ต้องปรับตัวเอาตัวรอดกันแบบวันต่อวันกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น แต่ในวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ก็กลับทำให้เราได้เห็นแบรนด์และผู้ประกอบการที่ฉายแววเป็นนักสู้และเอาตัวรอดได้อย่างโดดเด่น จนเป็นที่จดจำและเป็นตัวอย่างให้กับธุรกิจอื่นหรือบุคคลทั่วไปได้นำไปปรับใช้และสร้างกำลังใจให้กับตัวเองได้


     ในโอกาสส่งท้ายปีนี้เราจึงขอรวบรวม 5 แบรนด์สุดปัง! 2020 กับวีรกรรมสุดเซอร์ไพรส์ที่ทำให้สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสขึ้นมาได้มาฝากกัน แม้คลื่นโควิดลูกใหม่กำลังถาโถมเข้ามาอีกระลอก แต่ก็หวังว่าประสบการณ์เมื่อต้นปีที่ผ่านมาจะสามารถนำพาเราให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเหมือนเช่นเคย



 
 
  • Penguin Eat Shabu : สั่งชาบู แถมหม้อ เสิร์ฟประสบการณ์กินอยู่บ้าน อยู่ร้าน ก็อร่อยเหมือนกัน


     เพราะประสบการณ์การกิน คือ สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่เป็นจุดขายให้กับร้านบุฟเฟ่ต์ชาบูหรือร้านปิ้งย่างทั่วไป ด้วยเหตุนี้เมื่อวิกฤตโควิด-19 เกิดขึ้น ลูกค้าไม่สามารถเข้ามารับประทานที่หน้าร้านได้ การปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดของ “Penguin Eat Shabu” หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆ ว่า ชาบูเพนกวิน จึงมิใช่แค่การจัดทำเมนูอาหารขึ้นมาและส่งเดลิเวอรีเหมือนกับร้านอาหารอื่นๆ แต่ยังต้องสร้างประสบการณ์ที่เป็นจุดขายของแบรนด์ด้วย


     ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการจัดแคมเปญพิเศษด้วยการจัดเซตชาบูแถมหม้อต้ม ซึ่งมีให้เลือกหลายราคา หลายขนาดตั้งแต่ 1,059 - 1,499 บาท เพราะครั้นจะส่งแค่วัตถุดิบและให้ลูกค้าไปจัดการหาอุปกรณ์เอาเองก็เป็นภาระอีก จึงทำให้หลายคนขอผ่านแม้โปรโมชั่นจะน่าเชิญชวนแค่ไหนก็ตาม แต่การที่แบรนด์จัดซื้อมาให้เอง แถมเป็นไซส์เล็กขนาดพอดี บวกกับการใช้คีย์เวิล์ดที่ฟังแล้วว้าว! อย่าง “สั่งชาบู แถมหม้อ” จึงทำให้เกิดความน่าสนใจ เพราะยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ทั้งที่ความจริงแล้วราคาอาจไม่ได้แตกต่างจากการที่ผู้บริโภคไปหาซื้อหม้อด้วยตนเองก็ได้ ทำให้จากยอดขายเงียบๆ ก็กลับพุ่งสูงขึ้น ลูกค้าแย่งกันกระหน่ำเข้ามาสั่ง จนระบบล่มกันเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากจะได้ยอดขายให้พอเอาตัวรอดได้ พวกเขายังได้กระแสทำให้วันนี้ใครๆ ก็รู้จัก เพนกวิน ชาบูแถมหม้อมากขึ้นด้วย



 
 
  • Bar B Q Plaza : กินข้าวกับ Gon ไอเดียเว้นระยะห่างที่ได้ทั้งขายของ และสร้างแบรนด์
 

     หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้ใช้มาตรการเฟส 2 ให้ร้านอาหารต่างๆ เริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Bar B Q Plaza ก็ดูจะเป็นแบรนด์แรกๆ ที่เป็นต้นแบบและเริ่มให้ลูกค้าเข้ามานั่งรับประทานในร้านได้ โดยนอกจากมาตรการความสะอาดและความปลอดภัยต่างๆ ที่วางไว้อย่างเข้มข้นแล้ว ยังมีการหยิบจับข้อกำหนดที่รัฐบาลได้วางไว้ อย่างการเว้นระยะห่างระหว่างผู้บริโภคที่เข้ามารับประทานอย่างน้อย 1 เมตรมาสร้างเป็นกิมมิกและสีสันให้กับแบรนด์ขึ้นมาได้อย่างสนุกด้วย


     ด้วยการนำ “บาร์บีกอน” มาสคอตของร้านมานั่งประทานอาหารเป็นเพื่อน แทนการเขียนป้ายบอกหรือสก็อตเทปแปะเป็นกากบาทเพื่อให้เว้นระยะห่างต่อกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้เข้าใจได้ง่าย และได้ผลดี ความน่ารักของเจ้าบาร์บิกอน หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ก้อน” ยังทำให้ลูกค้าหลงรักและรู้สึกใกล้ชิดแบรนด์ได้มากขึ้น จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการชิงกระแสแบรนด์ให้กลับมาได้อย่างรวดเร็วในขณะที่ทุกคนกำลังเริ่มกลับมาฟื้นตัว กระตุ้นยอดขายได้ดี ขณะเดียวกันก็สร้างแบรนด์ได้ด้วยไปในตัว



 
 
  • ZAAP PARTY : ปาร์ตี้คอนเสิร์ตริมระเบียง ความสนุกที่เกิดขึ้นได้ในยุค New Normal


     อย่างที่รู้กันว่าในช่วงที่มีการระบาดมากขึ้นของไวรัสโควิด-19 นั้น มาตรการแรกๆ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ก็คือ การเว้นระยะห่าง ซึ่งส่งผลไปถึงการงดกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้เกิดการรวมตัวของคนหมู่มาก เช่น การจัดคอนเสิร์ต งานสังสรรค์ต่างๆ แต่ในเมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม แถมความตึงเครียดตลอดระยะ 2 -3 เดือนตั้งแต่ต้นปีที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน ทำงานรูปแบบ Work From Home ทำให้ผู้คนอยากผ่อนคลายบ้าง
               

     ด้วยเหตุนี้ ZAAP PARTY (แซ่บปาร์ตี้) อีเวนต์ ออแกนไนซ์ไอเดียล้ำที่ชอบคิดอะไรออกมาเซอร์ไพรส์อยู่เสมอ จึงได้ร่วมกับพาร์ทเนอร์เกิดไอเดียการจัดรูปแบบคอนเสิร์ตขึ้นมา ภายใต้คอนเซปต์ “New Normal Festival” สร้างปรากฏการณ์คอนเสิร์ตรูปแบบใหม่ครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาในรูปแบบที่เรียกว่า “Hotel Fest” ด้วยการชมคอนเสิร์ตจากระเบียงห้องพัก ที่นอกจากทุกคนจะได้สนุกสุดเหวี่ยงอย่างเต็มรูปแบบ ก็ยังได้เว้นระยะห่างสนุกอยู่ในระเบียงห้องพักของตน ฉีกทุกข้อจำกัดที่คิดว่าไม่น่าจะสามารถเป็นไปได้ออกไป โดยนอกจากจะประสบความสำเร็จของตัวเองแล้ว ยังได้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว และช่วยผู้ประกอบการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าของโรงแรม ศิลปินดารานักร้องให้รอดไปด้วยกันด้วย จึงไม่แปลกที่จะมีแต่คนนึกถึงและเป็นประสบการณ์งานคอนเสิร์ตที่น่าจดจำไปอีกแสนนาน




 
  • Once Again Hostel : เปลี่ยนที่พัก ให้เป็นแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรีของชุมชน


     ด้วยความที่เป็นที่พัก ซึ่งพยายามเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว ทำให้เมื่อตอนเกิดวิกฤติขึ้นมา ไม่มีลูกค้าเข้าพัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ Once Again Hostel โฮสเทลที่ติดอันดับต้นๆ จากยอดการจองโฮสเทลในกรุงเทพฯ ย่านเสาชิงช้า ได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจด้วยการนำจุดเด่นที่มีอยู่ คือ การทำงานร่วมกับชุมชน คิดเป็นรูปแบบแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรีให้กับร้านค้าในชุมชนขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านเก่าแก่ มีเอกลักษณ์รสชาติของตัวเอง ในชื่อที่เรียกว่า “Locall.bkk”


     โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายอาหารของชุมชน และรวบรวมร้านค้ารายย่อยต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งในขณะนั้นต้องปิดตัวลงชั่วคราวตามมาตรการของภาครัฐ โดยหากมีการสั่งอาหารเข้ามา ก็จะทำหน้าที่ประสานไปยังร้านค้าและจัดส่งให้ถึงมือผู้บริโภคด้วยการใช้บริการจากวินมอเตอร์ไซต์ในพื้นที่อีกด้วย ช่วยให้ชุมชนได้กลับมามีชีวิตคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็มีรายได้จากการเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม กินส่วนต่างเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย ได้ช่วยพยุงธุรกิจ และรักษาพนักงานของตนเอาไว้ให้มีงานทำต่อไปด้วย โดยปัจจุบันครอบคลุมร้านอาหารใน 3 ย่าน ได้แก่ เสาชิงช้า ประตี และเยาวราช ในอนาคตก็จะคิดขยายเพิ่มขึ้นไปยังชุมชนอื่นๆ ของกรุงเทพฯ ต่อไป
 



 
  • ATM Tea Bar : ชานมแท็งค์ กักตัวอยู่บ้าน ก็ไม่ขาดความหวาน


     ถ้าพูดถึงโปรดักต์สินค้านวัตกรรมการปรับตัวที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นต้องมีเรื่องของ “ชานมไซส์บิ๊ก” เครื่องดื่มฮอตฮิตแห่งยุครวมอยู่ด้วยแน่นอน ซึ่งต่างก็มีหลายแบรนด์ออกมาที่ใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อเอาตัวรอดในตอนที่เปิดร้านไม่ได้ แต่หนึ่งในแบรนด์ที่สร้างการจดจำและเซอร์ไพรส์ให้กับผู้บริโภคได้ ก็คือ ATM Tea Bar ร้านชานมไข่มุกที่มักนำเสนอประสบการณ์แปลกใหม่ให้ผู้บริโภคเสมอ


     ไม่เพียงแต่การปรับแพ็กเกจจิ้งให้มีไซส์ใหญ่ขึ้นเป็นแท็งค์ชานมขนาด 3 ลิตรเท่านั้น แต่สูตรชานมที่คิดออกมา ยังเป็นสูตรที่สามารถเก็บได้นานขึ้นถึง 3 -5 วัน โดยเกิดขึ้นมาจากการที่ทางร้านได้การศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการใช้ออนไลน์และดิลิเวอรีเพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว ทำให้เมื่อเจอกับมาตรการล็อกดาวน์ ลูกค้าไม่สามารถรับประทานที่ร้านได้ จึงได้นำออกมาใช้พอดี โดยในส่วนของแพ็กเกจจิ้งเอง ก็ให้ความสำคัญกับการคุ้มค่าแก่ผู้บริโภคนอกจากจะเป็นไซส์ใหญ่ สามารถนำไปแบ่งรับประทานได้ 10 -15 แก้ว แท็งค์ดังกล่าวยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ด้วย โดยหากติดใจอยากสั่งซ้ำในรอบหน้า ก็แค่สั่งแบบรีฟิลมาเติมได้โดยไม่ต้องซื้อแท็งค์ใหม่ ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แถมยังลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองจากการสั่งอาหารดิลิเวอร์รี่ด้วย จึงไม่แปลกที่จะเป็นอีกหนึ่งในแบรนด์ที่สร้างการจดจำให้กับผู้บริโภคได้ในปีนี้








 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน