“Smile Lanna” โรงแรมกลางเมืองเชียงใหม่ ใช้วิถีเกษตรยั่งยืนสร้างสุขคืนแผ่นดินไทย

TEXT : กองบรรณาธิการ
PHOTO : Smile Lanna




               
      การพัฒนาที่ดินประมาณ 5 ไร่ กลางเมืองเชียงใหม่ ให้กลายเป็นโรงแรมรีสอร์ตนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่การที่ “ไพศาล สุขเจริญ” เจ้าของโรงแรมสมายล์ล้านนา(Smile Lanna) จ.เชียงใหม่  ตั้งใจนำแนวคิด “โคก-หนอง-นาโมเดล” ซึ่งเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน มาใส่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำโรงแรมนั้น นักลงทุนหลายคนอาจมองว่า...มันจะคุ้มกันจริงหรือกับพื้นที่ที่เสียไป?
               

       แต่เพราะไพศาลและคู่ชีวิตคือ “คุณครูสมศรี ธรรมสารโสภณ” เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ คุณครูสมศรี มีปณิธานในใจว่า ควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นบ้านเกิด ทุกอย่างจึงคุ้มค่ากับความตั้งใจ ได้กำไรตั้งแต่คิดลงมือทำแล้ว หลังจากทั้งคู่ได้รับโอกาสจากสังคมมาโดยตลอด จึงอยากตอบแทนคืนสู่แผ่นดินเท่าที่ต้นทุนและกำลังพอมี  
 


 

จากหนุ่มสู้ชีวิต สู่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม


      ไพศาลเล่าว่า เขาเป็นลูกนายทหารจีนกองพล 93 ที่หนีภัยสงครามเข้ามาปักหลักอยู่ในเขตชายแดนไทย ครั้งหนึ่งในชีวิตประมาณปี 2513 บิดาของไพศาลมีโอกาสได้เข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จไปยังดอยอ่างข่างเพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกพืชเมืองหนาวแทนการปลูกฝิ่น นั่นเองทำให้เขาได้รับโอกาสอันดีที่จะเลือกว่าอยากจะให้ลูกเป็นคนไทย อยู่บนผืนแผ่นดินไทย หรือจะเดินทางกลับไปไต้หวัน โดยมีสิทธิทุนเรียนฟรีสำหรับลูกหลานทหารหาญรออยู่


       “การตัดสินใจของพ่อที่จะอยู่เมืองไทยต่อเป็นสิ่งที่ผมจำฝังใจมาถึงทุกวันนี้ พ่อได้รับโอกาสจากในหลวงให้อยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยให้โอกาสเด็กดอยอย่างผมได้เรียนหนังสือสูงๆ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นญาติหรือเป็นอะไรกันเลย ในเมื่อเราได้รับโอกาสเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยแล้ว เราก็ควรทำในส่วนที่เราสามารถทำได้”



 

นำแนวคิด “โคก-หนอง-นาโมเดล” มาเติมเสน่ห์ให้ธุรกิจโรงแรม


      ด้วยเหตุนี้ เมื่อไพศาลได้มีโอกาสฝึกอบรม โคก-หนอง-นาโมเดล กับ “อาจารย์ยักษ์-นิวัฒน์ ศัลยกำธร” จึงเกิดแรงบันดาลใจอยากจะลงมือทำให้ทุกคนเห็นว่า ศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นทำได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎีลอยๆ ใครสนใจก็เข้ามาเรียนรู้ได้ โรงแรมสมายล์ล้านนาที่ถูกสร้างขึ้นจึงไม่เพียงขายเสน่ห์ความเป็นตัวตนของเมืองวัฒนธรรมเชียงใหม่เท่านั้น แต่ยังมีนาข้าวอินทรีย์ที่ปลูกไว้กินจริงๆ มียุ้งข้าวอยู่กลางโรงแรม มีการขุดหนองน้ำและคลองไส้ไก่ ดินที่ขุดทำหนองก็ไม่ไปไหน นำมาถมเป็นโคกสูงเพื่อเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟ ซึ่งมองเห็นวิวแปลงนาและหนองน้ำได้แบบเต็มตา


     “เราใช้เวลาออกแบบ 1 ปี ก่อสร้างอีก 2 ปีครึ่ง รวมเวลาประมาณ 3 ปีครึ่งถึงได้เปิดให้บริการ ตอนออกแบบก็มีปรึกษาเพื่อนฝูงและคนทำธุรกิจที่เชียงใหม่ ทุกคนต่างบอกว่ามันไม่คุ้ม ลงทุนอย่างนี้ จะคืนทุนได้อย่างไร เสียที่ดินไปเปล่าๆ แต่เรามีปณิธานแน่วแน่ อย่างทำเลคูเมืองเส้นนี้ เมื่อก่อนเป็นที่รกร้างปิดล้อมด้วยสังกะสี มีเด็กมาเขียนรูปเลอะไปหมด กลางคืนก็มีรถมาจอดแว้นกัน แถมยังใกล้โรงพยาบาลสวนปรุง ใครผ่านมาก็กลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย


       พอเราสร้างโรงแรมสมายล์ล้านนาขึ้นมา สภาพแวดล้อมแถวนี้ก็เปลี่ยนไป เดินผ่านแล้วสบายใจ ปลอดภัยขึ้น สวยขึ้น บางคนก็จอดรถแวะถ่ายรูปนาขั้นบันไดกับร้านกาแฟเก๋ๆ มีคนบอกว่าน่าจะเป็นโรงแรมที่ไฮโซเท่านั้นถึงจะเข้าได้ สุดท้ายคนที่เข้ามาก็ต้องประหลาดใจ อาหารของเราจานละไม่เกินร้อยบาท กาแฟแก้วละก็ไม่เกินร้อยบาท เพราะโจทย์ของเราคือ คนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงได้ คนจากต่างถิ่นก็สามารถมากินได้เช่นกัน”



 

โรงแรมเพื่อสังคม ที่กำไรตั้งแต่เริ่มต้นทำแล้ว


      แต่สิ่งทำให้ไพศาลเป็นปลื้ม คือการที่มีผู้สูงวัยเดินเข้ามาถามหาเจ้าของโรงแรม เพื่อขอบคุณที่โรงแรมของเขาทำให้เมืองเชียงใหม่น่าอยู่ขึ้น เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่โยธาจังหวัดผู้ทำหน้าที่ตรวจเข้มโรงแรมทุกแห่งในเชียงใหม่ ก็ขอบคุณเขาที่ไม่ได้คิดมากอบโกย แต่ตั้งใจทำเพื่อชุมชน เพื่อจังหวัดจริงๆ เห็นได้จากการจัดสรรปันส่วนให้พื้นที่สีเขียวโดยไม่เสียดายพื้นที่สำหรับสร้างห้องพัก ถึงขั้นช่วยบอกต่อว่าถ้าใครคิดอยากจะสร้างโรงแรม ให้เข้ามาดูสมายล์ล้านนาเป็นตัวอย่าง สิ่งเหล่านี้เป็นกำไรที่ได้มาตั้งแต่ยังไม่เห็นตัวเงินคืนกลับด้วยซ้ำ
               

     หลังจากโรงแรมเปิดบริการไปเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ก็มีผู้เข้าพักเกือบเต็มทุกวันในช่วงไฮซีซั่น ทุกคนต่างประทับใจในรอยยิ้มและการบริการของพนักงาน ไพศาลที่ดูแลพนักงานที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทั้งคนเมืองและเปิดกว้างสำหรับชาวเขากว่า 9 เผ่า บอกเคล็ดลับว่า


      “เราดูแลพวกเขาเหมือนลูกหลาน เราให้เขาหมดห่วงเรื่องอาหารการกินด้วยข้าว 3 มื้อ ขณะเดียวกันก็สอนให้เขามีความรับผิดชอบในหน้าที่ เรายังอธิบายถึงแรงบันดาลใจในการสร้างโรงแรมว่าทำไปเพื่ออะไร ยิ่งชาวเขาที่อยู่ตามดอย เขาได้ยินผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเล่าถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่เด็ก กลายเป็นว่าพนักงานยิ่งรู้สึกภูมิใจ อยากจะช่วยเล่าคอนเซปต์ของโรงแรมแทนเรา และอยากจะให้บริการลูกค้าจากข้างในใจจริงๆ”


      อีกอย่างชื่อโรงแรมสมายล์ล้านนาก็ไม่ได้ตั้งขึ้นมาให้ไพเราะเฉยๆ โดยเฉพาะคำว่า S-M-I-L-E ที่คุณครูสมศรีใช้ความเชี่ยวชาญทางภาษาอังกฤษ ฝากเป็นความหมายดีๆ ไว้ในแต่ละตัวอักษร กล่าวคือ S = Sincerity (ความจริงใจ) M = Manner of generosity (กิริยาจากใจที่มีความโอบอ้อมอารี) I = Increase of sharing (เพิ่มพูนการแบ่งปัน) L = Long-lasting of altruism (การเห็นแก่ผู้อื่นอย่างยั่งยืน) และ E = Enthusiasm of wholehearted service (ความกระตือรือร้นในการให้บริการอย่างสุดจิตสุดใจ) ซึ่งทั้งหมดก็สะท้อนออกมาเป็นงานบริการคุณภาพที่ผู้มาเยือนสัมผัสได้ และเป็นความยั่งยืนที่หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจเติบโตต่อไปนั่นเอง



 

จิตอาสา วิถียั่งยืน นำพาธุรกิจข้ามพ้นวิกฤต
               

      อย่างไรก็ดี การปรากฏตัวอย่างคาดไม่ถึงของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ก็ทำเอาไพศาลตกใจ ก่อนจะตั้งสติหันมาดูแลและช่วยเหลือพนักงานทั้ง 60 ชีวิต ยามเมื่อโรงแรมต้องปิดลงชั่วคราว ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้ข้าวและผักปลอดสารที่ปลูกจากโคก-หนอง-นาโมเดล มาเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารเลี้ยงปากท้องยามที่รายได้โรงแรมกลายเป็นศูนย์ ขณะเดียวกันทั้งคู่ก็ยังยืนหยัดการให้คืนกลับสู่สังคม คุณครูสมศรียังคงให้โอกาสเด็กๆ ที่ตั้งใจเรียน แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้เรียนภาษาอังกฤษฟรีที่โรงเรียน ส่วนไพศาลก็ให้ทุนการศึกษานักเรียนชาวจีนยูนนานได้เรียนหนังสือมากว่า 20 ปี เมื่อทราบว่าคนทั้งคู่เปิดโรงแรม ลูกศิษย์ลูกหาก็ต่างหาโอกาสมาช่วยสนับสนุนโรงแรมสมายล์ล้านนาแห่งนี้ด้วยใจไม่ขาดสาย
               

      “ทุกวันนี้ความสุขของเราคือการอยู่แบบสมถะ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และไม่สร้างความทุกข์ร้อนให้ใคร สอง เรายังมีกำลังที่สามารถเดินทางหรือทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้บ้าง บางทีก็เหนื่อย แต่เราก็พัก แล้วก็เดินต่อ เพราะคุณครูสมศรียังมีปณิธานอันหนึ่งคือสอนภาษาอังกฤษฟรีตามโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ตามสโลแกน…ครูสมศรีไม่มีค่าตัว แต่จะพยายามทำตัวให้มีค่า ส่วนตัวผมนั้นยึดมั่นความกตัญญู รู้บุญคุณ ตอบแทนผู้ที่ให้โอกาสเรา อย่างบ้านที่เคยดูแลผมตอนเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ผลไม้อะไรที่ปลูกแล้วให้ผลดีที่สุด ผมจะคัดและส่งไปให้ทันทีก่อนที่ตัวเองจะได้กินหรือขาย เรายังแบ่งกำไรจากการทำธุรกิจไปพัฒนาชุมชนรอบตัว ล่าสุดเราปรับปรุงลานออกกำลังกายที่สวนบวกหาดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับโรงแรม พอเราเห็นคนในชุมชนที่มาออกกำลังกายเขายิ้มได้ เขามีสุขภาพดี เห็นแล้วเราก็มีความสุขไปด้วย”  


      โรงแรมสมายล์ล้านนาเพิ่งจะกลับมาเปิดใหม่เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังปิดไปเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ไพศาลฝากกำลังใจถึงผู้ประกอบการ SME ไว้ว่า…


      “สู้ๆ กันใหม่ครับ โควิด-19 ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน จากนี้ไปคงต้องอยู่บนความไม่ประมาท และการออมเป็นสิ่งสำคัญในธุรกิจ ไม่ว่าอย่างไรเราต้องทำตัวให้พร้อม ยิ้มให้ได้ในทุกสถานการณ์ครับ”
 





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง